‘ชัชชาติ-เศรษฐา’โชว์วิชั่น ปั้นเมืองเศรษฐกิจ สร้างเมืองน่าอยู่

‘ชัชชาติ-เศรษฐา’โชว์วิชั่น ปั้นเมืองเศรษฐกิจ สร้างเมืองน่าอยู่

‘ชัชชาติ-เศรษฐา’โชว์วิชั่น

ปั้นเมืองเศรษฐกิจ สร้างเมืองน่าอยู่

หมายเหตุ – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา “Stronger Bangkok ; Stronger Thailand” มีนายสรกล อดุลยานนท์ คมลัมนิสต์และพิธีกรชื่อดัง เป็นผู้ดำเนินรายการ จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน

⦁ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ทำงานครบ 1 เดือนมีความพึงพอใจมากขนาดไหน?

Advertisement

เศรษฐา : ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับผู้ว่าฯกทม. และรู้สึกดีใจ เพราะคะแนนเสียงที่ได้มา ถือเป็นฉันทามติของคนกรุงเทพมหานครทุกคน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผมว่าในแง่ความคาดหวังและความประทับใจไม่ต้องพูดถึง เพราะทำงานมา 1 เดือน เหมือนทำมาแล้ว 1 ปี ทั้งการตื่นเช้าไปทำงาน การติดตามปัญหาต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯโหยหา เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่กำลังประสบปัญหาอยู่ อาจจะหมดหวัง ถือว่าท่านผู้ว่าฯเป็นนิมิตหมายอันดีของเรา

ชัชชาติ : ชาวบ้านเดือดร้อนเยอะ เราออกไปตี 5 ชาวบ้านตื่นก่อนแล้ว วันนี้ไปบ่อนไก่มา ยังเป็นห่วงอยู่ ชาวบ้าน 109 คนต้องไปอยู่ศูนย์พัก นักเรียนหลายคนไปโรงเรียนไม่ได้ เพราะไฟไหม้หมดแล้ว ยังไม่ได้อาบน้ำ ผมไม่ได้ทำงานหนักกว่าประชาชน มีคนหนักกว่าเราเยอะ ตื่นก่อนเรา หลับหลังเรา มีคนที่หนักกว่าเรา เราทำเต็มที่เพื่อพยายามแก้ปัญหาของประชาชน ผมทำงานปกติ แต่เผอิญมีไลฟ์ เลยเห็น แต่ไม่ต่างจากปกติ

⦁แนวทางการแก้ปัญหาใหญ่ของกทม.?

Advertisement

ชัชชาติ : กทม.ความจริงแล้วมีแค่ 3 เรื่องเอง 1.คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพ น้ำเสีย ฝุ่นพิษ มลพิษ น้ำท่วม ขยะต่างๆ เราทำเป็นงานรูทีน ที่ไม่ต้องให้คนอื่นทำแทนเรา 2.การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เพราะ กทม.เป็นผู้ถือกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งบางครั้ง กทม.เป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ ต่อการทำธุรกิจ ทำอย่างไรให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนปฏิบัติ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน 3.การสร้างโอกาสจากความเหลื่อมล้ำ หน้าที่ กทม.คือเป็นคนเกลี่ยความเหลื่อมล้ำ เฉลี่ยจากคนมีเยอะ มาให้คนมีน้อย ต้องสร้างโครงสร้างสวัสดิการพื้นฐานให้ประชาชน ถ้าไม่เกี่ยวกับ 3 เรื่องนี้ อย่าไปทำ ที่ผ่านมาเราเอางบไปลงนอกเหนือจาก 3 เรื่องนี้ ซึ่ง กทม.ไม่ได้มีหน้าที่สร้างเมืองให้เจริญรุ่งเรือง

ถามว่าคำนิยามของเมืองคืออะไร ผมชอบคำนิยามของนักวิชาการผังเมือง ชาวฝรั่งเศส บอกว่า ‘เมืองคือตลาดแรงงาน เรามารวมในกรุงเทพฯ เพราะมีงาน กทม.มีงานเป็นหัวใจ ถามว่าใครสร้างงาน กทม.ไม่ได้สร้างงาน เอกชนเป็นหลัก ราชการก็ไม่ได้สร้างงานเยอะ คนที่สร้างเมืองเยอะความจริงคือเอกชน ต้องสร้างงานที่มีคุณภาพทำให้เกิดเศรษฐกิจขึ้น กทม.จึงต้องร่วมมืออย่างแข็งขันกับภาคเอกชน ที่จะช่วยสร้างเมืองนี้ในอนาคต

ช่วง 15 วันแรกเราเดินสายพบเอกชนตลอด พบสภาอุตสาหกรรม พบหอการค้า พบหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกทม.เองคนเดียวไม่สามารถสร้างเมืองที่มีคุณภาพได้ ต้องมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เห็นคนมาร่วมมือเยอะ ทุกคนมีความเชี่ยวชาญ เก่งแต่ละด้าน แต่ กทม.เป็นคนประสาน อำนวยความสะดวก เพิ่ม Productivity ให้ทุกคนสร้างเมือง สร้างงานที่มีคุณภาพได้ เมื่อถามว่าเห็นอะไรเปลี่ยนไปไหม ผมว่าไม่เปลี่ยน เราเดินในเมืองมา 3 ปี เห็นปัญหาต่างๆ ซึ่งแค่คอนเฟิร์มขึ้น แต่สิ่งที่ดีใจคือข้าราชการ กทม. ปรับตัวได้เร็ว ผมว่ามีคนเก่งๆ เยอะ คนที่ตั้งใจทำงาน สามารถรับลูกต่อได้เร็ว

เศรษฐา : ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันคือเรื่องปากท้องถือเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสุด ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ รายได้ที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ซึ่งเรื่องปากท้องเป็นเรื่องแรกที่ผู้นำทุกคนจะต้องแก้ปัญหา อาทิ ผู้ว่าฯกทม. พยายามร่วมมือกับภาคเอกชน ในการจัดหาพื้นที่ทำมาหากิน เพื่อสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม โดยบริบทของประเทศต้องจัดการเรื่องรายได้ หนี้ครัวเรือน และการลดค่าใช้จ่าย

⦁การบายพาสจากประชาชนสู่หน่วยงาน เช่น นำทราฟฟี่ฟองดูว์เข้ามา ทำให้ทำงานง่ายขึ้นมาก ?

