‘เฉลิมชัย’​ ยันฤดูฝนปี’65 มีน้ำเก็บมากกว่าปีก่อน พร้อมวางแผนรับมือพายุ

‘เฉลิมชัย’​ ยันฤดูฝนปี’65 มีน้ำเก็บมากกว่าปีก่อน พร้อมวางแผนรับมือพายุ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2565 ว่าผลสรุปการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งที่สิ้นสุดลงภาพรวมเป็นไปตามเป้าตามที่วางแผนไว้ โดยที่ผ่านมาได้เน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำยามวิกฤตต่างๆ ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยได้เต็มที่ ซึ่งกรมชลประทานสามารถวางแผนได้อย่างดี ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณเครื่องจักรกลมาเสริมจึงสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ฤดูฝนปีนี้ขอให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด เกษตรกรควรเก็บกักน้ำฝนให้ได้มากที่สุด และใช้น้ำทุกหยดให้มีคุณค่า เพราะต้นทุนน้ำมีคุณค่ามากไปถึงอีก 3-5 ปีข้างหน้า เเละเพื่อสำรองได้ในฤดูถัดไป ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ประเมินว่าฝนปีนี้จะมีน้ำกักเก็บในพื้นที่มากกว่าปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำเด็ดขาด

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ส่วนการคาดการณ์ว่าพายุจะเข้าประเทศไทย 2-3 ลูก ในปีนั้น ตอบไม่ได้ว่าพายุเข้ามามากน้อยแค่ไหนแต่ได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมความพร้อม ทั้งบุคลากรและเครื่องมือเครื่องสูบน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมประชาสัมพันธ์ประเมินสภาพอากาศน้ำท่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิดโดยไม่ประมาท

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2565 ดีกว่าปีที่ผ่านมา จากการเก็บกักน้ำบวกกับการบริหารน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมาก่อนจึงไม่มีขาดแคลน และวางเเผนว่าจะปลูกได้จำนวนเท่าไหร่ นอกจากนี้ ปีนี้จะกำหนดแผนเพาะปลูกตามปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งได้ให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำแผนปลูกพืชใช้น้ำน้อยอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 1 ล้านไร่ เป็นต้น คาดว่าสัปดาห์นี้จะทราบแผน อีกทั้งสั่งการกรมการข้าวให้หาพันธุ์ข้าวมีประสิทธิภาพ และประสานกระทรวงพาณิชย์มองหาตลาดใหม่ๆ อาทิ ประเทศตะวันออกกลางต่อไป

“เราตอบไม่ได้ว่าพายุเข้ามาเต็มๆ หรือเข้ามาเฉียดๆ แต่เราต้องพร้อม 100% เราไม่ได้มีเสื้อตัวเดียวแล้วใส่ทุกพื้นที่ แต่เรามีเสื้อให้ใส่แต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละที่มีปัญหาของตัวเอง จะต้องบริหารน้ำอย่างดีที่สุด เป็นหลักประกันให้พี่น้องประชาชนว่าท่านไม่ต้องกังวล เพราะเราบริหารจัดการน้ำโดยยึดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง ส่วนข้อกังวลปัญหาราคาข้าวที่ตกที่อาจกระทบจากปัญหาน้ำ สภาพอากาศในฤดูฝนที่จะถึง เรามีการกำหนดพื้นที่ปลูกอย่างชัดเจน ก็ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้เพาะปลูกตามแผน ซึ่งจะเกิดความเสียหายน้อยที่สุด ไม่มีใครอยากให้ราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำ แต่หลักการตลาดอุปสงค์-อุปทาน เป็นสิ่งที่สอดคล้องกัน ถ้าเราทำงานร่วมกันได้ปัญหาก็จะไม่มี” นายเฉลิมชัยกล่าว

Advertisement

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับการจัดสรรน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่ามีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 22,998 ล้านลูกบาศก์เมตร​ (ลบ.ม.)​ จากแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจัดสรรไว้รวมทุกกิจกรรม 22,280 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินแผนที่ตั้งไว้เล็กน้อย ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศมีการเพาะปลูกรวมกว่า 8.11 ล้านไร่ ซึ่งเกินจากแผนที่ตั้งไว้ 6.41 ล้านไร่

“จะเห็นได้ว่าปี 2565 เราส่งน้ำเกินแผนไปประมาณ 718 ล้าน ลบ.ม. แต่เกษตรกรสามารถทําการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้เพิ่มอีก 1.7 ล้านไร่ ซึ่ง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรให้ชะลอการทํานาปรัง เนื่องจากมีปริมาณน้ํำไม่เพียงพอ แต่ในฤดูแล้งที่ผ่านมากรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างประณีต ทําให้พี่น้องเกษตรกรในเขตชลประทานมีรายได้จากการเพาะปลูกพืช” นายประพิศกล่าว

นายประพิศกล่าวว่า ส่วนน้ำสํารองต้นฤดูฝนที่เราคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องสํารองประมาณ 15,557 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏว่าในวันเริ่มต้นฤดูฝน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม​ 2565 มีน้ำต้นทุนอยู่ 19,950 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4,393 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเป็นกําไร นอกจากนี้ ยังได้ดําเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งที่จนถึงขณะนี้มีการจ้างงานไปแล้วกว่า 74,000 คน

Advertisement

นายประพิศกล่าวอีกว่า ในส่วนของสถานการณ์ฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปี 2565 จะเริ่มประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งใกล้เคียงปกติและจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2565 โดยปริมาณฝนรวมของทั้ง ประเทศในช่วงฤดูฝนตกมากกว่าค่าปกติร้อยละ 3 ซึ่งต่ำกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา ที่มีฝนตกสูงกว่าค่าปกติถึง 8% ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเป็นช่วงที่ฝนจะตกน้อย หลังจากนั้นฝนจะตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ซึ่งทางกรมได้เตรียมแผนและเครื่องจักร เครื่องมือไว้ให้การช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image