มุมมองกูรูรถ อีวีไทยไปต่อ

สกู๊ปหน้า 1 : มุมมองกูรูรถ อีวีไทยไปต่อ

กระแสไม่มีแผ่วสำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ บีอีวี หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแพคเกจอีวี นโยบายเด็ดที่มาพร้อมส่วนลดราคารถยนต์หลักแสนบาทต่อคัน ยังไม่รวมมาตรการลดภาษีทั้งสรรพสามิตและภาษีนำเข้า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ซื้อ

แม้ปัจจุบันจะมีค่ายรถยนต์เข้าร่วมยังไม่มากนัก แต่เชื่อว่าภายในปีนี้จะได้เห็นหลายค่ายต่อคิวร่วมแพคเกจคึกคักแน่ เพราะประชาชนให้ความสนใจ พร้อมควักเงินซื้อจากราคาที่หลายคนเริ่มเอื้อมถึง

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นต่อสถานการณ์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า 100% ว่า แนวโน้มเป็นไปด้วยดี ทั้งปัจจัยจากเทรนด์ของโลกที่มุ่งยานยนต์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมโลก ลดโลกร้อน บวกกับรัฐบาลไทยเพิ่งประกาศมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าปี 2565-69 แบบเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนการใช้ หรือเรียกว่าแพคเกจอีวี

Advertisement

ผ่านแรงจูงใจสำคัญทั้งส่วนลดจากราคารถยนต์ ภาษีสรรพสามิต และภาษีนำเข้ารถยนต์ ทำให้ตัวเลขการจองรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือบีอีวีในงานมอเตอร์โชว์ ยอดจองบีอีวีมากกว่า 3,000 คัน ถือเป็นตัวเลขที่ดีมาก แสดงถึงกระแสของบีอีวีที่คนไทยให้ความสนใจ

พบว่าภายในงานมี 2 ค่ายรถยนต์จากจีนที่ได้รับอานิสงส์อย่างมาก คือ บริษัท เอสเอไอซีมอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์เอ็มจีในประเทศไทย และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจำหน่ายรถแบรนด์ HAVAL และ ORA ซึ่งเวลานั้นได้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิตแล้ว

โดยเฉพาะเอ็มจี ล่าสุดพบว่าสามารถทำยอดจองบีอีวีได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่งานมอเตอร์โชว์จนถึงปัจจุบันถึง 4,000 คันแล้ว ขณะที่เกรท วอลล์ ทำยอดจองได้ดีเช่นกัน แต่เนื่องจากพบอุปสรรคชิ้นส่วนสำคัญ คือ เซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ซึ่งผลิตที่ประเทศจีนไม่เพียงพอ จึงต้องประเทศหยุดรับจองชั่วคราว โดยรวมยอดจองบีอีวีทั้ง 2 ค่ายถึง 5,000 คัน

Advertisement

ภาพรวมตลาดบีอีวีมีความคึกคักและเริ่มเป็นรูปธรรม เริ่มมีการนำเข้าแบตเตอรี่และชิ้นส่วนรวม 9 ชิ้น อัตราภาษี 0% หลังจากนั้นจะเกิดการลงทุนแบตเตอรี่และชิ้นส่วนในไทยมากขึ้น ล่าสุดค่ายรถยนต์รายที่ 3 ซึ่งลงนามกับกรมสรรพสามิตร่วมแพคเกจอีวี คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีแผนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น bZ4X และยังมีอีกหลายแสดงความสนใจ จึงต้องติดตามความชัดเจนอีกครั้ง

ด้านความพร้อมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.มองว่า ขณะนี้ภาพรวมบรรยากาศคึกคักเช่นกัน โดยพบว่าประชาชนที่ใช้บีอีวี ต้องการชาร์จไฟที่บ้านมากถึง 80% และต้องการชาร์จไฟที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า 15%

ส่วนความต้องการชาร์จไฟฉุกเฉินตามบริเวณที่ขับรถผ่านมีเพียง 5% ตัวเลขนี้น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการชาร์จไฟที่บ้านมีสัดส่วนมากที่สุด แต่การเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานติดตั้งสถานีชาร์จตามสถานที่ต่างๆ และการชาร์จฉุกเฉิน รวม 20% ก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้รถ

ดังนั้น ทางกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงประกาศแผนติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่ง ภายในปี 2030 เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในปีนั้นที่ต้องถึง 30% จากกำลังการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,000 แห่ง

สุรพงษ์ยังระบุว่า สำหรับการลงทุนแบตเตอรี่อีวีของไทย ยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก เข้าใจว่ากำลังขับเคลื่อนอยู่ เท่าที่เห็นมีบริษัทไทยคือบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เริ่มผลิตแบตเตอรี่แล้ว

ขณะเดียวกันต้องติดตามการลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และพันธมิตร ทั้งไต้หวันและจีน ก็น่าจะมีการผลิตแบตเตอรี่และรถไฟฟ้า 100% ในเร็วๆ นี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของบีอีวีในไทยเช่นกัน

นอกจากมุมมองต่ออุตสาหกรรมบีอีวีที่รัฐบาลขับเคลื่อนอยู่ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ยังระบุว่า อยากให้ภาครัฐสนับสนุนเทคโนโลยีการดัดแปลงเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่บีอีวีด้วยเช่นกัน เพราะราคาประหยัดและยังสร้างทางเลือกให้กับประชาชนที่มีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในที่อยากใช้ไฟฟ้าช่วยลดมลพิษจากรถยนต์ที่วิ่งอยู่ ขณะเดียวกันจะช่วยผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศด้วย ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าไรนัก

ปัจจุบันทราบว่าการไฟฟ้าของไทย ทั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่างพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในรถยนต์นั่ง ต้นทุนไม่แพงประมาณ 2 แสนบาทต่อคัน

รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็อยู่ระหว่างพัฒนาเช่นกัน ดังนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็วควบคู่กับการสนับสนุนแพคเกจอีวี เบื้องต้นทราบว่ามีความพยายามหารือกับกรมสรรพสามิตในการสนับสนุนเรื่องนี้แล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า

ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยยังกังวล 2 ปัจจัยหลักคือ เงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือน

เริ่มจากเงินเฟ้อ สาเหตุสำคัญมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานโลก แม้มุมหนึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ส่งผลทำให้น้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคาแทบทุกกลุ่ม เกิดเงินเฟ้อระดับสูง ทำให้รายได้ประชนชนลดลง เมื่อรายได้ลดลงก็ไม่มีแรงซื้อสินค้าโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าราคาแพงอย่างรถยนต์

และหากปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงก็จะกระทบทุกอุตสาหกรรม กระทบเศรษฐกิจในภาพรวมแน่นอน ขณะเดียวกันหากสงครามยืดเยื้อก็จะกระทบต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปเมื่อชิปซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ขาดแคลนก็จะทำให้โรงงานไม่สามารถผลิตรถยนต์แม้จะมียอดจองเช่นเดียวกับกรณีของเกรทวอลล์

อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทย ปัจจุบันระดับ 90% แล้วหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้เชื่อว่าอนาคตจะสูงขึ้นการที่ระดับหนี้ของคนไทยสูงความสามารถในการกู้เงินจะน้อยลง ธนาคารจะระมัดระวัง สินเชื่อรถยนต์จะได้รับผลกระทบแน่นอน

จากนี้คงต้องหวังพึ่งรัฐบาลในการเร่งแก้ปัญหา เพื่อให้สอดรับกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลรักษาตำแหน่งฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image