ชัชชาติ : ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เป็นแอพพ์ที่ สวทช.ทำมานานแล้ว ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำ มีเทศบาลนครอุบลราชธานี ทำได้ดี แต่คำนี้ลึกกว่านั้น จริงๆ แล้วคือคำว่า “แพลตฟอร์ม” แพลตฟอร์มเรโวลูชั่น หรือ ‘การปฏิวัติของแพลตฟอร์ม’ ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจทำมานานแล้ว ไม่ว่าจะอูเบอร์ แกร็ป คือแพลตฟอร์ม แต่ก่อนธุรกิจจะเป็นระบบไปป์ไลน์ เช่น มีเรื่องร้องเรียนมาที่ผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯบอกรองผู้ว่าฯ บอกปลัด บอกสำนัก บอกเจ้าหน้าที่ ก็จะมีท่อที่เชื่อมโยงระหว่างปัญหากับผู้แก้ ถ้าใครเส้นใหญ่ก็มีท่อใหญ่ พรวดเดียวถึง ส่วนคนตัวเล็กตัวน้อยไม่มีท่อ ก็ติดอยู่ตรงนั้น ทุกคนก็พยายามหาท่อของตัวเอง ใครมีท่อที่เชื่อมโยงได้ก็พยายามรักษาตรงนั้นไว้

แต่แพลตฟอร์มนี้ ทำให้ไม่มีท่อ เหมือนกระดานใหญ่ๆ ใครมีเรื่องโยนมาที่แพลตฟอร์ม คนที่จะให้บริหาร เห็นดีมานด์ ของเราในแพลตฟอร์ม ก็หยิบไปแก้ ไม่ต้องมีไปป์ไลน์ เป็นแนวคิดที่เอกชนใช้มาเป็น 10 ปีแล้ว แต่พอมาใช้ในระบบราชการ ให้ประชาชนยื่นเรื่องเข้ามาในแพลตฟอร์ม ว่าฟุตปาธตรงนี้ พิกัดนี้มีปัญหา พอเห็น ผู้ว่าไม่ต้องสั่งการแล้ว ผู้อำนวยการเห็น มาล้วงลูกจากแพลตฟอร์มไปแก้ได้เลย เพราะเขารู้ว่าประชาชนมองอยู่ ทำให้การแก้ไขปัญหาเร็วขึ้น สุดท้ายทุกคนตื่นตัว จะเห็นว่าผมแทบไม่ต้องสั่งการ

วันแรกมีคนแจ้งมา 20,000 เรื่อง เว็บล่มเลย ไม่เคยคิดว่าจะมีคนแจ้งเหตุมาเยอะขนาดนี้ ปัจจุบันมีคนแจ้งเกือบ 40,000 เรื่อง และแก้ไขไปได้มากกว่า 10% มี 5,000 เรื่องที่ไก้ไข ผมไม่ต้องออกคำสั่ง แล้วข้าราชการทุกคนก็แข่งกัน เอาเรื่องไป เรียกว่า ‘ปฏิวัติ’ ได้ไหม ปฏิวัติระบบราชการ

อันนี้จะมีพลัง พูดตรงๆ เขตก็มีคนที่ต่อต้าน ว่า ‘ไม่ใช่เรื่องรับผิดชอบของเรา’ ‘เขตทำไมได้หรอก’ ‘เอามาจะกลายเป็นเสียเคพีไอ อย่างไฟดับ ให้การไฟฟ้ามาซ่อม น้ำประปารั่ว ถนนไม่เรียบ มองเป็นหน้าที่คนอื่น เอามาให้รับผิดชอบก็จะมีฉุนเฉียวนิดหน่อย ตนก็บอกไม่ต้องกังวล เห็นปัญหาดีแล้ว อันไหนที่ไม่ได้มีหนัาที่ต้องรับผิดชอบ ก็ชี้แจ้งประชาชนไป แต่อย่าตอบว่า ‘ผมไม่ต้องรับผิดชอบ’ ให้ตอบ ‘กำลังประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้’

แพลตฟอร์มดีอย่างไร มันทลายไซโล Silo (ต่างฝ่ายในองค์กรทำงานแบบตัวใครตัวมัน) แต่ก่อนเขตนี้คือถังหนึ่ง เขตนี้อีกถังหนึ่ง แต่แพลตฟอร์มจะทะลวงไปนอก กทม. การประปา การไฟฟ้านครหลวง ตำรวจ ฯลฯ เพราะสุดท้ายทุกคนต้องส่งหน่วยงานมาร่วมกับเรา เพื่อให้ไซโลถูกทะลวง แล้วเอาแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าไปล้วงทั้งหมด แค่ 2 อาทิตย์ ไม่ได้ใช้เงินสักบาท ไม่ได้ใช้งบเพิ่ม แต่เร็วขึ้น งบซ้อมไม่ได้ใช้มากขึ้น แต่เร็วขึ้น ใช้เวลา 1-2 วันในการซ่อม คือรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป พลังของแพลตฟอร์มจะทลายระบบราชการ

นโยบาย 214 ข้อเราใส่ในแพลตฟอร์ม ตั้งแต่ก่อนได้รับตำแหน่ง ทุกคนเห็น ยังไม่ต้องได้รับเลือกตั้ง เขตที่มีความกระตือรือร้นหน่อย เอานโยบายเราไปทำแล้ว อย่างแจกผ้าอนามัยให้เด็ก แล้วขึ้นในแพลตฟอร์ม คนไหนทำได้ ‘เห็น’ ก็ทำตาม มีพลังในการเปลี่ยนมายด์เซ็ตของระบบราชการได้

⦁แพลตฟอร์มนี้ทะลวงได้ถึงเส้นเลือดฝอยได้จริง?

