วิสัยทัศน์รัฐบาล‘ประยุทธ์’ ส่องทิศทางอนาคตไทย

วิสัยทัศน์รัฐบาล‘ประยุทธ์’ ส่องทิศทางอนาคตไทย

วิสัยทัศน์รัฐบาล‘ประยุทธ์’
ส่องทิศทางอนาคตไทย

หมายเหตุ – เป็นส่วนหนึ่งในการปาฐกถาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการบรรยายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในงานเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลนี้ได้สานต่อนโยบายการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ รวมทั้งการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก โดยการต่อยอดยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีศักยภาพและมีความได้เปรียบ โดยนำมาประยุกต์ ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม (First S-curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร และการต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) ที่เป็นแนวโน้มของโลกในอนาคต

Advertisement

การเกิดวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกรวมถึงประเทศไทย เราถูกประเมินว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ขณะนี้มีการเปิดประเทศแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องระมัดระวัง ต้อง
เตรียมความพร้อม ทั้งวัคซีนและยารักษาไว้อย่างเพียงพอ เพราะการแพร่ระบาดยังไม่จบสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่บวกแล้ว แม้โควิดจะเป็นวิกฤตโลก แต่ก็เป็นโอกาสของไทยในหลายด้าน เช่น ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพระบบสาธารณสุขไทย การยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพ รวมถึงขีดความสามารถในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนโควิด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงได้เองหลายชนิด ไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งจะเปิดทำการในเดือนสิงหาคมนี้ ยิ่งกว่านั้นยังส่งเสริมโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างเต็มที่หลังวิกฤตโควิดอีกด้วย

ทุกคนทราบดีทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้รับผล
กระทบความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นการเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤตจากโควิด-19 มีผลให้ราคาสินค้า ราคาพลังงาน และค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแลประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เป็นต้น

เรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ การประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ ได้ปลดล็อกเงื่อนไขหลายประการ รวมถึงแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. โดยจะช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของนักเรียนได้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและข้าราชการ หนี้ผู้ประกอบการ และสิ่งที่รัฐบาลกำลังเริ่มทำอยู่ในตอนนี้ คือการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือการตัดเสื้อให้พอดีตัว ซึ่งจะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยงเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อช่วยหาทางแก้ไขให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ ทุกอย่างก็จะทยอยดีขึ้น ไม่ใช่ว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ หรือในทันทีได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือด้วยกัน

รัฐบาลยังคงเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ต้องมีการลงทุนและเตรียมความพร้อมด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ได้แก่ 1.เทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคให้แก่บริษัทดิจิทัลต่างๆ ได้มีการหารือกับนักลงทุนระดับโลกอย่างต่อเนื่อง 2.อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน ที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน ได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 เป้าหมายดังกล่าวจะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ที่มีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงทางการค้า (FTA) ในอนาคต

3.นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ที่มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ไทยมีอยู่มา
สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเชื่อมโยงกับการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด

4.รัฐบาลได้กำหนดมาตรการเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้มาเป็นผู้พำนักระยะยาวในประเทศไทย เพื่อให้มาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศไทย และส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการลงทุน การท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการในประเทศ

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนเกิดโควิด-19 ระหว่างปี 2553-2562 ช่วง 5 ปีแรกการลงทุนมีอัตราเติบโตไม่มาก และ 5 ปีถัดมารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สะสมลงทุนตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ระหว่างที่การลงทุนไม่มีโครงการใหม่ๆ การสร้างรายได้ของไทยจึงมาจากของเก่า คืออาศัยการท่องเที่ยว และเน้นการอุปโภคบริโภคในประเทศเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้หนี้ครัวเรือนช่วงปี 2552-2557 จึงเติบโตมากถึง 15% ต่อปี

เมื่อเกิดโควิด-19 เหตุการณ์วิกฤตที่สุด เวลานั้นไทยมีอาวุธ 2 อย่างคือ หน้ากากอนามัยกับการเว้นระยะห่าง เวลานั้นคนไทยช่วยกัน บุคลากรการแพทย์ทำงานอย่างหนัก ไทยทำได้ดีติดอันดับโลกการควบคุมการแพร่ระบาดในปี 2563 ต่อมาพยายามเปิดประเทศวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ด้วยภูเก็ตแซนด์
บ็อกซ์ จากนั้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ได้เดินหน้าเปิดประเทศ ถึงตอนนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 1.2 ล้านคน

กระทั่งต้นปี 2565 ได้เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปรับราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นความท้าทายหนึ่งของโลก

หลายประเทศรวมถึงไทยประสบภาวะวิกฤตนี้

เชื่อว่าวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และทุกคนบอกเศรษฐกิจเติบโต แต่ก็บอกว่าของแพง ทำเศรษฐกิจสะดุด แต่รัฐบาลก็ทำเต็มที่ ออก 10 มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ภาคเอกชนปรับตัวลดค่าใช้จ่ายลดต้นทุนไม่จำเป็น ไม่พยายามส่งต้นทุนทั้งหมดแก่ภาคผู้บริโภค พยายามพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น

วันนี้ไทยผ่านวิกฤตมา 2 ปีแต่ยังมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง วิธีวัดที่ดีที่สุดคืออันดับความน่าเชื่อถือของไทยไม่ลดต่ำลง แต่ยังใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด

ยืนยันว่ารัฐบาลทำงานเต็มที่ เชื่อว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเป้าหมาย 7-8 ล้านคน เข้ามาแล้ว 1.2 ล้านคนในเดือนพฤศจิกายน 2564 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น เป้าหมายนักท่องเที่ยวมีความเป็นไปได้ อีกสิ่งที่สำคัญคนต้องร่วมมือกันผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ ต้องทำให้คนรุ่นหลังดีขึ้น รักษาความเข้มแข็งทางการเงิน อนาคตจะเกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก ต้องทำ Carbon Neutrality ในปี 2050 จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ เกิดยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ดิจิทัล เทคโนโลยีต่างๆ จะตามคู่กันมา

หากไทยจะกลับมาแข็งอีกครั้ง อยากให้มองว่า 4 ปีที่ผ่านมาไทยกลับมาได้ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ส่งออกเติบโต เชื่อเศรษฐกิจจะเติบโต แต่ต้องเผชิญเงินเฟ้อที่สูง แต่สิ่งที่เชื่ออย่างหนึ่งคือคนไทยจะช่วยกันผ่านไปได้ ขณะนี้ไทยมีระบบนิเวศรองรับ มีจุดแข็ง สามารถทำให้คนไทยแข็งแกร่งเติบโตไปได้

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจในระบบเปิด อยู่ในเศรษฐกิจของโลก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาเศรษฐกิจประเทศอื่นมีปัญหาจะไม่กระทบไทย ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศอยู่ 2-3 เรื่อง คือ เรื่องการค้าที่ไทยต้องนำเข้าสินค้าสำเร็จรูป เรื่องการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งในช่วงปี 2530 ไทยมีวิกฤตพลังงานจึงเป็นที่มาของการใช้พลังงานทดแทนในประเทศ ส่งผลให้ไทยลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศได้ในระดับหนึ่ง และเรื่องการพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนอุปกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องอุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) ที่ผู้ผลิตสินค้าโดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ มีการกระจายแหล่งผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้ได้ราคาต้นทุนที่ถูกที่สุด เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนที่ไทยยังพึ่งพิงต่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีการเชื่อมโยงต่างประเทศในเรื่องการลงทุน ที่มีการเชื่อมต่อกันระหว่างตลาดเงินกับตลาดทุน

ในทุกวิกฤตที่ผ่านมา แม้กระทั่งในวันนี้ที่มีสองวิกฤตซ้อนกันอยู่ คือวิกฤตจากโควิด และสงครามรัสเซียกับยูเครน เป็นผลให้ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้ต้องมีคิดกันใหม่ในเรื่องของ Global Supply Chain จะมีการจัดการความเสี่ยงอย่างไร นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ไทยได้รับผลกระทบจากการพึ่งพิงโลก คือภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเห็นได้จากจำนวนที่หายไปทั้งหมด แต่สิ่งที่พูดมาเสมอในสิ่งที่ต้องทำ คือต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น ฉะนั้นต้องขยันหาตลาด

ในเรื่องของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เป็นเรื่องที่สอดประสานกัน นโยบายการเงินจะดูแลในส่วนของต้นทุนเงิน พักชำระหนี้ การเติมเงินทุนใหม่ และการพักทรัพย์พักหนี้ ส่วนในเรื่องของการคลังจะดูแลเรื่องการแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาการตกงาน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกัน เราชนะ และคนละครึ่ง เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่รัฐบาลต้องจ่ายทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาของการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็ล้วนออกมาให้ทิศทางเช่นนี้ว่า นโยบายการคลังต้องมีบทบาทในช่วงโควิด

ถามว่าหลังจากนี้จะเดินอย่างไรต่อไป เมื่อมีภาระเพิ่มขึ้นมามากกว่าปกติ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการสร้างการเจริญเติบโต ซึ่งเลือกวิธีโตช้าแต่มั่นคง หลังจากนี้จะเน้นในเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ในปัจจุบันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว อาทิ การนำทุกอย่างเข้าไปอยู่แอพพ์เป๋าตัง
เป็นต้น และสิ่งที่ต้องชัดเจนมากขึ้นหลังจากนี้คือ มาตรการภาษีสรรพสามิตส่งเสริมในรถยนต์ใช้ไฟฟ้า (อีวี) และการสนันสนุนเรื่องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ให้สำเร็จในปี 2030 และการสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข และเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งทั้งหมดนี้กระทรวงการคลังจะเข้าให้การสนับสนุน อาทิ มาตรการทางภาษี และการสนับสนุนสินเชื่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีต้นทุนและรัฐต้องเป็นผู้จ่าย ดังนั้น รัฐจะมีรายจ่ายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีรายได้ด้วย โดยรายได้ของรัฐมาจากการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ในช่วงโควิดหลายประเทศก็ทำแบบนี้เช่นเดียวกัน

ในเรื่องของการเติบโตของประเทศไทยในอนาคต มองว่ามีโอกาสมาก เพราะทุกวิกฤตมีโอกาส เพียงแต่จะมองเห็นและใช้ประโยชน์กับสิ่งอำนวยความสะดวก หรือระบบนิเวศต่างๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการไว้ให้อย่างไร ดังนั้น ในอนาคตสิ่งที่สำคัญด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยีเหล่านี้ การที่คนมีอาชีพอิสระ หรือทำงานอยู่ในโรงงาน จะมีรายได้จากยุคเทคโนโลยี จะต้องมีการปรับตัวให้มีทักษะและความรู้ในการสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ขณะที่ในส่วนของภาครัฐต้องจัดระบบสวัสดิการ และการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image