เปิด กม.ขวางดีลแสนล้าน ทรู-ดีแทค ชี้ชะตาควบรวมไปต่อหรือพอแค่นี้!!

เปิด กม.ขวางดีลแสนล้าน ทรู-ดีแทค ชี้ชะตาควบรวมไปต่อหรือพอแค่นี้!!

การที่ประเทศไทยไร้ “กสทช.” หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตัวจริงนาน 2 ปี ทำให้มีหลายเรื่องค้างเติ่งแบบไม่รู้อนาคต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เพราะหาก กสทช.ชุดรักษาการตัดสินใจเองฉับๆ วันดีคืนดีเกิดอะไรขึ้น ผลกระทบที่ตามมาอาจได้ไม่คุ้มเสีย

ทำให้ทันทีที่ “กสทช.” ตัวจริงเข้ารับตำแหน่ง ต้องวิ่งรับไม้ผลัดแบบสี่คูณร้อย โยนดีลมูลค่าแสนล้านบาทนี้ลงโรดแมป เป็นที่มาของการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป) กลุ่มแรก ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา

⦁‘เอไอเอส’ยกข้อมูลสู้
ซึ่งเมื่อโฟกัสกรุ๊ปเริ่มขึ้น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดย นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ ได้ชี้แจงถึงผลกระทบและผลเสียที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ ซึ่งมีข้อกังวลหนึ่งเพิ่มเติมจากหนังสือที่เสนอต่อ กสทช. ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อควบรวมกิจการ ผู้ให้บริการจะถือครองคลื่นความถี่บางย่านเกินกว่าที่ กสทช.อนุญาต จากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ผ่านมา ซึ่งมีการกำหนดปริมาณการถือครองคลื่นความถี่ โดยให้ผู้เล่นแต่ละราย ถือครองได้ไม่เกินจำนวนชุดที่กำหนดไว้ และผู้ประมูลต้องไม่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เช่น เป็นบริษัทแม่-ลูก หรืออยู่ในเครือเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งหากเรื่องนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียผลประโยชน์ อาจมีการพิจารณาเพื่อฟ้องร้องศาลปกครอง

“หาก กสทช.ยินยอมให้ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการได้ กสทช.ก็ควรมีส่วนในการเยียวยาความเสียหายให้กับบริษัทด้วย ขอยืนยันว่าเอไอเอสไม่ได้กังวลในการแข่งขัน แต่มีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค อุตสาหกรรม และการถือครองคลื่นความถี่ที่ไม่เป็นธรรม” นายศรัณย์กล่าว

Advertisement

ขณะที่เสียงจากผู้ประกอบการและสมาคมในอุตสาหกรรม เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ โดยผู้ประกอบการรายย่อย หรือลูกตู้ กล่าวว่า การเหลือผู้ประกอบการ 2 ราย ทำให้ไม่ต้องค้างสต๊อกสินค้า ที่สำคัญสัญญาณ 5G ของดีแทคก็ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้านตัวแทนจากสมาคมมีความเห็นว่า การควบรวมนั้นจะทำให้มีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยและทำให้บริษัทคนไทยแข็งแกร่งขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องราคาค่าบริการไม่น่าเป็นประเด็น เพราะ กสทช.ควบคุมราคาได้ดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ การมีเจ้าของเป็นคนไทย ข้อมูลของคนไทยจะได้นำมาจัดเก็บในประเทศไทย ไม่ต้องนำออกไปเก็บบนคลาวด์ของต่างชาติ

⦁เปิดปมกฎหมายขวางดีล
แม้ที่ผ่านมา กสทช.ชุดรักษาการจะออกตัวว่า ดีลควบรวมกิจการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของ กสทช. เพราะเป็นการควบรวมของบริษัทแม่ไม่ใช่บริษัทลูกที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.โดยตรง ซึ่งการแสดงท่าทีแบบนั้นเรียกทัวร์ลงไม่น้อย เพราะการกำกับดูแล กสทช.ไม่อาจเลี่ยงได้เลย

แหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดข้อกฎหมายที่มีส่วนสำคัญในการพิจารณาดีลการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค โดย กสทช.มีอำนาจเต็มในการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กสทช. และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม

Advertisement

ซึ่งตามหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าด้วย “แนวนโยบายแห่งรัฐ” มาตรา 75 วรรคแรก บัญญัติว่า รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน

กสทช.ในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแล “คลื่นความถี่” รวมถึงการให้บริการโทรคมนาคม จึงมี “หน้าที่” ตามมาตรา 27 (11) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่) ในการกำหนดมาตรการ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดอีกด้วย

นอกจากนี้ กสทช.ยังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การกิจการโทรคมนาคม บัญญัติไว้อีกว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องต่อไปนี้ 1.การอุดหนุนการบริการ 2.การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน 3.การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม 4.พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน 5.การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติกฎหมายทั้ง 2 มาตรา ประกอบกัน กสทช.จึงมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการ เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน มิให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย

⦁ย้อนไทม์ไลน์ควบกิจการ
เดือนพฤศจิกายนปีก่อน บริษัทแม่ของทรู-ดีแทค โดยตั้งโต๊ะแถลงออนไลน์ เล่าถึงที่มาที่ไปของการควบรวมกิจการ แบบไม่เปิดช่องให้สื่อมวลชนได้จ่อไมค์ถามไถ่ใดๆ เนื้อหาระบุว่า เป็นความร่วมมืออย่างเท่าเทียม เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ โดยทรู-ดีแทค จะส่งหนังสือแจ้งเจ้าหนี้เกี่ยวกับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งอนุมัติการควบรวมกิจการ กำหนดให้ส่งคำคัดค้านภายใน 2 เดือน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2565

เมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนการทำคำเสนอซื้อสำเร็จครบถ้วน (หรือได้รับการผ่อนผันโดยผู้ทำคำเสนอซื้อ) ผู้ทำคำเสนอซื้อจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจ โดยทรูราคาเสนอซื้อหุ้นละ 5.09 บาท และดีแทคราคาเสนอซื้อหุ้นละ 47.76 บาท ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2565 และผู้รับซื้อหุ้น ได้แก่ บริษัท ซิทริน เวนเจอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และ Citrine Investment SG Pte Ltd ร่วมกันรับซื้อหุ้นของดีแทคและทรูจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้าน ช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2565

จากนั้นจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของทรู-ดีแทค ช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ อันจำเป็นในการควบกิจการ เช่น ชื่อของบริษัทใหม่ ทุนของบริษัทใหม่ การจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ วัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับ กรรมการและผู้สอบบัญชีของบริษัทใหม่ เป็นต้น และดำเนินการจดทะเบียนควบรวมกิจการกับกระทรวงพาณิชย์ จึงเป็นอันสิ้นสุดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล โดยบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมจะได้ไปทั้งสินทรัพย์ หนี้สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัททั้งสองโดยผลของกฎหมาย

และหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่แล้ว บริษัทใหม่จะยื่นคำขอให้รับหุ้นของบริษัทใหม่ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเอกสารอื่นที่จำเป็นต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯอนุมัติคำขอหุ้นของบริษัทใหม่จะเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หุ้นของทรู-ดีแทค จะถูกเพิกถอนและสิ้นสภาพจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในวันเดียวกัน!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image