ชัชชาติ : มีหลายปัญหาหลักที่ต้องขอโทษพี่น้องประชาชน เพราะโดนด่า เช่น กรณีพื้นที่ตรงนี้แจ้งมาว่า มีหาบเร่แผงลอยผิดกฎหมายอยู่ แก้ไขด้วย คนรับผิดชอบก็จะไปถ่ายตอนแม่ค้าไม่อยู่ ‘แก้ไขแล้ว’ วินาทีนั้นเสร็จ แต่อีกครึ่งชั่วโมงกลับมาขายต่อ ก็โดนชาวบ้านด่า จึงต้องแยกปัญหาชั่วคราวออกมาอีกกลุ่ม จากที่แก้ได้จริงๆ แบบถาวร เรื่องลุกล้ำพื้นที่ เทศกิจมา เขาก็ไป ไม่ได้แก้ถาวร

เรื่องเส้นเลือดฝอย เมื่อวานเราลงพื้นที่ลอกท่อห้วยขวาง ไขมันหนาขนาดนี้ ต่อให้บางซื่อลงทุนอุโมงค์กว่า 20,000 ล้านแค่ไหน น้ำก็ไม่ไป ชาวบ้านอยู่กับเส้นเลือดฝอย ตื่นมาลืมตาก็อยู่กับเส้นเลือดฝอย เราต้องปรับวิธีคิด เส้นเลือดใหญ่ก็ต้องมี เพื่อให้ทั้งวงจรนั้นสำเร็จ

⦁มุมมองของภาคเอกชนในการเปิดระบบบายพาส?

เศรษฐา : ถือว่าเป็นบริบทในการทำงานใหม่ ในการนำปัญหาเข้ามาให้ทุกคนมองเห็นด้วยกัน ผ่านการวัดเคพีไอการทำงานของคนที่ชัดเจน แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากนัก เพียงแต่ใช้ประสิทธิภาพของกำลังคนให้มีความกระตือรือร้น โดยการจะทำแบบนี้นั้น เป็นเรื่องของภาวะผู้นำ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้จะพูดอวยหรืออะไร แต่ต้องยอมรับว่าภาวะผู้นำมีความสำคัญมาก เพราะขั้นตอนการทำงานที่ลงพื้นที่จริงตีสี่ตีห้า เข้าใจปัญหาจริง ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน อันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ไม่ใช่แค่ประชาชนที่มีความหวัง แต่ข้าราชการที่มีความสามารถ และมีความต้องการในการแก้ไขปัญหาของประชาชนจริง เมื่อเจอผู้นำที่มีความเด็ดขาด และมีความจริงใจในการทำงาน ก็มีความหวังไปด้วย

เมื่อฟังที่ผู้ว่าฯกทม. ใช้คำพูดว่า การทำงานจะเป็นการทลายไซโล หรือพฤติกรรมและกรอบความคิดเดิมของหน่วยงานต่างๆ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปด้วย มีการอธิบายให้ฟังตลอดเวลา และตั้งคำถามว่า เมื่ออธิบายให้ฟังตลอดแล้วทำไมถึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งที่เป็นหน้าที่ในการทำงานและรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน โดยการทำงานร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความหวัง ไม่ใช่ว่าเมื่ออธิบายให้ฟังตลอดเวลาทำไมถึงทำไม่ได้ เมื่อคุณถูกเลือกขึ้นมาเพื่อทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นการอาสาในการเข้ามาทำงาน ไม่ใช่เสียสละเข้ามา แม้มีบ้างที่พูดเหมือนเสียสละเข้ามา แต่ใจจริงก็อยากเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่

ชัชชาติ : ผมขอเสริมนิดหนึ่งคำว่าไซโล ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะไปประสานงาน ทุกคนอยากจะประสานงาน อย่างถนนพระราม 3 ที่เป็นคลื่นกระแทก มีคนบอกว่าลูกเขาคลอดก่อนกำหนดเพราะกระเทือนมาก เป็นปัญหาที่แก้มานานมาก วิธีผมคือ ไปเรียนเชิญท่านผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ทำสายไฟลงดิน ถ้าผู้ว่าฯ มาเอง ลูกน้องก็จะเรียกได้ ถ้าไม่เชื่อสั่งหยุดงาน วันเดียวเรียบร้อย เราต้องใช้อำนาจให้เป็น เราไม่ได้แกล้งเขา แต่ผู้รับเหมาเราคิดตังค์ไปแล้ว การบริหารจัดการต้องทำให้ดี ทุกคนตั้งใจ อ่อนน้อมถ่อมตนซึ่งการลงพื้นที่ดูการลอกท่อของนักโทษชั้นดีที่เขตห้วยขวางด้วยว่า ตนยกมือไหวเขาไปทั่ว ทุกคนอยากจะช่วย อยากเห็นประชาชนมีความสุข ข้าราชการดีๆ มีเยอะ แค่ไม่มีโอกาส ทลายไซโลไม่ยาก แค่ไปคุยกับเขา ให้เกียรติกันและกัน

⦁มองอย่างไรการเป็นผู้นำไม่ได้อยู่แค่ห้องแอร์ แต่มีรังสีที่ทำให้งานจบเร็วได้ ?

