เวทีสาธารณะเสียงแตก ควบรวม”ทรู-ดีแทค”

เวทีสาธารณะเสียงแตก ควบรวม”ทรู-ดีแทค”

ควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” เป็นเรื่องที่คนในแวดวงโทรคมนาคมเริ่มพูดถึงตั้งแต่สมัยรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเริ่มหนาหูอีกครั้งช่วงปลายปี 2564

นานวันเข้ายิ่งเห็นสัญญาณชัดว่ารอบนี้ไม่ใช่แค่ลือ ถัดมาไม่นาน เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี บริษัทแม่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ตั้งโต๊ะแถลงข่าวออนไลน์แบบม้วนเดียวจบ

ทั้ง 2 บริษัทยังเน้นย้ำ ขอให้ประวัติศาสตร์จารึกการจรดปากกาครั้งนี้ว่าเป็นความร่วมมืออย่างเท่าเทียม เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ ภายใต้มาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.บริษัทมหาชน) จะทำให้เกิดบริษัทมหาชนจำกัดใหม่
ตั้งชื่อไว้คร่าวๆ คือ บริษัท Newco ที่ได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่รับผิดชอบทั้งหมด

ร้อนถึงหน่วยงานกำกับดูแล อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แม้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะบริษัทแม่ของ “ทรู-ดีแทค” ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่เป็นบริษัทลูกอย่าง บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น)

Advertisement

แต่ทางอ้อม เมื่อบริษัทแม่ควบรวมกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อลูกแน่นอน โดย ทียูซี-ดีทีเอ็น จะยังคงอยู่ และสัดส่วนผลประโยชน์การลงทุนนิติบุคคลอื่นของ “ทรู-ดีแทค” จะยังคงเป็นการลงทุนต่อไปภายใต้ บริษัท Newco ฉะนั้น จะนิ่งดูดายคงไม่ใช่

ทำให้ กสทช.ชุดใหม่แกะกล่อง ต้องบรรจุกรณีควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” ไว้ในโรดแมป ล้มคณะอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการ และจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการ ที่ กสทช.ชุดรักษาการตั้งไว้ และตั้งกรรมการขึ้นมาใหม่ 4 คณะ ได้แก่

1.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย 2.คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง 3.คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และ 4.คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อดูแลเรื่องนี้ อันนำมาสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด กลุ่มแรก ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

Advertisement

การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งแรก บรรยากาศเป็นไปด้วยความเข้มข้น มีภาคธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องร่วมเวที

ทั้งนี้ ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวเปิดหัวเป็นคนแรก ว่า เอไอเอสพร้อมแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ภายใต้กฎหมายและกติกาที่ กสทช.กำหนด แต่การปล่อยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายใหญ่ ในประเทศลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ย่อมลดทางเลือกการใช้บริการ ทั้งด้านโปรโมชั่น ราคา บริการหลังการขาย รวมถึงคุณภาพของสัญญาณ ซึ่งส่วนนี้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ (โอทีที) อาทิ ไลน์ และเฟซบุ๊ก ไม่สามารถทดแทนได้ เพราะโอทีทีจำเป็นต้องพึ่งพาคุณภาพสัญญาณจากโอเปอเรเตอร์เช่นกัน

อีกทั้งการควบรวมกิจการจะทำให้ค่าดัชนี HHI ดีดตัวสูงขึ้น จากเดิมอยู่ระดับอันตรายมาก ซึ่งสิ้นไตรมาสที่ 3/2564 ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนมีค่าดัชนี HHI อยู่ที่ 3,575 จุด เมื่อเทียบกับค่า HHI ที่ กสทช.กำหนดไว้สำหรับการแข่งขันมาตรฐานให้อยู่ที่ 2,500 จุด จึงจัดอยู่ในตลาดที่มีผู้เล่นผูกขาดและกระจุกตัว แสดงให้เห็นว่า แม้ยังไม่มีการควบรวมใดๆ สภาพตลาดในปัจจุบันก็กระจุกตัวสูง ขณะเดียวกัน ประสิทธิภาพในการแข่งขันก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น ค่าดัชนี HHI จะดีดตัวขึ้นสูงถึง 4,706 จุด

อย่างไรก็ตาม เอไอเอสถือว่าเป็นผู้เสียหาย เพราะหลังควบรวมกิจการจะทำให้โอเปอเรเตอร์ถือครองคลื่นความถี่บางย่านเกินกว่าที่ กสทช.อนุญาต หากเรื่องนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียผลประโยชน์ อาจมีการพิจารณาฟ้องร้องศาลปกครองต่อไป

“หาก กสทช.ยินยอมให้ทรูและดีแทคควบรวมกิจการได้ เอไอเอสเห็นว่า กสทช.ควรมีส่วนในการเยียวยาความเสียหายให้กับบริษัทด้วย โดยเอไอเอสยืนยันว่าไม่ได้กังวลการแข่งขัน แต่มีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค อุตสาหกรรม และการถือครองคลื่นความถี่ที่ไม่เป็นธรรม” นายศรัณย์กล่าว

