‘ณัฐพล รังสิตพล’ อธิบดีดีพร้อม ชูทางรอดธุรกิจไทย เปิดเซฟโหมด-เข้มแข็งภายใน…วิ่งนำคู่แข่ง!!

“ต้องใช้โอกาสที่ทุกประเทศในโลกกำลังเผชิญปัญหาเท่ากัน

และเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมกัน เริ่มสร้างความเข้มแข็งจากข้างใน

และวิ่งไปข้างหน้าให้ไกลกว่าคู่แข่ง”

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ของแพง ราคาพลังงานพุ่ง โรคระบาดเริ่มคลี่คลายแต่ยังวางใจไม่ได้ ไม่เพียงผู้บริโภคที่กำลังทุกข์ แต่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้เล่นสายป่านสั้นอย่างธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจที่เติบโตก้าวกระโดด(สตาร์ตอัพ) ต่างทุกข์ไม่ต่างกัน “มติชน” สนทนากับ นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานของหัวเรือใหญ่ในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ถึงแผนการขับเคลื่อนในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ธุรกิจรอดพ้นวิกฤตและเดินหน้าต่อไปได้

Advertisement

“ในช่วงครึ่งปีหลัง ธุรกิจไทยจำเป็นต้องเข้มแข็งจากข้างในก้าวไปอย่างดีพร้อม” อธิบดีณัฐพลเปิดประโยคสนทนา พร้อมระบุว่า สถานการณ์ของโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เจอทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุด เริ่มดีขึ้นแต่หลายประเทศในโลกยังไม่สามารถคลี่คลายได้ ต่อมาคือปัญหาเศรษฐกิจจากสงครามรัสเซียและยูเครน จนราคาน้ำมันของโลกและในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด จนต้นทุนค่าขนส่งและราคาสินค้าแพง ทำให้เงินเฟ้อไทยเดือนพฤษภาคม 2565 พุ่งถึง 7.10% สูงสุดในรอบ 13 ปี

ต่อมาในการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% พร้อมทั้งส่งสัญญาณจะขึ้นอีก 1.75% ในสิ้นปีนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่สุดในรอบ 28 ปี โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้มีขึ้นหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นสูงสุด 8.6% ในรอบกว่า 40 ปี

สำหรับในประเทศไทยนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สศช. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จีดีพีจะขยายตัว 2.5-3.5% ปรับลดลงจากเดิมประมาณ3.5-4.5% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)คงเป้าคาดการณ์จีดีพีขยายตัวกรอบ 2.5-4.0% เนื่องจากได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง โดยคาดการณ์นักท่องเที่ยวเข้าไทย 7 ล้านคน

Advertisement

⦁ธุรกิจต้องเข้มแข็งจากภายใน-วิ่งทิ้งห่างคู่แข่ง
อธิบดีณัฐพลระบุถึงมาตรการของภาครัฐว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังเตรียมมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและรักษาสภาพคล่องด้วยการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตพื้นฐาน สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำต่างๆ พร้อมทั้งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะตามมาในเร็วๆ นี้

“ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ต้องใช้โอกาสที่ทุกประเทศในโลกกำลังเผชิญปัญหาเท่ากันและเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจพร้อมกัน เริ่มสร้างความเข้มแข็งจากข้างใน และวิ่งไปข้างหน้าให้ไกลกว่าคู่แข่ง ต้องมั่นใจว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ ผมเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยที่ยืดหยุ่นและปรับตัวมาได้ในทุกวิกฤต เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นมิตรกับทุกประเทศ ทำให้ประเทศยังน่าค้าขาย น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว” อธิบดีณัฐพลระบุ