ชัชชาติ : ผมมีทีมงานที่ดี ที่ทำให้สำเร็จได้อย่างหนึ่งคือ ‘ทีมงานไม่มีประสบการณ์’ ไม่เคยทำการเมือง ทำข้าราชการมาก่อน ซึ่งจะเป็นต้นทุนในกรอบความคิด ให้มาใช้บริหารแบบกรอบความคิดเดิม แต่นี่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ‘ไม่รู้คือไม่กลัว’ กล้าเสี่ยง ไม่มีรูปแบบเดิมติดในใจ คิดนอกกรอบได้ง่ายกว่า อย่างการเอาทราฟฟี่ ฟองดูว์มา ตอนแรกทุกคนกลัวว่าจะมีปัญหา แต่สุดท้ายทลายได้เร็วมาก ทีมงานคือส่วนสำคัญ ต้องขอบคุณทีมงานมากกว่า เขาคือคนสำคัญที่ทำให้เราเดินหน้าได้

⦁ปัญหางบประมาณ คนสงสัยว่างบ 7.9 หมื่นล้าน จะทำอะไรได้ ?

ชัชชาติ : งบประมาณปี 2566 ทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เข้าไป เขาทำเสร็จแล้ว เวลาแก้แทบไม่มี แค่มาจัดกรอบ เอาเข้า ส.ก. งบประมาณเรามี 7.9 หมื่นล้าน งบลงทุนใหม่มี 1,600 ล้าน แต่เป็นโครงการที่ผูกพันไปแล้ว เป็นปัญหาที่ทำให้เริ่มโครงการใหม่ไม่ได้ ซึ่งรูปแบบของ กทม.จะเห็นงบผูกพันเยอะ เป็นโครงการต่อเนื่องหลายปี ปีแรกอาจจะมีล้านเดียว แล้วไปป่องเป็น 100 ล้าน 1,000 ล้านทีหลัง
ทุกอย่างในปีนี้อาจมีงบลงทุนผูกพันกว่า 10,000 ล้าน แต่ปีหน้า มีงบผูกพัน 20,000 กว่าล้านที่ผูกพันแล้ว เป็นปัญหาของรูปแบบการทำงาน ที่น่าสนใจอีกประการ คือปีนี้งบ 79,000 ล้านบาท ต้องไปตั้งประมาณ 5,000 ล้านบาทเพื่อจ่ายหนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เช่น 2564 เงินสดไม่พอ ก็ไปยืมเงินเหลือของ กทม. มาใช้ก่อนได้ แต่ต้องมาคืน กทม. 2 ปีข้างหน้า กลายเป็นเงินอดีตที่ต้องไปคืน 5,000 ล้านบาทแล้ว ต้องมีหลายเรื่องที่ไปปรับปรุง งบบุคลากรก็เยอะเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ งบลงทุนมีไม่มาก ต้องดูและปรับปรุงในอนาคต

เศรษฐา : งบประมาณที่จัดตั้งมานั้น ถูกจัดสรรมาแล้ว ทำให้อาจเป็นงบที่น้อยและยังไม่สามารถบริหารจัดการได้หลากหลายมากนัก แต่สิ่งที่ผู้ว่าฯกทม. ดำเนินการมาตลอด 1 เดือนนั้น อาทิ การนำสายไฟลงดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณสูง แต่สิ่งที่ทำคือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ผ่านการนำสายไฟต่างๆ ที่ไม่ใช่ออก จัดระเบียบให้เรียบร้อยไว้ก่อน อาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในปัจจุบัน ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมองว่างบประมาณไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่ทำ ความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินอย่างเดียว

อีกเรื่องมองว่าหลายๆ หน่วยงานมีความเกรงใจและเกรงกลัว คือ ไม่มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งมองว่ามีความสำคัญ และได้ประโยชน์มากหาก กทม.มีการพัฒนาที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น ทำให้เชื่อว่าพร้อมที่จะเข้าพบ โดยบอกว่าหากมีการเข้าพบแล้วช่วยเหลือกัน ถือเป็นบุญคุณที่ต้องตอบแทนทีหลัง ก็บอกผู้ว่าฯกทม. ไว้เลยว่า หากอะไรที่ทำไม่ได้หรือไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องก็บอกไปเลยว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องเกรงใจ เพราะมองว่าไม่ใช่เอกชนทุกรายที่หวังผลตอบแทน โดยต้องบอกว่าเอกชนไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องเกรงใจในการเรียกหา ซึ่งการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และลดภาระงบประมาณ เชื่อว่าเอกชนยินดีช่วยเหลือ อาทิ การนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนรวมดีขึ้น

⦁เล่าถึงโครงการปลูกต้นไม้ร่วมกัน?

ชัชชาติ : ของเรามีเคสการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น คือสมบัติของเมือง แก้ปัญหา PM2.5 และโลกร้อนก็ต้องมาจากต้นไม้ ไทยไม่แพ้สิงคโปร์แน่ๆ ตอนแรกไม่คิดว่าทำได้ วันนั้นไปวิ่งที่สวน ไปถามน้องรุกขกรว่าทำได้ไหม คุยกันแล้ว ปตท.ให้มา 100,000 ต้น แสนสิริ 100,000 ต้น สภาอุตสาหกรรม 100,000 ต้น ต้องบอกว่า 1,000,000 ผมกลัวว่าจะหมดเร็ว ไม่รีบจองเดี๋ยวไม่ได้ปลูก

เราจะใช้แพลตฟอร์ม ทุกต้นที่ปลูกจะมีพิกัด GPS ต้นอะไร ที่ไหน ใครปลูก ทุกต้นจะมีเจ้าของ แนวคิดเราเปลี่ยนวิธีคิด ต้นไม้เป็นสมบัติของเมือง ทุกวันอาทิตย์ให้ลูกปลูก และโตไปกับต้นไม้ ไม่เกิน 20 ล้านบาท ต้นกล้าละ 20 บาท ให้ชาวหนองจอก มีนบุรีช่วย เพาะต้นกล้า เปลี่ยนประเทศได้ เอกชนพร้อมจะช่วย ทุกคนอยากมีส่วนร่วมทำให้เมืองดีขึ้น

