นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะใช้งบ1หมื่นล.ฟื้นศก.เลิกแจกเยียวยา-ขุดบ่อ-ทำถนน

นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะใช้งบ1หมื่นล.ฟื้นศก.เลิกแจกเยียวยา-ขุดบ่อ-ทำถนน

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่่ผ่านมาถึงกรณีรัฐบาลออกโครงการเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยจ้างงานผ่านโครงการก่อสร้างแหล่งน้ำ ขุดบ่อและถนน ในท้องถิ่น ว่า ต้องมองในภาพใหญ่ก่อนว่างบดูแลการระบาดของโควิด -19 ด้านเศรษฐกิจจะแบ่งเป็น การเยียวยา กระตุ้น และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หากพูดถึงการเยียวยา หมายถึงรัฐบาลเข้าไปรักษา เหมือนใส่ยา เน้นกลุ่มคนได้รับผลกระทบจากโควิด ส่วนการกระตุ้นนั้นแปลว่า กลุ่มช่วยเหลืออาจจะไม่ต้องได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง แต่สิ่งที่ทำคือเหมือนการฉีดสเตียรอยด์ เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต อาทิ โครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และสุดท้าย การฟื้นฟูคือการเตรียมรับกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคตว่าหลังโควิดหมดไป จะจัดการอย่างไร

นายนณริฏ กล่าวว่า ถึงเวลาต้องเข้าสู่โหมดฟื้นฟูแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินไปจัดการกับโควิด 1.5 ล้านล้านบาท ใช้เงินไปกับการเยียวยาและกระตุ้นเป็นหลัก เช่น โครงการเรารักกัน โครงการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นทั้งการเยียวยาและกระตุ้น แต่ขณะนี้ควรต้องฟื้นฟู เพราะโควิดผ่านมา 2 ปีแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง รวมทั้งอีก 1-2 เดือน รัฐบาลจะประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้โควิดกลายเป็นปัญหาไม่รุนแรงแล้ว ดังนั้นไม่ควรเยียวยาและและกระตุ้นแล้ว นักท่องเที่ยวกลับมาเข้าไทย จึงควรฟื้นฟู ถ้าโครงการไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟู ก็จะทำให้ใช้เงินอย่างผิดวัตถุประสงค์

นายนณริฏ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลออกโครงการด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก็ใช้ฟื้นฟู 2.7 แสนล้านบาท แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับไม่ได้ตอบโจทย์การฟื้นฟูอย่างแท้จริง ปัญหาคือโครงการที่ออกมาเรียกว่า การฟื้นฟูก็จริง แต่ว่าสิ่งที่ทำ ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด อีกส่วนที่น่ากลัวคือ การนำงบการฟื้นฟู ไปใช้ซ่อมรั้วหน่วยงานราชการ ทำถนน ไม่ควรจะทำ เพราะไม่ใช่การฟื้นฟู ความจริงใช้งบทั่วไปทำได้ ดังนั้นการฟื้นฟูคือทำอย่างไรให้คนได้รับผลกระทบจากโควิด ธุรกิจกำลังล้มหายตายจากไป ยังอยู่ได้อย่างยั่งยืน งบก้อนนี้เป็นเงินจากพ.ร.ก. ดังนั้นโครงการที่ออกมาจะถูกตั้งคำถามว่า การสร้างแหล่งน้ำหรือถนน สามารถทำได้ในงบทั่วไป แล้วทำไมจึงมาใช้เงินส่วนนี้

นายนณริฏ กล่าวว่า ส่วนกรณีรัฐบาลจะออกโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นั้น ความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลควรเน้นโครงการด้านการฟื้นฟูได้แล้ว และโครงการคนละครึ่ง ก็ถูกจัดอยู่ในหมวดของการกระตุ้น กลุ่มเป้าหมายคือแรงงานทั่วไป ทำให้เกิดกำลังซื้อ ไม่ใช่โครงการฟื้นฟู เพราะไม่มีความยั่งยืน พอหมดโครงการเงินก็หมดไป ดังนั้นจึงเรียกว่าการกระตุ้น ขณะนี้ควรเป็นการฟื้นฟู พัฒนาเชิงโครงสร้าง เช่น การทำให้ภาคธุรกิจได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ ทำให้มีการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ออกไปตลาดในภูมิภาคใหม่ๆ เป็นต้น มีกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และประชาชนที่มีหนี้ มีรายได้ มีงานเพิ่ม แต่หากรัฐบาลยังมีงบ อยากให้ช่วยกลุ่มคนจน ผู้ถือบัตรสวัสดิการ เพราะขณะนี้กำลังมีปัญหาเงินเฟ้อ คนฐานรากได้รับความเดือนร้อนอย่างมาก

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image