‘เศรษฐา’ ชี้ผู้ว่าฯกทม. ทำงาน 1 เดือนเหมือน 1 ปี เป็นนิมิตหมายอันดี ย้ำปัญหาปากท้องใหญ่สุดผู้นำต้องเร่งแก้

‘เศรษฐา’ ชี้ผู้ว่าฯกทม.ทำงาน 1 เดือน เหมือนทำ 1 ปี เป็นนิมิตหมายอันดี ย้ำปัญหาปากท้องใหญ่สุดผู้นำต้องเร่งแก้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 22 มิถุนายน นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเสวนา “Stronger Bangkok ; Stronger Thailand” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ ว่า เรามีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รู้สึกดีใจ เพราะคะแนนเสียงที่ได้มา ถือเป็นฉันทามติของคนกรุงเทพมหานครทุกคน โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ในแง่ความคาดหวังและความประทับใจไม่ต้องพูดถึง เพราะทำงานมา 1 เดือน เหมือนทำมาแล้ว 1 ปี ทั้งการตื่นเช้าไปทำงาน การติดตามปัญหาต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯโหยหา ช่วยสร้างกำลังใจให้คนที่ประสบปัญหาอยู่ กำลังจะหมดหวัง และถือเป็นนิมิตหมายอันดี

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

“ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน เรื่องปากท้องถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสุด ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ลดลง แต่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ผู้นำทุกคนจะต้องแก้ปัญหา อาทิ ผู้ว่าฯกทม. พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม โดยบริบทของประเทศต้องจัดการเรื่องรายได้ หนี้ครัวเรือน และการลดค่าใช้จ่าย” นายเศรษฐากล่าว

Advertisement

เศรษฐา

ทั้งนี้ การทำงานของผู้ว่าฯกทม. ถือเป็นบริบทใหม่ ในการนำปัญหาเข้ามาให้ทุกคนมองเห็นด้วยกัน ผ่านการวัดเคพีไอการทำงานของคนที่ชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากนัก แต่ใช้ประสิทธิภาพของกำลังคนให้มีความกระตือรือร้น โดยการจะทำแบบนี้นั้น เป็นเรื่องของภาวะผู้นำ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้จะพูดอวยหรืออะไร แต่ต้องยอมรับว่าภาวะผู้นำมีความสำคัญมาก เพราะขั้นตอนการทำงานที่ลงพื้นที่จริง เข้าใจปัญหาจริง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน อันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ไม่ใช่แค่ประชาชนที่มีความหวัง แต่ข้าราชการที่มีความสามารถ และมีความต้องการในการแก้ไขปัญหาของประชาชนจริง เมื่อเจอผู้นำที่มีความเด็ดขาด และมีความจริงใจในการทำงาน ก็มีความหวังไปด้วย

นายเศรษฐากล่าวว่า เมื่อฟังผู้ว่าฯกทม.ใช้คำพูดว่า การทำงานจะเป็นการทลายไซโล (Silo) หรือพฤติกรรมและกรอบความคิดเดิมของหน่วยงานต่างๆ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปด้วย มีการอธิบายให้ฟังตลอดเวลา และตั้งคำถามว่า เมื่ออธิบายให้ฟังตลอดแล้วทำไมถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ในการทำงานและรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน โดยการทำงานร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความหวัง ไม่ใช่ว่าเมื่ออธิบายให้ฟังตลอดเวลาทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะคุณถูกเลือกขึ้นมาเพื่อทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นการอาสาในการเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เสียสละเข้ามา แม้มีบ้างที่พูดเหมือนเสียสละเข้ามา แต่ใจจริงก็อยากเข้ามา ในแง่งบประมาณที่จัดตั้งให้ กทม.มานั้น ถูกจัดสรรมาแล้ว จึงอาจเป็นงบที่น้อยและยังไม่สามารถบริหารจัดการได้หลากหลายมากนัก แต่สิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.ดำเนินการมาตลอด 1 เดือนนั้น อาทิ การนำสายไฟลงดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณสูง แต่สิ่งที่ทำคือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ผ่านการนำสายไฟต่างๆ ที่ไม่ใช่ออก จัดระเบียบให้เรียบร้อยไว้ก่อน อาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในปัจจุบัน ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมองว่างบประมาณไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่ทำ ความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินอย่างเดียว

Advertisement

เศรษฐา

อีกเรื่องมองว่าหลายๆ หน่วยงานมีความเกรงใจและเกรงกลัว คือ ไม่มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมองว่ามีความสำคัญ และได้ประโยชน์มากหาก กทม.มีการพัฒนาที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น เชื่อว่าเอกชนพร้อมร่วมมือ โดยหากมีการเข้าพบแล้วช่วยเหลือกัน ถือเป็นบุญคุณที่ต้องตอบแทนทีหลัง ก็บอกผู้ว่าฯกทม.ไว้เลยว่า หากอะไรที่ทำไม่ได้หรือไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องก็บอกไปเลยว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องเกรงใจ เพราะไม่ใช่เอกชนทุกรายที่หวังผลตอบแทน ซึ่งเอกชนไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกรงใจในการเรียกหา การให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และลดภาระงบประมาณ เชื่อว่าเอกชนยินดีช่วยเหลือ อาทิ การนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image