กทม.มีเด็ก 270,000 คน คนละ 1 ต้น ก็ได้ 270,000 ต้นแล้ว เราหาที่ให้เขาได้ ต้นไม้ 1 ล้านต้น คือโครงการระยะยาว ยิ่งต้องเริ่มก่อน เพราะใช้เวลานาน มาเป็นผู้ว่าฯ คนชอบถามว่า 100 วันแรกได้อะไร? คำถามอย่างนี้ดีก็จริง คืออยากให้นักการเมืองไปโฟกัสโครงการระยะสั้น แต่ต้องดูลองเทิร์มด้วยว่า ทำไปกี่โครงการ ไม่เริ่มวันนี้ ไม่จบ ทั้งฝุ่น ทั้งรถ EV100 วันแรก โครงการลองเทิร์มที่อาจจะจบในอีก 8-10 ปี ไม่เป็นไร แต่เฟิร์สสเต็ปสำคัญกว่า พอเป็นลองเทิร์มปุ๊บ ในแง่การเมืองมันไม่ค่อยเซ็กซี่ อยากจะได้ผลเร็วๆ 100 วันมีอะไรเป็นรูปธรรม? ต้องทำไปพร้อมกัน ทั้ง Long-term Short-term

เศรษฐา : นโยบายของผู้ว่าฯกทม.ทำให้อากาศบริสุทธิ์ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ผ่านการเริ่มต้นปลูกต้นไม้ โดยมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเดินหน้าทันทีตั้งแต่ตอนนี้ ไปสู่สังคมไร้คาร์บอน ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในอนาคต และใช้เวลาทั้งนั้น อาทิ การใช้โซลาร์รูฟท็อป นายกรัฐมนตรีบินไปญี่ปุ่นเพื่อดึงบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า ซึ่งส่วนนี้ใช้งบประมาณและใช้เวลาในการเห็นดอกเห็นผลทั้งนั้น แต่การปลูกต้นไม้ช่วยได้ทันที ยิ่งปลูกเร็วบ้านเมืองก็ยิ่งน่าอยู่มากเท่านั้น

⦁แนวทางแก้ฝุ่น PM2.5 ที่เรื้อรัง ?

ชัชชาติ : เราไม่มีข้อมูลจริงๆ เรื่อง PM2.5 มีเพียงรายงานล่าสุด ของ AP ว่า PM2.5 มาจากไหน เราจะให้มีโครงการ ‘นักสืบฝุ่น’ มีหน่วยวิจัยต่อเนื่องว่ามาจากไหน มาจากรถ เผาชีวมวล จากต่างจังหวัด โรงงานอุตสาหกรรมเท่าไหร่ ทำเหมือนเมืองจีนที่ลดฝุ่นได้ 40% เขาเปิดข้อมูล มีมาตรการที่น่าสนใจ คือ ฮาร์ดเพาเวอร์ ให้กฎระเบียบบังคับ ใครปล่อยมลพิษต้องจัดการ แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อเปิดข้อมูลเรารู้ว่าใครเป็น Polluter ของสังคม หน่วยงานไหน ประชาชนจะเป็นคนลงโทษเขา การหาเสียงครั้งนี้ ‘เรื่องฝุ่น’ ประชาชนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ พลังซอฟต์เพาเวอร์ จะกระตุ้นแรงยิ่งกว่ากฎหมาย ให้คนต้องปฏิบัติตัวตามนี้

ขั้นแรก เปิดเผยข้อมูล ติดตั้งเซ็นเซอร์เพิ่ม ปัจจุบัน กทม.อาจจะมี 50 จุด ทำเป็น 1,000 จุดได้หรือไม่ ให้เอกชนช่วย ว่ามีฝุ่นตรงไหน เท่าไหร่ มีการทำนายล่วงหน้า ทั้งทิศทางลมและ แรงกดอากาศที่ทำนายฝุ่นได้ เอาเทคโนโลยี เอาความเปิดเผยใส่เข้าไป มีมาตรการที่เข้มข้น เอาจริงเอาจัง ซึ่ง EV คือส่วนหนึ่งในการลดฝุ่น ปรับขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าถ้าเกิดทำแพลนให้ดีในลองเทิร์มแก้ได้แน่

ปัญหาหลักของฝุ่น มี 3 เรื่อง คือ 1.ไม่มีคนศึกษาแน่นอน 2.ปัญหาฤดูกาล ถ้ายอมถูกด่าได้ 5 เดือน เดี๋ยวมันก็หายไป หลายคนก็ทนด่า ไม่ได้ ต้องมีความตั้งใจเชิงการเมือง ยุทธศาสตร์ ที่เอาจริงเอาจัง มีหลายกระทรวงเป็นเจ้าภาพหลัก ความจริงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องเป็นเจ้าภาพหลัก มีวางแผน แต่เป็นแผนที่วางไว้ ไม่ทำ ต้องร่วมกัน ภาคเอกชนต้องช่วยเยอะเหมือนกัน

⦁รถอีวีถ้าจะทำต้องทำยังไงแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม?

