‘ฐากร’ อดีตเลขากสทช. ชู 5 แนวทาง นำสายสื่อสารลงดินได้จริง ไม่ผลักภาระ-รีดค่าบริการเพิ่ม

‘ฐากร’ อดีตเลขา กสทช. ชู 5 แนวทาง นำสายสื่อสารลงดินได้จริง ไม่ผลักภาระ-รีดค่าบริการเพิ่ม

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Takorn Tantasith ระบุว่า

ชวนคิดนโยบายสายสื่อสารลงดินให้เกิดได้จริง ในช่วงเวลานี้มีคนพูดถึงสายลงดินกันมาก ผมก็อยากให้ฝันเป็นจริงและอยากมาชวนคิดว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จ

สายดำๆ ที่พาดระโยงระยางบนเสาไฟฟ้าทุกวันนี้ แบ่งออกเป็นสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร (โทรคมนาคม+เคเบิลทีวี) สายไฟฟ้าพาดอยู่บนเสาไฟชั้นบนสุด ถัดลงมาเป็นสายสื่อสาร ถ้าจะนำสายไฟฟ้าลงดิน เป็นหน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวง หากในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

การนำสายไฟฟ้าลงดินต้องใช้กรรมวิธียุ่งยาก เพราะต้องลงในระดับความลึกไม่ต่ำกว่า 5-6 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสไฟรั่วชอร์ตเป็นอันตรายต่อประชาชน อีกทั้งยังต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงในการป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึมลงไปในท่อเก็บสาย ส่วนสายสื่อสาร มีกรรมวิธีไม่ยุ่งยาก เหมือนสายไฟฟ้า แค่ขุดเจาะในชั้นดินความลึกไม่เกิน 60-90 เซนติเมตร และเจาะหัว เจาะท้าย ก็ดันสายลงท่อได้เลย แต่การนำสายลงดินทั้งสายไฟ สายสื่อสารจะมีค่าใช้จ่ายสูงต่างกับการเอาไปพาดบนเสาไฟฟ้า

Advertisement

ผมเห็นว่า หากจะนำสายสื่อสารลงดินนั้น เบื้องต้นจะต้องไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกิดขึ้นให้กับประชาชน ในทางตรงกันข้าม นอกจากจะสร้างประสิทธิภาพของการใช้งานให้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว จะต้องคิดอัตราค่าบริการที่ถูกลงกว่าเดิมด้วย โดยมีแนวทางที่เสนอแนะดังนี้

  1. ต้นทุนผู้ประกอบการต้องไม่เพิ่มขึ้นมาก การพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าแบบปัจจุบันมีต้นทุนค่าเช่าพาดสายที่กิโลเมตรกว่า 1,000 บาท ขณะที่การนำสายลงดินจะมีต้นทุนค่าเช่าที่กิโลเมตรละ 8,000-9,000 บาท
  2. ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาค่าบริการเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
  3. การนำสายลงดินต้องไม่เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน หน่วยงาน กทม.ต้องเป็นผู้ลงทุนสร้างท่อร้อยสายโดยใช้เงินงบประมาณของแผ่นดินหรือของ กทม.แล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดให้กับประชาชน โดยคิดอัตราค่าเช่าท่อร้อยสายใกล้เคียงกับที่เคยพาดบนเสาไฟฟ้า
  4. การนำระบบสายสื่อสารลงดิน สายที่แขวนอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 50% เป็นสายตายที่ใช้งานไม่ได้ ต้องแยกออกก่อนจะเหลือสายที่ต้องนำลงดินไม่มากนัก
  5. ถนนหนทางที่จะสร้างขึ้นใหม่ในอนาคต ต้องมีการก่อสร้างระบบท่อร้อยสายใต้ดินไว้รองรับระบบสาธารณูปโภคทั้งสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image