เปิดสารพัด‘แรงส่ง-แรงถ่วง’ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง

เปิดสารพัด‘แรงส่ง-แรงถ่วง’ ‘เศรษฐกิจไทย’ครึ่งปีหลัง ผ่านครึ่งแรกของปี 2565

เปิดสารพัด‘แรงส่ง-แรงถ่วง’ ‘เศรษฐกิจไทย’ครึ่งปีหลัง

ผ่านครึ่งแรกของปี 2565 มาแล้ว ดัชนีภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย ถือว่าอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยปัจจัยบวกหลายเรื่องไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ไม่ว่าภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวยังเข้ามาเที่ยวไทยไม่มาก แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหมุดหมายแรกๆ ที่ต่างชาติมุ่งหน้ามาเช็กอิน หลังน่านฟ้าเปิดรับตั้งแต่กดปุ่มคิกออฟ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

ขณะที่มู้ดจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศยังชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 ที่ระบาดหลายระลอก แม้การเดินทางจะเริ่มคึก แต่ภาคธุรกิจร้านอาหาร หลังซมพิษโควิดมานานกว่า 2 ปี ถึงจะกลับมาเริ่มต้นเปิดบริการใหม่แต่ยังไม่ 100%

Advertisement

⦁เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยพุ่งฉุดศก.
เมื่อจับสัญญาณสถานการณ์ในไตรมาส 2/2565 (เมษายน-มิถุนายน) นอกจากจะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ประเทศไทยยังต้องเผชิญวิกฤตสงครามรัสเซียกับยูเครน กลายเป็นวิกฤตซ้อนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จากราคาน้ำมันแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์แตะในระดับ 110-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในไทยพุ่งขึ้นเกือบ 35 บาทต่อลิตร ดันต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการปรับขึ้นยกแผง

กลายเป็นปรากฏการณ์ “แพงทั้งแผ่นดิน-แพงยกตลาด” หลังผู้ผลิต ค้าปลีกและค้าส่ง พาเหรดขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคทุกอย่าง ตั้งแต่ของสด ยันของแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เป็นอาหารพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อย หรือชาวรากหญ้าจริงๆ ยังขอปรับราคาขึ้น 0.50-1 บาทต่อซอง เพราะตรึงราคาสู้ต้นทุนไม่ไหว

ร้อนถึงนักวิชาการและกูรูด้านการเงินออกมาวิพากย์ “เศรษฐกิจประเทศไทย” กำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยความหมายของเงินเฟ้อ คือ เรามีเงินเท่าเดิม ใช้เงินซื้อของเท่าเดิม แต่ได้ของในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เงินในกระเป๋าคนยังเท่าเดิม ขณะที่ราคาสินค้าขึ้นไม่หยุด ฉุดเงินเฟ้อ ณ เดือนพฤษภาคมพุ่งแรงทะลุ 7.1%

Advertisement

จากภาวะเงินเฟ้อดูลุกลาม โดยเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงในรอบ 40 ปี ที่ระดับ 8.6% ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ย จากที่จะขึ้น 0.50% ก็ขึ้นอีก 0.75% สู่ดอกเบี้ยระดับ 1.5%-1.75% ทันที ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี จึงเกิดความกังวลการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ กระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมถึงประเทศไทยด้วย

⦁ชี้ศก.ครึ่งปีหลังฟื้นได้ไม่เต็มที่
เมื่อภาพเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี 2565 เต็มไปด้วยความเสี่ยง แล้วแนวโน้มเศรษฐกิจที่เหลือในช่วงครึ่งปีหลังจะออกหัวหรือก้อย

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.อเซีย พลัส บริษัทโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ ฉายภาพว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ กว่าจะกลับไปสู่ระดับเดิมได้ อาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2566 เนื่องจากปัญหาที่พบในตอนนี้ คือ หนี้สิน ทั้งหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย เดิมอยู่ประมาณ 40-42% แต่เมื่อโควิดทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม หนี้สาธารณะจึงพุ่งขึ้นมาที่ 60% ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อควบคุมโควิดระบาด ทำให้เม็ดเงินที่ใช้ไม่ได้เพิ่มศักยภาพการเติบโตไปข้างหน้าของประเทศ

