สภาพัฒน์ เผย ปชช.เจ็บป่วย-สุขภาพจิต ดีขึ้น ห่วงสุรา-บุหรี่-อุบัติเหตุรถยนต์พุ่ง

สภาพัฒน์ เผย ปชช.เจ็บป่วย-สุขภาพจิต ดีขึ้น ห่วงสุรา-บุหรี่-อุบัติเหตุรถยนต์พุ่ง พบประชาชนร้องเรียน ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์พุ่งกว่า 131%

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมประจำไตรมาส 1 ปี 2565 ว่า ด้านการเจ็บป่วย จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจาก 70,287 ราย เหลือเพียง 43,670 ราย หรือลดลง 37.9% ซึ่งเป็นการลดลงในทุกโรค ขณะที่ ภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะเสี่ยงฆ่าตัวตายซึ่งมีสัดส่วนลดลงจาก 15.4% ในไตรมาสก่อน เหลือ 8.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมตามปกติได้มากขึ้น

นายดนุชากล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามการได้รับวัคซีนของประชาชน ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีเพียง 39.1% และจำนวน 18.7% ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มใด ๆ เลย รวมทั้งการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการขยะติดเชื้อ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 87%

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 0.6% แต่ต้องมีการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หลังจากการผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งอาจทำให้การบริโภคเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการระบาดของ โควิด-19 และการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน หลังจากข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 23.7% มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิก ในครัวเรือนได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม ซึ่งมีสารพิษและสารก่อมะเร็งจำนวนมาก และ การเร่งรัดปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันมีการโฆษณาและจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแพร่หลาย ทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงและซื้อมาบริโภคได้ง่าย

นายดนุชากล่าวว่า สำหรับ คดีอาญาโดยรวมลดลง ไตรมาสหนึ่งปี 2565 มีการรับแจ้งคดีอาญาทั้งสิ้น 105,473 คดี ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 26.9% แต่สัดส่วนคดียาเสพติดยังอยู่ในระดับสูงถึง 90,656 คดี ส่วนใหญ่เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติด จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปราม การนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูให้หายขาด ป้องกันการกลับมาเป็นผู้เสพซ้ำ รวมทั้งการป้องกันการกระทำความรุนแรงกับผู้หญิง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับครอบครัวในการร่วมขจัดปัญหา และสร้างความเข้าใจกับสังคม โดยการรณรงค์ให้ประชาชนไม่เป็นผู้กระทำความรุนแรง ไม่ยอมรับความรุนแรง ที่เกิดขึ้น และไม่นิ่งเฉยต่อการกระทำดังกล่าว

Advertisement

ขณะที่การเกิดอุบัติเหตุการจราจรทางบกทางบกมีจำนวน 21,463 ราย ลดลง 33.9% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 มีผู้เสียชีวิต 1,541 ราย ลดลง 26.5% ผู้บาดเจ็บรวม 10,953 ราย ลดลง 43.2% อย่างไรก็ตามการเริ่มกลับมาเดินทางและการมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง อาจทำให้มีการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น จึงควรมีการเฝ้าระวังและบูรณาการความร่วมมือเพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีจำนวน 2,540 ราย ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 33.3 %ขณะที่การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช. มีการร้องเรียนทั้งสิ้น 1,780 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 131.5% โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การหลอกลวงผู้บริโภคผ่าน คอลเซ็นเตอร์และการคุ้มครองผู้บริโภคจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มปนเปื้อนสารพิษและเชื้อโรค รวมทั้งการแสดงฉลากหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image