คิดเห็นแชร์ : เศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

คิดเห็นแชร์ : เศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

คิดเห็นแชร์ : เศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะกล่าวถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ตามนิยาม คือ ตัวชี้วัดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP มีอัตราการเติบโตที่ลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งสหรัฐได้รายงานตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2565 ติดลบ 1.4% ไปแล้ว ขณะที่ประเด็นเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อจะกลับเป็นปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

ผมเคยเขียนประเด็นเรื่องความพยายามสกัดกั้นเงินเฟ้อโดยการใช้นโยบายการเงินของเฟดรอบนี้ ว่าจะไม่สามารถกดอัตราเงินเฟ้อลงได้มากนัก เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 เพียงประการเดียว ต้นทุนพลังงานที่ปรับขึ้นเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่เป็นปัจจัยหนุนอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้อย่างไรก็ดีผมประเมินว่ามีโอกาสที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 โดยที่ไม่ได้เป็นผลจากราคาขายสินค้าทั่วไปปรับลดลงมากนัก แต่เป็นผลจากฐานของราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อที่เป็นรูปแบบอัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ดูเหมือนจะมีตัวเลขอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่คาดจะมีแนวโน้มลดลงในครึ่งปีหลังของปี 2565 จึงเป็นผลทางคณิตศาสตร์ (ฐานสูง) ไม่ได้มาจากผลของราคาสินค้าทั่วไปปรับลดลง (กรณีสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบยืน +/-100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) รายจ่ายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคจึงยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง

ขณะที่รายจ่ายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคปรับฐานสูงขึ้น แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคกลับมีแนวโน้มที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินของเฟด ที่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดึงสภาพคล่องจากระบบกลับคืน โดยมีเป้าหมายที่จะลดการขยายตัวของการลงทุน เพื่อลดความร้อนแรงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่สหรัฐมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง ไม่ว่าจะเป็นการชะลอการขยายตัวของภาคธุรกิจ ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และเงินออมในตลาดการเงินที่หดตัวลง เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค อาจทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจชะลอการใช้จ่าย จากสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ประเมินว่ามีความเสี่ยงที่เราจะเห็นอัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งจะเป็นการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามนิยามทางหลักวิชาเศรษฐศาสตร์

Advertisement

ผลที่ตามมาของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงในอนาคตอันใกล้ ทั้งในสหรัฐ และประเทศอื่นๆ จะทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนอีกครั้ง โดยผมประเมินว่ามีโอกาสที่นักลงทุนจะเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลอีกครั้ง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีโอกาสที่จะทยอยปรับลดลงในครึ่งปีหลังของปี 2565 อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจของประเทศไทยแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่ผมประเมินว่าตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทย จะยังมีอัตราการเติบโตที่เป็นบวกอยู่ (แม้จะต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก) เนื่องจากคาดว่าการท่องเที่ยวกำลังจะฟื้นตัว และการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นในขณะนี้ แม้จะเป็นปัจจัยกดดันด้านต้นทุนการผลิตและรายจ่ายของผู้บริโภค แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีรายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ ดังนั้นในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตอันใกล้ แต่สำหรับประเทศไทยผมประเมินว่าจะยังมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ที่ยังทรงตัวบวกได้ และเด่นกว่าหลายประเทศ

กลับมาที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ปัจจัยลบจากภายนอกที่กดดันตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ในภาวะเงินเฟ้อที่สูงผิดปกติ ตลาดหุ้นไทยที่มีโอกาสพักฐานในช่วง 1-3 เดือนนี้จึงเป็นโอกาสในการซื้อสะสมของนักลงทุนระยะกลาง-ยาว (6 เดือน-1 ปี) เนื่องจากคาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวที่ดี และเป็น 1 ในเหตุผลที่ทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image