“ส่วนหนี้ครัวเรือนก็พุ่งแตะระดับ 90% ต่อจีดีพีแล้ว ถือว่าอันตรายมาก เพราะเมื่อหาเงินมาได้ แต่เป็นหนี้เกือบทั้งหมด ก็ส่งผลต่ออารมณ์การจับจ่ายของคนส่วนใหญ่ต่อให้ภาครัฐจะพยายามผลักดันเศรษฐกิจ หรือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมากขึ้น การกระเตื้องก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะหนี้สาธารณะก็ทำให้รัฐบาลเหนื่อย หนี้ครัวเรือนก็ทำให้ประชาชนเหนื่อย ทั้งยังต้องเจอเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะไทย แต่ในหลายประเทศทั่วโลก หากมีการขยับราคาขึ้นของสินค้าหลากหลายชนิด ก็จะดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง”

⦁ภาษีหุ้นฉุดตลาดหดตัว
อีกปัจจัยที่จะเป็นปัจจัยลบ นั่นคือ ตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะกระทบจากการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่กระทรวงการคลังยืนยันเดินหน้าจัดเก็บ

ประเด็นนี้ ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) กล่าวว่า ภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยในภาพรวมแน่นอน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมของตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2565 แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ที่คาดว่าจะกระทบสภาพคล่องในตลาดทุนหดตัวประมาณ 40% หรือมีมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่มเทรด) เหลือประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อวัน จากปัจจุบันเฉลี่ยที่ 60,000-80,000 ล้านบาทต่อวัน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะยิ่งสูงมากกว่าเดิม เพราะลำพังยังไม่ได้มีการเก็บภาษีดังกล่าว เราก็เห็นสภาพคล่องในตอนนี้ที่ปรับลดลงมากตามธรรมชาติอยู่แล้ว

เมื่อสภาพคล่องลดลง ก็ส่งผลกระทบต่อต้นทุนโดยปริยาย อาทิ การระดมทุนของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทย ซึ่งเป็นต้นทุนทางอ้อม แต่หากรวมกับต้นทุนทางตรงอย่างการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณเข้าไป โดยประเมินว่า หากมีการเก็บภาษีจากการขายหุ้น จะทำให้ต้นทุนในการลงทุนของนักลงทุนทุกประเภทสูงขึ้นอย่างนัยสำคัญ โดยประมาณการว่าจะสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 70% หรือ 0.7 เท่า และเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ จะมีต้นทุนสูงขึ้นประมาณ 1.7 เท่า หรือ 170% ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ โดยประเมินเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท แต่หากมีการเก็บภาษีหุ้น คาดว่าจะหายไป 70-80% แน่นอน

⦁ตลาด‘คริปโทฯ’ผันผวนหนัก
ด้าน นเรศ เหล่าพรรณราย เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ทิศทางตลาดสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีอยู่ 3 กรณี คือ กรณีที่ 1.ดีที่สุด ปัจจัยเสี่ยงจะมีแค่นโยบายของเฟด ประเมินว่า เฟดอาจประกาศขึ้นอีก 2-3 ครั้ง ทำให้เราอาจเจอก้นเหวไปแล้ว สถานการณ์ตลาดอาจเริ่มดูดีขึ้นในไตรมาสที่ 4/2565 กรณีที่ 2.ร้ายแรงขึ้นมาอีกระดับ คือ อาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่นประกอบนอกเหนือจากนโยบายของเฟด อาทิ เศรษฐกิจโลกมีเรื่องเซอร์ไพรส์ มีการใช้นิวเคลียร์ในสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน จะกระทบตลาดหุ้นรวมถึงบิตคอยน์ และกรณีที่ 3.เลวร้ายสุด อาจมีระเบิดใต้พรม หรือสิ่งที่ไม่รู้เกี่ยวกับเหรียญที่นักลงทุนเล่นอยู่

“แต่กรณีนี้มีโอกาสเกิดน้อย ไม่ได้แปลว่าจะเกิด ซึ่งหากเกิดอาจได้เห็นบิตคอยน์ราคาร่วงไประดับ 10,000 เหรียญสหรัฐได้ โดยกลยุทธ์การลงทุนในคริปโทฯ คือ อย่า All in คือ อย่าลงทุนเพียงเหรียญเดียว และอย่าเอาเงินทั้งชีวิตมาลงทุน อย่างที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนบางรายที่ทุ่มทั้งชีวิตให้กับเหรียญ ลูนา (LUNA) ซึ่งหายไปจากตลาดแล้ว” นเรศสรุป

จากภาพความเสี่ยงที่เห็น ยังไม่นับรวมตลาดทองคำที่ปรับขึ้นอย่างร้อนแรง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพของการเมืองไทย โดยทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวม หากมรสุมใหม่ซัดเข้ามาถาโถมไม่หยุด ย่อมมีคำถามตามมา รัฐบาลจะงัดวิทยายุทธ์ไหนมาสางปมปัญหาเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤตซ้อนวิกฤตแบบนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image