ลุ้น 17 พ.ค. ‘กบน.’ ขึ้นดีเซล 1 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันฯจุกจ่อลบทะลุ 7 หมื่นล.

ลุ้น 17 พ.ค. ‘กบน.’ ขึ้นดีเซล 1 บาท/ลิตร กองทุนน้ำมันฯจุกจ่อลบทะลุ 7 หมื่นล.

รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แจ้งว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะน้ำมันดิบตลาดเบรนท์ และเวสต์เท็กซัส ที่ยืนเหนือระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) วันที่ 17 พฤษภาคม จะพิจารณาราคาดีเซลประจำสัปดาห์ โดย กบน.จะติดตามราคาเฉลี่ยดีเซลตลอดสัปดาห์ และนโยบายรัฐบาลอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กบน.จะปรับเพิ่มราคาดีเซลขึ้นอีก 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร รวมเป็นไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากต้นทุนตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการปรับราคาเป็นแนวทางการขึ้นตามขั้นบันได อยู่ภายใต้ราคาเพดานไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร จากก่อนหน้านั้นตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยที่ปรับเกิน 30 บาท รัฐจะอุดหนุนครึ่งหนึ่งและประชาชนรับครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ หากปรับราคาดีเซลเป็น 33 บาทต่อลิตร จะเป็นการปรับราคาครั้งที่ 2 หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุม กบน.เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ตัดสินใจตรึงราคาจำหน่ายไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรต่อเนื่อง หลังจากเริ่มปรับราคาครั้งที่ 1 เป็นไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะนี้ยังต้องรับภาระอย่างหนักในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล และก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ล่าสุด คาดการณ์ว่าสถานการณ์ของกองทุนน้ำมันฯอัพเดตวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 จะติดลบทะลุ 7 หมื่นล้านบาท แน่นอน จากข้อมูลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม กองทุนน้ำมันฯมีฐานะติดลบ 66,681 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 33,258 ล้านบาท และบัญชีก๊าซแอลพีจี ติดลบ 33,423 ล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ อยู่ที่ประมาณ 12,932 ล้านบาท

Advertisement

โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ ยังมั่นใจว่าเพียงพอต่อการสนับสนุนภายใต้นโยบายให้ปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นแบบมีการอุดหนุนครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น รวมถึงขณะนี้สภาพอากาศในยุโรปผ่านพ้นฤดูหนาวแล้ว คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่จะมีผลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดด้วย

ด้านความคืบหน้าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้อุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศนั้น ขณะนี้มี 2 ธนาคาร ธนาคารมีความสนใจและยื่นข้อเสนอการปล่อยกู้มายังกองทุนน้ำมันฯแล้ว คือ ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย ขณะนี้ทั้ง 2 ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลกองทุนน้ำมันฯ ทั้งสถานะทางการเงิน สภาพคล่องของเงินเข้าและออก และพิจารณาแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกประกอบการตัดสินใจ เชื่อว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ และมีเงินเข้ามายังกองทุนเดือนมิถุนายนได้ตามที่กำหนดไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image