นักกฎหมาย อัดรบ.ทำลายหลักประกันความมั่นคงผู้สูงอายุ หลังไฟเขียวกม.นำเงินชราภาพใช้ก่อนเกษียณ

ดร.พีรภัทร นักกฎหมายการเงิน อัดรบ.ทำลายหลักประกันความมั่นคงผู้สูงอายุ หลังครม.ไฟเขียวกม.ให้นำเงินชราภาพใช้ก่อนเกษียณ ชี้การแก้เกณฑ์แบบนี้ ไม่ช่วยประชาชน แต่หลอกให้เข้าใจผิด

 

กรณี ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ปรับสิทธิประโยชน์กองทุนฯ นำเงินชราภาพใช้ก่อนเกษียณ-ค้ำประกันการกู้เงินธนาคาร ล่าสุด ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงินชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Dr. Pete Peerapat แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยระบุว่า

ข่าวเกี่ยวข้อง ครม.เคาะ ปรับสิทธิประกันสังคม นำเงินชราภาพใช้ก่อนเกษียณ-เพิ่มระยะจ่ายเงินคลอดบุตร

“ปัญหาหนึ่งของสังคมผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงวัยมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ แต่ ครม กลับอนุมัติหลักการให้ผู้ประกันตนสามารถขอคืน/กู้เงินบำนาญชราภาพออกมาใช้ก่อนได้ แล้วผู้สูงวัยจะมีหลักประกันอะไรในอนาคต?

Advertisement

หลายคนอาจยังมองภาพไม่ออกว่าทำไม การที่รัฐเอาเงิน #กองทุนชราภาพ มาให้ใช้ก่อนถึงจะเกิดปัญหา
มาลองดูตัวอย่างจากคณิตศาสตร์อย่างง่าย ๆ กันนะครับ
สมมุติว่าเราเริ่มต้นทำงานอายุ 25 แล้วเกษียณอายุ 60 ปี จ่ายประกันสังคมเดือนละ 750 บาท
รวมเราจ่ายเงินไป 750 x 35 ปี x 12 เดือน = 315,000 บาท
หลังเกษียณตั้งอายุ 61 สมมุติว่าเรามีอายุจนถึง 80 ปี เราจะได้เงินบำนาญจากประกันสังคมเดือนละ 7,500 บาท
รวมเราจะได้เงินทั้งหมด 7,500 x 20 ปี x 12 เดือน = 1,800,000 บาท
แปลว่าเราได้เงินมากกว่าเราออม 1.5 ล้าน ซึ่งส่วนหนึ่งคือนายจ้างของเราสมทบให้เท่ากับที่เราจ่าย และอีกส่วนก็มาจากการสมทบของรัฐบาล แต่ก็ยังน้อยกว่าที่เราจะได้เป็นล้านบาทครับ
และความจริง 750 บาทที่เราจ่ายนั้น มันแบ่งเป็น ประกันสุขภาพ ประกันการว่างงานด้วย ที่เหลือไปสะสมใน กองทุนชราภาพ จริง ๆ แค่ 450 บาทเองครับ
แปลว่า เราจะได้มากกว่าสิ่งที่จ่ายไปมาก
แต่การที่กองทุนประกันสังคมจะหาเงินมาจ่ายให้เราได้นั้น มันไม่ได้เกิดจากการขอเงินรัฐบาลมาจ่ายนะครับ เพราะรัฐบาลไม่ให้อยู่แล้ว
แต่กองทุนประกันสังคม จะต้องเอาเงินของเราไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนงอกเงย
เช่นลงทุนให้ได้ปีละ 5-6% เป็นระยะเวลา 30-40 ปี ซึ่งผลตอบแทนมันจะทบต้นทบดอกมาก ทำให้กองทุนมีเงินจ่ายบำนาญให้กับผู้ที่เกษียณไงครับ

พอรัฐบาลมาแก้กฎหมายให้มาขอคืน หรือ ขอกู้เงินจากกองทุนออกไปได้
แปลว่าเงินต้นก็จะได้น้อยลง ต่อให้ได้ผลตอบแทนเท่าเดิม แต่ดอกผลที่จะทบต้นทบดอกมันก็น้อยลงไปด้วย
เช่น ฝาก 1,000 ได้ดอก 5% ก็ได้ 50 บาท แต่ถ้าต้นเหลือ 100 บาท เราก็จะเหลือดอกเพียงปีละ 5 บาท
แล้วแบบนี้ กองทุนจะมีเงินจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้ประกันตนได้เพียงพอหรือครับ ?
ดังนั้น การที่รัฐบาลแก้เกณฑ์แบบนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนหรอกครับ
แต่หลอกให้ประชาชนเข้าใจว่าเขาได้เงิน แต่จริง ๆ เงินนั้นก็คือเงินของเราเองที่ออมไว้ใช้ตอนเกษียณ
และไม่ได้บอกความจริงว่า ถ้าเอาเงินนี้ออกมาแล้ว เงินบำนาญที่จะต้องได้หลังเกษียณ อาจจะมีไม่เพียงพอ ถึงวันนั้นแทนที่จะได้เดือนละ 7,500 บาท แต่เราต้องไปรับเบี้ยยังชีพชราภาพเดือนละ 6-700 บาทแทน

เข้าใจว่าตอนนี้หลายคนมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่มันก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ปัญหานี้ครับ
ไม่ว่าจะหาเงินจากไหนมาแจกจ่าย หรือทำยังไงที่จะอุดหนุนเพื่อลดค่าครองชีพ เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ฯลฯ
จะทำวิธีไหนก็ได้ แต่ไม่ใช่เอาเงินออมของเราออกมา
เพราะมันเป็นการทำลายหลักประกันความมั่นคงของผู้สูงอายุในอนาคตครับ
และประชาชนอย่างเรา ก็อย่าไปหลงดีใจกับที่รัฐบาลเอาเงินของเราเองในอนาคตนั่นแหละมาให้เราใช้ตอนนี้”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image