เศรษฐา : ผมว่าใน 5 ปีรถสันดาปจะหายไปเยอะมาก รัฐบาลบินไปญี่ปุ่นหารือกันจัดตั้งโรงงานผลิตรถอีวี ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นแจงว่าจะส่งแผนดำเนินการมาให้ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็มีความเป็นห่วงเล็กน้อย เพราะไม่มีความชัดเจน และแน่นอนในรายละเอียด อาทิ ซื้อที่หรือยัง กำลังการผลิต การจ้างงาน หรืออาจเป็นเรื่องภูมิศาสตร์ด้านการเมืองอีกประเด็นหรือไม่ ที่เป็นการกั้นไม่ให้เราไปพัฒนารถอีวีร่วมกับประเทศอื่น เพราะในญี่ปุ่นเรื่องซัพพลายด้านรถอีวียังไม่พร้อมเท่าที่ควร เรามีต้องติดตามรัฐบาลต่อไป

ในมุมของ กทม.เป็นเรื่องการหาโครงสร้างพื้นฐานในการใช้รถอีวี เพราะคนที่ไม่ใช้ในตอนนี้เพราะกังวลเรื่องสถานีชาร์จแบต จึงต้องผลักดันเรื่องนี้ให้ได้ โดยเชื่อว่าการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต หากมีความพร้อมมากเพียงพอ ก็สามารถนำระบบภาษีมาเป็นตัวให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดใจให้คนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นได้ อาทิ หัวชาร์จ จำนวนรถมีเพียงพอ และเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว การใช้พลังงานอย่างน้ำมัน ก็อาจเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บภาษีมากขึ้นได้ เพราะถือเป็นตัวสร้างมลพิษเพิ่ม

ชัชชาติ : ผมเคยใช้รถหาเสียง เป็นรถอีวี รู้เลยว่าไปแถวหนองจอก มีนบุรี ไม่ต้องเอาไปเพราะไม่มีที่ชาร์จ ระบบนิเวศอีโค่ซิสเตมส์ กทม.ต้องช่วยเตรียมเหมือนกัน แม้กทม.มีข้อจำกัดเก็บภาษีไม่ได้ แต่อย่างน้อยตัวเราเองต้องปรับ เช่น มอเตอร์ไซค์ มีจำนวนมาก Polluter pays principle (PPP) คนที่ทำมลภาวะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม

⦁ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว?

ชัชชาติ : เป็นปัญหาใหญ่ที่ร่วม 1 เดือนต้องอ่านเอกสารจนตาลาย เพราะมีเยอะและซับซ้อน รถไฟฟ้าสายสีเขียว มี 3 ส่วน คือ ไข่แดงตรงกลาง ที่เอกชนได้สัมปทานไป หมดปี 2572 มีส่วนต่อขยาย 1 ที่ กทม.ลงทุน เก็บ 15 บาท ต่อไปอ่อนนุช-ตากสิน ปัญหาต่อมา คือส่วนขยาย 2 จากจตุจักรไปถึงคูคต และจากอ่อนนุช ไปถึงปากน้ำ เราก็รับหนี้เข้ามา เดินรถแล้ว ต้องจ้างเอกชนเดินรถอยู่ดี เป็นหนี้หลายพันล้านเหมือนกัน ทั้ง 3 ส่วนนี้มีปัญหานิดหน่อย

ปี 2572 แทนที่สัมปทานหมดแล้ว จะได้ทุกอย่างกลับมา เพราะส่วนต่อขยาย 1-2 เราลงทุน ปรากฏว่าดันมีคนไปจ้างเดินรถต่อ ถึงปี 2585 อีก 13 ปี จึงมี 2 ส่วน หลังปี 2562 รายได้เป็นของเราหมด แต่ต้องจ่ายค่าเดินรถ ถ้าจ้างแพง เราต้องเก็บไม่ให้ขาดทุน ถ้าจ้างสูง ค่าโดยสารลดไม่ได้ ยกเว้นยอมขาดทุน ต้องดูว่าสัญญาเป็นธรรมแค่ไหน ต้องดูหลายส่วน ได้อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ มาช่วย ดีขึ้นเยอะ ต้องดู 2 ส่วน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และเป็นธรรมกับเอกชนด้วย เพราะเป็นสัญญา คงมีการแถลงรายเอียด อีกไม่นานนี้

⦁ตอนเป็น รมว.คมนาคม เคยพูดว่าปัญหาใหญ่ของ กทม.คือรถเมล์ เราแก้ปัญหารถเมล์ได้หรือไม่ ?

ชัชชาติ : รถเมล์เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นตัวเชื่อมโยงไปถึงบ้าน ความจริงแล้ว กทม.เดินรถเมล์ได้ ขอ ขสมก. กทม.จะพยายามเดินรถเสริมบางจุดในราคาที่เหมาะสม เป็นเส้นเลือดฝอย ไม่ต้องมีรถไฟฟ้าก็ได้ เชื่อมจุดต่างๆ ที่ไม่มีรถเมล์วิ่ง เช่น ถ.ร่มเกล้า ถ.ราชพฤกษ์ ซึ่ง กทม.มีแผนอยู่แล้ว

⦁ผู้ว่าฯกทม.ไลฟ์สดตลอดเวลา มองว่าเป็นการพีอาร์มากเกินไปหรือไม่ ?

ชัชชาติ : ตอนที่เราทำแคมเปญเลือกตั้ง ต้องเข้าถึงคนหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก ผมไปตลาด เด็ก 8-9 ขวบรู้จักชัชชาติหมดเลย ผมถามรู้จักจากไหน ในติ๊กต็อก เอาเราไปใส่ติ๊กต็อก แม่บอกว่า ลูกชายสั่งให้มาเลือก นี่คือซอฟต์เพาเวอร์ของจริง โซเชียลมีเดียมีพลังในการสื่อสาร พอลูกพูด แม่ก็มาดูนโยบายเรา เรามีทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ตัวการ์ตูน มีไลน์ พลังในการสื่อสารสำคัญ ที่เราได้คะแนน ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

