แบงก์ชาติ เผยภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.ดีขึ้น อานิสงส์ท่องเที่ยว-ส่งออก
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเรื่องเศรษฐกิจและการเงิน เดือนเมษายน 2565 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ และการเงินเดือนเมษายน 2565 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2565 ปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น 3% จากการใช้จ่ายในหมวดบริการสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-เมษายน จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 791,000 คน ส่วนเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 291,000 คน ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต อีกทั้ง เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น 0.9% ตามหมวดก่อสร้างที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว รวมถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังขยายตัวได้
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน และการทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล เนื่องจากดุลการค้าเกินดุลน้อยลงตามการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลมากขึ้น ซึ่งเดือนเมษายน 2565 ขาดดุลมูลค่า 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นจำนวนเงินที่ขาดดุลสูงสุดในรอบ 9 ปี เมื่อนับจากเดือนเมษายนปี 2556 ที่จำนวน 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายน 2565 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมทยอยปรับดีขึ้น จากความกังวลต่อการระบาดโอมิครอนที่ลดลง และการทยอยเปิดประเทศ อีกทั้ง ยังต้องติดตามสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการ
นางสาวชญาวดีกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและการเงินโดยรวมยังดี ซึ่งรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายหมวดบริการและหมวดสินค้าไม่คงทน สะท้อนความกังวลต่อการแพร่ระบาดโอมิครอนน้อยลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเป็นเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคภาคเอกชน ขณะเดียวกัน เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดก่อสร้างปรับดีขึ้น ตามยอดขายวัสดุก่อสร้างและการขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลง ตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โลหะ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ยางสังเคราะห์ รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และมาตรการควบคุมการระบาดโควิดในจีน ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าปิโตรเลียมที่ลดลงตามการบริหารคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ และการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลง อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องระบายอากาศ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ หมวดยางและพลาสติกตามราคายางที่ปรับดีขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างสอดคล้องกับการก่อสร้างของภาคเอกชน รวมทั้งหมวดยานยนต์สอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การผลิตลดลงในบางหมวด อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ตามปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ซึ่งถูกซ้ำเติมจากมาตรการควบคุมการระบาดโควิดอย่างเข้มงวดของจีน และหมวดอาหารและเครื่องดื่มจากการผลิตน้ำตาลที่น้อยลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงปิดหีบอ้อย
อีกทั้ง การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านคมนาคมทยอยเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวดีตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านโทรคมนาคมเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเล็กน้อยตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว ตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกทองคำที่ลดลงเป็นสำคัญ และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้นตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอลงส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง