‘หมอประวิทย์’ ชี้ช่องกม. ‘กสทช.’ อำนาจล้น เบรกควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ เพียงหาให้เจอ

‘หมอประวิทย์’ ชี้ช่องกม. ‘กสทช.’ อำนาจล้น เบรกควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ เพียงหาให้เจอ

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลธุรกิจการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค รวมถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค ในวงเสวนาควบรวม ทรู-ดีแทค ผู้บริโภครับกรรม ว่า อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องวางหลักเกณฑ์ อย่างน้อยส่วนของการป้องกันการผูกขาด หรือลดการแขงขัน หรือแม้แต่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ก่อนการแจ้งความประสงค์ที่จะรวมธุรกิจโดยการควบรวมกิจการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนทำตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้

ซึ่งภายหลังแจ้งควบรวมกิจการ มีคำถามตามมาว่า กสทช. มีอำนาจในการยับยั้งหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะมีอำนาจหรือไม่ สุดท้ายแล้ว กสทช. มีอำนาจพิจารณา กรณีที่เห็นว่าอาจเกิดผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เช่น เมื่อควบรวมกิจการแล้วทำให้เกิดการกระจุกตัวของตลาด ทำให้ผู้เล่นรายใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ หรือทำให้เกิดการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานมากเกินไป เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาประเด็นกฎหมาย ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ระบุว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่งอนุญาต หรือไม่อนุญาต ซึ่งนอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะ ตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใด อันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม

Advertisement

ขณะเดียวกัน ตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กสทช. มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน

“ถ้าอ่านอย่างตรงไปตรงมาตามวิญญูชนทั้งหลาย รายงานนี้ต่อให้เพื่อทราบตามประกาศปี 2561 แต่ต้องพิจารณาตามประกาศของปี 2549 แสดงว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาและถือว่าประกาศปี 2549 มีน้ำหนักกว่าประกาศปี 2561 ให้มีการควบรวมกิจการได้ หากมีปัญหาจึงกำหนดมาตรการเฉพาะแต่ประกาศปี 2549 อยู่บนพื้นฐานของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2544 มาตรา 21 ระบุว่าการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันเป็นข้อต้องห้าม ยกเว้นกสทช. อนุญาต ดังนั้น หากพิจารณาแล้วเห็นว่า คำขอนั้นไม่แสดงถึงประโยชน์สาธารณะ ไม่ต้องพูดถึงผลกระทบหรือประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับไม่ต้องอนุญาตได้เลย” นพ.ประวิทย์ กล่าว

“ดีลธุรกิจนี้จะจบได้ในปลายปีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กสทช. หากมีคำสั่งห้ามก็จบ มีเงื่อนไขเข้มข้นจนผู้ประกอบการรู้สึกว่า การควบรวมกิจการไม่มีประโยชน์ ไม่คุ้มทุนก็จบ แต่ถ้า กสทช. มีเงื่อนไขที่เอื้อให้ผู้ประกอบการไปต่อ ดีลนี้ก็จบได้ไม่ยาก ดังนั้น กสทช. ต้องหาอำนาจในการไม่อนุญาตควบรวมกิจการให้เจอ”

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image