ประชาชนสนใจว่าเอาเงินภาษีไปทำอะไร พอเราไลฟ์เขาก็ให้ความสนใจ ไลฟ์ไม่ได้บังคับให้ดู แบบมีทุกช่องหมด ไม่ดูก็ได้ ไม่มีใครบังคับ เป็นทางเลือก บางเรื่องก็เป็นเรื่องไร้สาระ วันนั้นผมไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อ คนดู 4 ล้านกว่าคน คงมีความสุข มันเป็นออปชั่น ไม่ได้บังคับ แต่ผมชอบตรงที่มีฟีดแบ๊ก ทีมงานเก็บฟีตแบ๊กไป มีคนตื่นตี 5 มาวิ่งตาม มันคือพลังบวก ซึ่งมีอันนึงที่ผมอึ้งไปเลย วันอาทิตย์ ไปเดินในสวน มีผู้เด็กหญิงคนนึงบอกว่า หนูเป็นโรคซึมเศร้า หนูดูไลฟ์อาจารย์แล้วมีพลังใช้ชีวิต แค่นี้ผมก็ยอมทุ่มทั้งชีวิตในการไลฟ์แล้ว นี่คือสิ่งที่ให้กำลังใจเรา ไม่ได้แกล้งราชการ บางทีราชการก็ต้องตื่นตัว ผมบอกเสมอ ‘หันหลังให้ผู้ว่าฯหันหน้าให้ประชาชน’

เศรษฐา : ผมมองในแง่บวก เป็นการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนที่เลือกเข้ามาทำงาน ได้รู้ว่าทำอะไรบ้าง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรื่องผลงาน เพราะในภาวะที่งบประมาณมีน้อย ทุกคนลำบาก และมีความคาดหวังสูงกว่า 1.4 ล้านเสียง แตจากการที่เห็นทำงานมาในช่วง 1ดือน ก็รู้สึกโล่งใจแทน เพราะจัดการเรื่องอะไรที่สามารถทำได้ ก็ทำก่อน อาทิ ดนตรีในสวน สายไฟ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ หรือต้องใช้งบประมาณมาก โดยผลไม้ที่อยู่ต่ำๆ ก็เด็ดกินไปก่อน ไม่ต้องปีนขึ้นไปเด็ดผลที่อยู่สูงๆ คือ เอาเรื่องง่ายๆ ที่คนสามารถเข้าใจก่อนว่า เรามีความตั้งใจจริง

⦁ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ต้องเร่งแก้

เศรษฐา : ความหวังและแรงบันดาลใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะชาว กทม. มีหวังและมีแรงบันดาลใจ เพราะได้ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่เข้ามา เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับว่าผู้นำของแต่ละชุมชนเป็นคนที่ให้ความหวังและสร้างแรงบันดาลใจ อีกเรื่อง คือ ส.ว. 250 เสียง เป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกฎ กติกา สร้างความเป็นธรรม และเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องด้วย การที่ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไป ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่มีปัญหาอยู่

อีก 8-9 เดือนข้างหน้า จะต้องมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้ความหวังของประชาชนได้ และอย่างน้อย มีโอกาสได้เลือก แม้จะมี ส.ว. 250 เสียงอยู่ หากมีพรรคการเมืองใดได้เสียงจากฉันทามติจากประชาชนเกิน 250 เสียง ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ว. ที่ต้องดูความต้องการของประชาชนเป็นหลัก แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องในอีก 8-9 เดือนข้างหน้า เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ทำให้เห็นแล้วว่า สร้างความหวังให้เราได้มากขนาดไหน

ปัญหาเผชิญอยู่ทุกวันนี้อย่างหนัก คือ ค่าครองชีพ รัฐบาลยังแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยการอธิบายสาเหตุถึงปัญหายูเครน น้ำมันแพง ทำให้เราต้องอยู่ในภาวะแบบนี้ แต่อย่าลืมว่าประเทศอื่น เขาก็เจอเหมือนกัน ทำให้เงินเฟ้อที่เกิดจากปัญหาน้ำมันแพง รัฐบาลต้องบอกว่า จะแก้ไขปัญหา

อย่างไร การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่านเหตุผลหลายข้อ อาทิ การไหลออกของเม็ดเงินต่างชาติ ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ประชาชนอาจยังไม่เข้าใจ และไม่สนใจด้วย เพราะสนใจแต่ว่า เมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ย รายจ่ายก็เพิ่มขึ้น การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะดีมานด์ หรือความต้องการสูง เกิดจากการใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย ต้องขึ้นดอกเบี้ยมาเบรก แต่อันนี้เป็นการขึ้นเพราะต้นทุนการผลิตสูง ทำให้เมื่อขึ้นดอกเบี้ยแล้วจะยิ่งดันให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอีก รวมถึงค่าครองชีพด้วย เพราะหากดอกเบี้ยขึ้นมาทุกคนแย่หมด ทำให้สิ่งที่รัฐบาลหาคำอธิบายออกมายังไม่ได้แก้ไขจริง สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดคือ ทำอย่างไรถึงจะมีกินมีใช้มากกว่า ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคำนึงมากยิ่งขึ้น

อีกปัจจัยคนส่วนใหญ่ตอนนี้ไม่อยากมีลูก เพราะปัจจัยลบแวดล้อมต่างๆ อาทิ ภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ทำให้คนก็ไม่อยากมีลูก จึงเป็นปัญหาที่น่ากลัวในอนาคต โดยความจริงประเทศไทยมีหลายนโยบายที่ดีและสร้างความหวัง บวกแรงบันดาลใจ แต่อยากให้รัฐบาลมีโรดแมปที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพื่อให้คนไทยมีความหวัง สามารถวัดผลได้ เพราะหากไม่มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เราจะสามารถวัดผลได้อย่างไร ไม่ใช่มาสร้างภาพหลอกๆ กันไป และหวังว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ

