อธิบดีปศุสัตว์ เผยมาเลเซียยกเลิกห้ามนำเข้า โค-กระบือจากไทย มีผลทันที

อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ระบุ ทางการมาเลเซียได้ประกาศยกเลิกการห้ามนำเข้าโค-กระบือจากไทย ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีผลทันที ทำให้ไทยสามารถส่งออกโค-กระบือ ทั้งโค-กระบือขุนและพ่อแม่พันธุ์ ไปมาเลเซียได้ตามเงื่อนไขและขั้นตอนการนำเข้า

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมาย นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานฝ่ายไทยในการประชุม Special Meeting on Importation of Live Cattle for Slaughter from Thailand to Malaysia (การหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขการรับรองสุขอนามัยสำหรับส่งออกโคมีชีวิตเพื่อเข้าโรงฆ่าจากประเทศไทยไปยังประเทศมาเลเซีย)

โดยมี ดาโต๊ะ ดร.นอร์ลิซาน บิน มูฮัมหมัด นัวร์ (Dato’ Dr.Norlizan Bin Mohd Noor), Director General DVS กรมสัตวแพทย์บริการสหพันธรัฐมาเลเซีย (Department of Veterinary Service: DVS) ประธานฝ่ายมาเลเซีย พร้อมทั้งนายสัตวแพทย์วัชรพล โชติยะปุตตะ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ กรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมม้ากัณฐกะ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ และผ่านระบบการประชุมทางไกล (Google Meet)

ในที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการรับรองสุขอนามัยที่เกี่ยวข้องกับการออกใบรับรองสุขภาพสัตว์ สำหรับส่งออกโคมีชีวิตเพื่อเข้าโรงฆ่าสัตว์จากประเทศไทยไปยังสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหน้าที่ในการกำกับควบคุมดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร มุ่งประสานความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อการต่อยอดองค์ความรู้ของปศุสัตว์ แสวงหาการรับรองและเป็นที่ยอมรับ ในตลาดใหม่ รวมกับบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้า และตามหลักสากล ทั้งนี้ ข้อกำหนดที่มีการปรับใหม่ให้เหมาะสม ได้แก่ การรับรองโรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease: FMD) ว่าสัตว์ที่จะส่งออกต้องเกิดและอยู่ในพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยก่อนการส่งออกไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือไม่มีรายงานการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย ภายในรัศมี 10 กิโลเมตร จากสถานที่เลี้ยงในระยะเวลา 3 เดือน ก่อนเคลื่อนย้าย หรือสัตว์ต้องได้รับการทดสอบโรคปากและเท้าเปื่อยให้ผลเป็นลบก่อนทำการส่งออก 7 วัน

Advertisement

สำหรับการรับรองโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค โรคพาราทูเบอร์คูโลซีส และโรคฉี่หนู (Brucellosis, Tuberculosis, Johne’s disease and Leptospirosis) ไม่ต้องมีการตรวจโรคทางห้องปฏิบัติการ แต่ให้การรับรองรวมกัน ว่าสัตว์ต้องมาจากพื้นที่ที่ได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอโดยกรมปศุสัตว์ และปลอดจากการแสดงอาการของโรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค โรคพาราทูเบอร์คูโลซีส และโรคฉี่หนู เป็นเวลา 6 เดือนจนถึงวันส่งออก ในส่วนของการรับรองการตรวจหาสารเร่งเนื้อแดงได้ทำการตัดข้อความดังกล่าวออก เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายการห้ามใช้สารดังกล่าวอยู่แล้ว

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงเงื่อนไขการนำเข้าโคมีชีวิตเพื่อเข้าโรงฆ่าสัตว์จากไทยไปยังมาเลเซียให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และความร่วมมืออื่นๆในอนาคตระหว่างไทย-มาเลเซีย

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข่าวสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ www.dld.go.th หรือที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 0-63225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image