ขณะที่เสียงส่วนใหญ่จากผู้ประกอบการและสมาคมในอุตสาหกรรม ต่างแสดงความเห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค โดยผู้ประกอบการรายย่อย หรือลูกตู้ กล่าวสนับสนุน ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นคนถัดมาว่า การเหลือผู้ประกอบการ 2 ราย ทำให้ไม่ต้องค้างสต๊อกสินค้า ที่สำคัญสัญญาณ 5G ของดีแทคก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมมีความเห็นว่า การควบรวมนั้นจะทำให้มีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและทำให้บริษัทคนไทยแข็งแกร่งขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องราคาค่าบริการไม่น่าเป็นประเด็นเพราะ กสทช.ควบคุมราคาได้ดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การมีเจ้าของเป็นคนไทยข้อมูลของคนไทยจะได้นำมาจัดเก็บในประเทศไทย ไม่ต้องนำออกไปเก็บบนคลาวด์ของต่างชาติ

ขณะที่ ดิษศรัย ปิณฑะดิษ ตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย อภิปรายว่า สิ่งที่กังวลหลังจากควบรวมคือเรื่องคุณภาพ วิเคราะห์แล้วพบว่าที่ผ่านมา ทรู มีบริการออกมาหลากหลาย ทั้งเรื่อง 5G และปัญญาประดิษฐ์ (ไอโอที) ขณะที่ดีแทคเองเริ่มให้บริการไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น การควบรวมกันน่าจะดีกว่า ส่วนเรื่องราคาค่าบริการ ยอมรับว่าทุกวันนี้ค่าบริการไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนแท้จริงอยู่แล้ว แต่เป็นราคาจากการทำโปรโมชั่น ดังนั้น หากควบรวมกันผู้บริโภคน่าจะเห็นโปรโมชั่นที่ดีขึ้น อีกประเด็นคือ เรื่องการส่งเสริมสตาร์ตอัพ พบว่าทรูมีบทบาทและโครงการสนับสนุนสตาร์ตอัพ แต่ดีแทค ช่วงแรกมีโครงการสนับสนุนแต่เมื่อผู้บริหารต่างชาติเข้ามาใหม่ก็ล้มเลิกโครงการไป ดังนั้น การที่คนไทยเป็นผู้บริหารจะเข้าใจคนไทยมากกว่า
เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หน้าที่ของ กสทช.คือการเป็นผู้กำกับด้านเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของประเทศเพิ่มขึ้น เจตจำนงในการกำกับดูแล คือ ให้เกิดการแข่งขันและเป็นธรรม ตีความหมายได้ 2 แบบ คือ การกำกับดูแลด้วยมาตรฐานให้เท่ากัน แต่ไม่อาจเท่าเทียมได้ เพราะรายเล็กจะเข้ามาในตลาดไม่ได้ หรืออีกแบบ คือ การกำกับดูแลด้วยมาตรฐานไม่เท่ากัน เพื่อช่วยให้รายเล็กเข้ามาแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ 5G ยังไม่ถึง 5% ของจำนวนประชากร ไทยควรเร่งการลงทุนเพื่อยกระดับประเทศแบบเกาหลีใต้ได้หรือไม่

วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ตัวแทนสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า สนับสนุนการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ปกติมองว่าโอเปอเรเตอร์มากรายจะมีประโยชน์ แต่ในสายธุรกิจที่ลงทุนสูง หากผู้นำตลาดห่างไปไกล การแข่งขันอาจไม่เกิดขึ้น เบอร์รอง อาจไม่มีกำลังในการลงทุนเพิ่มเติม และหากเบอร์ 2, 3 ลงทุนได้ไม่เต็มที่จะไม่สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดย กสทช.ควรพิจารณาระยะยาว การควบรวมกิจการใหญ่ขนาดนี้ ทั้งสองฝ่ายคิดมาเป็นอย่างดี เรื่องประโยชน์ต่อผู้บริโภค อยากฝากว่า หลังการควบรวม จะมีการทำประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไร แบบนี้ยอมรับการควบรวมกิจการได้

“ภาคเอกชนไทย อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ต้องมองประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่ง กสทช.มีอำนาจควบคุมด้านราคาอยู่แล้ว ดังนั้น ความกังวลว่าราคาจะสูงขึ้นนั้นไม่ต้องกังวล เพราะ กสทช.กำกับได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะควบรวมหรือไม่ ดูได้จากราคาค่าโทรและค่าอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในระดับที่แทบจะต่ำที่สุดในโลกอยู่แล้ว ดังนั้น การแข่งขันของผู้ประกอบการหลังการควบรวม ที่มีความใกล้เคียงในการแข่งขันมากขึ้น จะทำให้เกิดความสูสีและเร่งการลงทุนให้เร็วขึ้น พัฒนาคุณภาพบริการมากขึ้น และสุดท้ายลูกค้าได้ประโยชน์” ตัวแทนสภาหอการค้าไทยทิ้งท้าย

ปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งแรก

ขณะที่ยังเหลือการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีก 2 ครั้ง จากด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้บริโภค โดย กสทช.ควรมีอำนาจในการกำกับดูแล และต้องมองการบริการให้ครบทั้ง ธุรกิจต้นน้ำ ปลายน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย จะมองเพียงแค่บางบริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมคงไม่ได้

จากนั้น กสทช.จะสรุปความคิดเห็นที่ได้จากทั้ง 3 เวที เข้าสู่ที่ประชุมคณอนุกรรมการต่อไป เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจสรุปเนื้อหา เสนอเรื่องต่อบอร์ดใหญ่ ให้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย และส่งต่อความเห็นต่อคณะกรรมการของกระทรวงพาณิชย์ในลำดับถัดไป เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาว่า การควบรวมกิจการขัดต่อกฎหมายหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image