ไทยถือเป็นประเทศเล็กๆ จึงเลือกข้างไม่ได้ ต้องสร้างสมดุล เรื่องการลงทุนพึ่งพาประเทศใดประเทศเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพาหลายประเทศ ไม่ใช่เพียงจีน หรือสหรัฐเท่านั้น ทำให้ผู้นำต้องออกไปพบเจอและเจรจาสร้างความชัดเจน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการให้ความหวังและสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากผู้ว่าฯกทม. เป็นเรื่องของความตั้งใจในการทำมากกว่า ไม่ใช่มัวแต่กลัว หรือขึ้นอยู่กับการใช้ภาษาอังกฤษได้เท่านั้น เปรียบเทียบไทยกับสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่เป็นเกาะขนาดเล็กๆ กับไทยที่มีแผนในหลายด้าน แต่มีรายละเอียดอีกเยอะมากที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่เข้ามา อาทิ ภาษีส่วนบุคคล การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจำเป็นมากที่ต้องทำให้เกิดขึ้น

ภาคการท่องเที่ยวช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เราพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวสูงมาก กว่า 20% ของจีดีพี คาดว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 7-10 ล้านคน โดยที่แรกที่ต่างชาติจะเข้ามาเป็นกรุงเทพฯ และผู้ว่าฯกทม. ก็ให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ในแง่ของภาพใหญ่ เราก็ต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีน ต้องเตรียมพร้อมให้เอื้อให้เข้ามาท่องเที่ยว เมื่อจีนเปิดประเทศเต็มที่แล้ว อาทิ วีซ่า หากมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ก็จะสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้ประเทศมีความน่าอยู่มากกว่านี้

สุดท้ายที่ฝากไว้คือ การบริหารบนความคาดหวังสูง เป็นเรื่องสำคัญ หากรู้จักใช้ภาคเอกชนให้เป็นประโยชน์ จะเป็นกำลังขับเคลื่อน มีภูมิต้านทานที่สำคัญ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้นำคนต่อไป ในการนำความหวังและแรงบันดาลใจกลับมาได้

ชัชชาติ : ปัญหาบ้านเรา มีความขัดแย้งเยอะ แบ่งเป็นฝักฝ่าย ใช้อารมณ์ มีคนได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้ง ถ้าเราหันหน้าเข้าหากัน ใช้เหตุผลมากขึ้น เราไปได้ เมืองไทยถ้าทำให้ดี มีโอกาสไม่น้อยกว่าที่ใดในโลก ถ้าเราคิดเป็นลองเทิร์มจะไปได้ ถ้าเรารวมเป็นหนึ่ง จะมีพลังมาก ถ้ารวมพลังงกันได้ เราจะเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ได้ในอนาคต ด้านการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ลุยกับนักท่องเที่ยวอินเดียก่อน ผู้บริหารต้องปรับตัวให้ทัน เห็นข่าวต้องเอ๊ะบ้าง อย่าไปอืออย่างเดียว ต้องคิดต่อ ว่าจะสร้างโอกาสได้อย่างไร ผมว่ามีโอกาสเยอะแยะถ้าเราตั้งใจมอง

⦁เคยเสียดายรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 ล้านล้านหรือไม่ ?

ชัชชาติ : ผมว่าอดีตคืออดีต บทเรียนคือ “เวลามีค่า” ถนนลูกรังคือเครื่องชี้ความเจริญของประเทศ จะค่อยๆ นำความเจริญ ค่อยๆ เปลี่ยน เหมือนอเมริกา พอคนเยอะขึ้นก็เริ่มเปลี่ยน

⦁ทำให้ กทม.น่าอยู่ได้อย่างไร เพื่อให้คนรุ่นใหม่อยากอยู่ต่อ ?

ชัชชาติ : ถามว่าเมืองในอนาคตแข่งกันที่อะไร ไม่ได้แข่งที่รถไฟฟ้า ตึกรามบ้านช่อง แต่แข่งที่เมืองไหนดึงคนเก่งสร้างคนเก่งได้มากกว่ากัน คนเก่งคือคนที่สร้างงาน สร้างธุรกิจต่างๆ อย่างไปอเมริกา คนเก่งไม่ใช่คนอเมริกัน กลายเป็นคนไทย คนจีน คนอินเดียที่เขาดึงดูดไปได้ ถ้าในส่วนของ กทม. ผมว่าเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต ต้องเป็นเมืองที่มีอากาศดี ไม่มีขยะ น้ำเสีย เดินทางสะดวก
ในส่วนของรัฐบาล ก็อาจจะเป็นเมืองที่มีความยุติธรรม ตอบสนองเร็ว ไม่มีทุจริตคอร์รัปชั่น เรียกว่าตัวเลข ที่จะเป็นตัวชี้วัด ของเราก็คือ ‘ก้าวได้ก้าวดี’ ทำเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะคนเก่งมีสิทธิเลือกว่าจะอยู่เมืองไหน ถ้าเป็นเมืองที่มีแต่เรื่อง
ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่มีความโปร่งใส ไม่มีอิสระเสรีภาพ ยากที่จะดึงคนเก่งไว้ หรือจะสร้างคนเก่งขึ้นมา ต้องร่วมมือกัน

แนวคิดคือพยายามเปลี่ยนความคาดหวัง ให้เป็นความร่วมมือ เป็นเพาเวอร์คน เราอยากทำ ‘ทราฟฟี่ ฟองดูว์’ ไปเพื่ออะไร? แทนที่เขาจะคาดหวังจากเรา เปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ไข สิ่งนี้สำคัญ ความคาดหวังมีได้ แต่เปลี่ยนมาเป็นความร่วมมือกัน

เวลาผมไปเจอพี่น้องประชาชนตอนออกไปวิ่ง บอกว่า ‘ฝากกรุงเทพฯด้วย’ ผมบอก ‘ไม่รับฝาก ขอให้มาช่วยกัน’ แค่วินมอ’ไซค์ 6,000 วิน กวาดวินตัวเอง เมืองก็สะอาดขึ้นมหาศาลแล้ว แต่ละร้านดูหน้าร้านให้สะอาด และมีแบบฟอร์มให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image