‘รองพงษ์’ เผยก่อน รบ.บิ๊กตู่ ไทยไร้การลงทุนใหม่ กดดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง15% ต่อปี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue) ในช่วงการสัมมนาหัวข้อ “มองเศรษฐกิจโลกสะท้อนเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งว่า 10 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 2553-62 ช่วง 5 ปีแรก การลงทุนของมีอัตราเติบโตไม่มาก และ 5 ปีถัดมารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สะสมลงทุนตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ระหว่างที่การลงทุนไม่มีโครงการใหม่ๆ การสร้างรายได้ของไทยจึงมาจากของเก่า ไม่มีเรื่องใหม่ นั่นคือการอาศัยการท่องเที่ยว และเน้นในการอุปโภคบริโภคในประเทศเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้หนี้ครัวเรือนช่วงปี 2552-57 จึงเติบโตมาก 15% ต่อปี ขณะนี้รัฐบาลจึงพยายามประคองไม่ให้สูงเกินไปในช่วงโควิด มีการพัฒนา การเตรียมการของอนาคตสร้างรายได้รองรับการลงทุนต่างๆ

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดโควิด-19 เหตุการณ์วิกฤตที่สุด ไม่เคยมีมาก่อน เป็นมหาวิกฤตนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีทางแก้ไข เวลานั้นไทยมีอาวุธ 2 อย่างคือ หน้ากากอนามัย กับการเว้นระยะห่าง เวลานั้นคนไทยช่วยกัน บุคลากรการแพทย์ทำงานอย่างหนัก มีอาสาสมัครไทยทำได้ดีติดอันดับโลกการควบคุมโควิดในปี 2563 กระทั่ง 19 ธันวาคม 2563 มีจุดเปลี่ยนคือ มีสายพันธุ์เดลต้า และระบาดในปี 2564 ถ้ายังจำได้ไทยแย่งวัคซีนกัน รอวัคซีน ต่อมาพยายามเปิดประเทศวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ด้วยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และผ่านมาได้ในเดือนกันยายน-สิงหาคม 2564 จากนั้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ได้เดินหน้าเปิดประเทศ ถึงตอนนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 1.2 ล้านคน ไทยพยายามรักษาฐานสำคัญด้านการท่องเที่ยวและบริการของเศรษฐกิจที่มีสัดส่วน 10% ไต่ขึ้นเรื่อยๆ

กระทั่งต้นปี 2565 ได้เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน และสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดซึ่งเป็นสินค้าต้นทุนการผลิตต่างๆ ปรับราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นความท้าทายหนึ่งของโลกซึ่งไทยต้องผ่านไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image