ผู้เขียน | ดร.ณัฐพล รังสิตพล |
---|
New World Order, New Way Out of Wartime
ระเบียบโลกใหม่และวิถีทางรอดในปมสงคราม
สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ในปัจจุบันหลายประเทศได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปี 2565 ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งการสู้รบในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายทางกายภาพและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อไปทั่วโลก จนเกิดเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าครองชีพของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยประเทศไทยต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.73% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี
หากมองให้ลึกลงไป จะพบว่าต้นเหตุของเงินเฟ้อในครั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการสู้รบของรัสเซียและยูเครน ซึ่งต่างก็เป็นผู้ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบตั้งต้นสำคัญรายใหญ่ของโลก เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะและแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะประเทศรัสเซียที่ส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และยังส่งออกก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับ 1 ของโลก ทำให้รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านพลังงานและเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับอีกหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีใครบอกได้ว่าสงครามครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ หรือจะมีเหตุความตึงเครียดครั้งใหม่ปะทุขึ้นอีกที่ใด แต่สิ่งหนึ่งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแร่ธาตุและโลหะต่างๆ จะมีราคาจะพุ่งสูงขึ้น เพราะเป็นทรัพยากรที่ไม่เพียงใช้แล้วหมดไป แต่การผลิตและจำหน่ายยังผูกขาดอยู่กับประเทศยักษ์ใหญ่แค่บางราย ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่งของทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับความไม่แน่นอนในด้านเศรษฐกิจและการเมืองบนเวทีโลก และผ่อนแรงเสียดทานจากคู่ค้าต่างชาติที่มีอำนาจการต่อรองทางการค้าสูง เราจะเห็นความพยายามของหลายประเทศลดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศลง เพราะหลายชาติตระหนักได้ว่ายิ่งแต่เพิ่มการใช้ทรัพยากรในประเทศให้มากขึ้นเพื่อสร้างจุดสมดุลของระบบเศรษฐกิจจากภายใน หรือเรียกได้ว่า เราอาจเห็น New World Order หรือระเบียบปฏิบัติของโลกใบใหม่ ที่ประเทศต่างๆ จะเบนเข็มกลับไปสู่แนวทางการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด
คำว่า New World Order หรือระเบียบปฏิบัติของโลกใบใหม่ ถูกกล่าวขึ้นโดยประธานาธิบดี George H.W. Bush ในปี 2534 เมื่อครั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกหลังสงครามเย็นยุติ แต่ ณ เวลานี้ สถานการณ์สงครามครั้งใหม่ได้เหนี่ยวนำมาสู่ New World Order รูปแบบใหม่ ที่จะไม่ได้มีชาติใดแข่งขันกันยืนหนึ่ง
หากแต่ต้องหาจุดยืนและพึ่งพาตนเองให้อยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และความไม่แน่นอนของกระแสความเป็นไปของโลก
ดังนั้นแล้ว New World Order ของไทยคืออะไร? เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมจากกลไกราคาสินค้าในตลาดโลกที่ผันผวนเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ดังจะเห็นจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ทยอยปรับขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดที่จะสามารถทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ จึงเป็นการพึ่งพาทรัพยากรที่มีภายในประเทศและเลือกใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด ตามแนวนโยบาย BCG Model ของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกอบด้วย
B: Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) แม้ไทยจะเป็นประเทศเกษตรกรรมและเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก แต่เกษตรกรส่วนมากมักเลือกใช้ปุ๋ยเคมีและสารสังเคราะห์ เป็นผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีมากถึงปีละประมาณ 5 ล้านตัน โดยล่าสุด มีรายงานว่าวิกฤตสงครามได้ดันราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกให้สูงขึ้นเกือบ 200%
ทำให้เกษตรกรจำต้องขยับราคาขายให้สูงขึ้น ซึ่งราคานี้อาจต่ำกว่าราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่มากนัก แต่หากพิจารณาถึงประโยชน์และความปลอดภัยในระยะยาวแล้ว จะพบว่าการทำเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดีกว่าของเกษตรกร
เราจึงควรส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมในการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผลผลิตทางการเกษตร
C: Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) ในขณะที่ราคาพลังงานและวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตพุ่งขึ้นแทบจะรายวัน ทั้งจากปัญหาสงครามและปริมาณการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำตอนนี้ คือ การนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ทั้งแบบ Upcycle และ Recycle ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนว่าไม่ใช่ขยะทุกชิ้นต้องลงเอยที่บ่อขยะอย่างเปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น วัสดุพลาสติกที่เราคุ้นเคยกันดี จริงๆ แล้วแทบทุกส่วนสามารถนำกลับมาผ่านกระบวนการเพื่อหลอมเป็นวัตถุดิบใหม่ได้ ทั้งในรูปแบบเม็ดพลาสติกและเส้นใยพลาสติกที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้
G: Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) แม้ไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตพลังงาน แต่เราก็สามารถสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานได้ด้วยการลดการใช้พลังงานและเลือกใช้พลังงานสะอาด เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้งควรกลับมาทวบทวนการส่งเสริมรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นอีกครั้งหลังจากการพัฒนาชะลอตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน เราก็ควรมีแนวทางการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การจัดเส้นทางการขนส่ง การรวมเที่ยวสินค้า หรือแม้กระทั่งการใช้ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Driving) ในอนาคต
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโรคโควิด-19 ได้เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปยังยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และเช่นเดียวกัน แม้ปมความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อสงครามได้เปิดฉากขึ้นแล้ว นี่จึงกลายเป็นตัวเร่งให้ประเทศต่างๆ ต้องหาวิธีลดแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและประชาชนด้วยการหันกลับมาพึ่งตนเอง สำหรับประเทศไทย นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุดที่จะ
เร่งเครื่องและเดินหน้าสู่ BCG Model อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยจากภายในและยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางสถานการณ์และฉากทัศน์ของระเบียบโลกใบใหม่ หรือ New World Order นั่นเองครับ
ดร.ณัฐพล รังสิตพล
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กระทรวงอุตสาหกรรม