“จุรินทร์” ตั้งวอร์รูมลุยตลาดส่งออกผลไม้ไปจีน

“จุรินทร์” ตั้งวอร์รูมลุยตลาดส่งออกผลไม้ไปจีน

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวหลังประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการบริหารจัดการผลไม้ และการแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ว่า ได้ปรับแผนเส้นทางขนส่ง โดยทางบกที่ผ่าน 4 ด่านหลัก คือ โม่ฮาน โหย่วอี้กวาน ตงซิง และผิงเสียง แต่ด่านจีนบางครั้งเปิดๆ ปิดๆ ตามสถานการณ์โควิดและนโยบายซีโร่-โควิดของจีน จึงปรับแผนส่งทางเรือมากขึ้น โดยมอบให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทำแผน ซึ่งครบแล้วตามเป้า โดยขนส่งทางเรือ 83% หรือ 3.9 แสนตัน ผ่าน 5 สายเรือ คือ Cosco SITC หยางหมิง Maersk และ Wanhai โดยขึ้นที่ท่าเรือเซอโข่ว 26.5% ท่าเรือหนานซา 20% ฮ่องกง 20% จ้านเจียน 13.5% ซินโจว 13.5 เซี่ยเหมิน 6.5% รวม 3.9 แสนตัน

นายจุรินทร์กล่าวว่า ส่วนทางอากาศ 6.5% หรือ 36,000 ตัน ผ่าน 3 ท่าอากาศยาน คือ กว่างโจว 80% เซินเจิ้น 13% คุนหมิง 7% โดย 4 สายการบิน คือ 1.การบินไทย 2.ไทยไลออนแอร์ 3.แอร์เอเชียเอ็กซ์ 4.ไชน่าเซาเทิร์นแอร์ไลน์ ส่วนที่เหลืออีก 10.5% ผ่านทางบก 4 ด่าน คือ โม่ฮาน โหย่วอี้กวาน ตงซิง และผิงเสียง ถ้าด่านใดมีปัญหาปิดด่าน ทูตพาณิชย์กับทูตเกษตรและกระทรวงการต่างประเทศ จะเร่งรัดเจรจากับจีนให้เปิดด่านเร็วที่สุด

ด้าน นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ผลปาล์มสดปรับเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 11-12 บาท จากเดือนก่อน กก.ละ 9 บาท ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบราคาสูงตาม เมื่อผ่านการกลั่นและสกัดบรรจุขวดเพื่อบริโภค อาจสูงถึงขวด (ลิตร) ละ 65-70 บาท ทั้งนี้ ราคาที่เพิ่มขึ้น คาดเป็นแค่ช่วงสั้นๆ และราคาผลปาล์มไม่น่าจะเกิน กก.ละ 12 บาท แม้ยังอยู่ในสถานการณ์ผันผวนของตลาดโลก สาเหตุจากปัจจัยหลายด้าน อาทิ ภัยแล้งในอินโดนีเซีย ผู้ปลูกและส่งออกรายใหญ่ หยุดส่งออกชั่วคราว ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ยืนยันว่าน้ำมันปาล์มภายในประเทศจะไม่ขาดแคลนและมีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน

นายมนัสกล่าวว่า เตรียมจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ ถึงกระแสข่าวที่จะจำกัดการส่งออกไม่เกิน 60,000 ตัน จากปกติส่งออกประมาณ 1 แสนตัน ขณะนี้สต๊อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเป็น 220,000 ตัน จากเดิม 178,000 ตัน ถ้าจำกัดให้ส่งออกแค่ 60,000 ตัน แล้วมีสต๊อกคงเหลือเยอะ มันเหมาะสมหรือไม่ หากจำกัดส่งออกจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงทำให้เกษตรกรเดือดร้อนแน่นอน เพราะต้นทุนสูง แต่ค้าขายไม่เพิ่มขึ้น

Advertisement

แหล่งข่าวจากร้านค้าปลีกและค้าส่ง ย่านบางบัวทอง เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ ได้รับแจ้งจาก 3 บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืชปาล์มและถั่วเหลือง ขนาด 1 ลิตร ขอขึ้นราคาขายอีกตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และสินค้ามีน้อย โดยน้ำมันปาล์มขวด (ลิตร) ปรับขึ้นอีก 30 บาทต่อลัง (ลังละ 12 ขวด) จากเดิมลังละ 780 บาท เป็น 810 บาท หรือขึ้น 2.50 บาทต่อขวดจาก 65 บาท เป็น 67.50 บาทต่อขวด โดยราคาใหม่นี้เป็นแค่ช่วงวันที่ 4-8 พฤษภาคมเท่านั้น จากนั้นอาจปรับราคาอีกครั้ง ขณะที่น้ำมันถั่วเหลืองปรับขึ้น 10 บาทต่อลัง จาก 732 บาท เป็น 742 บาทต่อลัง หรือขึ้น 3 บาทต่อขวด จากเดิม 62 บาท เป็น 65 บาทต่อขวด และจำกัดโควต้าการซื้อของร้านค้าแต่ละแห่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image