พีดับบลิวซี แนะจับตา ‘ปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0’ คาดเงินลงทุนพุ่งใน 5 ปีข้างหน้า

น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท พีดับบลิวซี คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงผลสำรวจ Industry 4.0: Building the digital enterprise ที่ทำการสำรวจบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 2,000 รายจาก 9 อุตสาหกรรม ใน 26 ประเทศว่า ปัจจุบันบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกกำลังตื่นตัวในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) โดยเชื่อมเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ากับทุกหน่วยการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ถือเป็นยุคที่มีการบรูณาการระบบนิเวศทางดิจิทัลเข้ากับพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า โดยการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งนี้ คาดว่า จากนี้จนถึงปี 2563 อุตสาหกรรมทั่วโลกจะลงทุนปีละ 907,000 ล้านดอลลาร์เพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

“เราเห็นกระแสการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มรูปแบบจากบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม วันนี้ผู้ประกอบการเน้นไปที่การลงทุนในเทคโนโลยีสำคัญๆ เช่น เซ็นเซอร์ หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อ ซอฟแวร์ และแอปพลิเคชัน เช่น ระบบประมวลผลสถานะและระบบการผลิต รวมไปถึงการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อผลักดันให้องค์เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ โดยบริษัทมากกว่าครึ่งที่ทำการสำรวจคาดหวังว่า จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกลับคืนมาภายใน 2 ปี” น.ส. วิไลพร กล่าว

น.ส.วิไลพร กล่าวต่อว่า ไม่น่าแปลกใจที่หากบริษัททั่วโลกปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้สำเร็จ จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นและช่วยลดต้นทุนจำนวนมหาศาล เพราะยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะและข้อมูลแบบเรียลไทม์มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ทั้งนี้ ความท้าทายของธุรกิจ คือ การขาดการปลูกฝังวัฒนธรรมดิจิทัลภายในองค์กรที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ และ การฝึกอบรม รวมไปถึงการขาดผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยเกือบ 40% ของผู้บริหารที่ทำการสำรวจระบุว่า ยังอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ของพนักงานแต่ละคนเป็นหลัก แทนที่จะจัดตั้งแผนกหรือหน่วยงานขึ้นมาดูแลและทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ความปลอดภัยของข้อมูล ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจ โดย นางสาว วิไลพรกล่าวว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถป้องกันปัญหาการโจรกรรมข้อมูล และช่วยลดผลกระทบต่อระบบปฏิบัติการในองค์กรอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น

Advertisement

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้โมเดลที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ในระยะเวลา 3-5 ปี โดยจะเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตไปสู่ภาคการบริการมากขึ้น ซึ่งหากทำสำเร็จ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศได้อย่างมาก และน่าจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาวอีกด้วย

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สมบูรณ์ รวมทั้งการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเป็นรากฐานในการก้าวไปสู่ยุค 4.0 ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนด้านนี้เป็นจำนวนมหาศาล ด้านผู้ประกอบการไทยเองก็เริ่มตื่นตัวในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการของตนเอง โดยหลายบริษัทเริ่มกันเงินงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนด้านดิจิทัลไว้ด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image