⦁ชูนโยบาย ดีพร้อม CARE สู้ทุกอุปสรรค
อธิบดีณัฐพลให้ข้อมูลว่า ในปี 2565 ดีพร้อมได้คิดค้นแนวทางขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อม CARE” กับ 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ C = Customization แคร์…ตรงประเด็น นําระบบการตรวจธุรกิจ ไอ-บิสซิเนส เช็กอัพ มาใช้วิเคราะห์ปัญหาในการประกอบการ เชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ชุมชน เพิ่มความหลากหลายของมิติบริการ กําหนดมาตรการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม, A = Accessibility แคร์…ทุกการเข้าถึง เพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ ยกระดับศักยภาพหน่วยงานในภูมิภาค ให้เป็น วัน สต๊อป เซอร์วิส สําหรับผู้ประกอบการในทุกพื้นที่, R = Reformation แคร์…ทุกการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปโครงการในทุกองค์ประกอบให้ดีพร้อม ปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการ/กิจกรรมให้เหมาะสมยุคใหม่เน็กซ์ นอร์มอล และ E = Engagement แคร์…เครือข่ายและพันธมิตร สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยน พัฒนาและแบ่งปันรูปแบบการส่งเสริมธุรกิจ รวมถึงเผยแพร่และขยายผลการดําเนินงานไปยังหน่วยงานอื่น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการไปต่อและเติบโตมั่นคง ดีพร้อมได้กําหนดเป้าหมายในปี 2566-2570 มุ่งเน้นก้าวเดิน 3 ก้าว ประกอบด้วย ก้าวแรก การสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อฟื้นฟูธุรกิจปรับรูปแบบของสถานประกอบการให้บริหารเงินทุน ผลิตภาพ และบริหารธุรกิจอย่างเท่าทันสถานการณ์ ต่อด้วยก้าวกระโดด ส่งเสริมการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประยุกต์ใช้ในธุรกิจผ่านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และก้าวนํา สนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าเป็นธุรกิจชั้นนําในเวทีโลก

นอกจากนี้ ยังมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้ปรับรูปแบบการดําเนินงานสอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก มุ่งเป้าการพัฒนาชุมชนเข้าสู่ยุคชุมชนดีพร้อม หรือ DIPROM Community ให้ชุมชนเข้มแข็ง สร้างรายได้ยั่งยืน จากกลไก 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ประกอบด้วย 1.แผนชุมชนดีพร้อม 2.คนชุมชนดีพร้อม 3.แบรนด์ชุมชนดีพร้อม 4.ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม 5.เครื่องจักรชุมชนดีพร้อม 6.ตลาดชุมชนดีพร้อม และ 7.เงินหมุนเวียนดีพร้อม

⦁แนะเปิดเซฟโหมด 3 ทางรอดเพื่อวิ่งนำคู่แข่ง
สำหรับการสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่กำลังดำเนินธุรกิจในภาวะเผชิญความเสี่ยงรอบด้านนั้น อธิบดีณัฐพลแนะว่า ขั้นแรกต้องเปิด “เซฟโหมด (Safe Mode)” ของธุรกิจ ซึ่งเป็นเครื่องมืออันดีในการช่วยประคองธุรกิจในขณะนี้ ซึ่งรูปแบบในการดำเนินงาน มีดังต่อไปนี้

1.ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ ธุรกิจควรใช้ระยะเวลานี้ วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากบัญชีหรืองบการเงินของธุรกิจ ตรวจสอบมูลค่าสินค้าคงคลัง ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและต้นทุนการขนส่งต่างๆ รวมทั้งบริหารภาระหนี้ให้มีดอกเบี้ยต้ำ เพื่อรักษาเงินสดหรือสภาพคล่องให้มากที่สุด

2.เพิ่มช่องทางการหารายได้ที่หลากหลายที่ใช้ต้นทุนไม่มาก นอกจากปรับช่องทางการตลาดมาเป็นรูปแบบออนไลน์ ควรใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี) นำเอาวัตถุดิบที่เหลือหรือของเสียมาพัฒนาเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนำกลับมาใช้ใหม่ ไม่ให้เกิดของเสียในกระบวนการ เรียกว่า ซีโร เวสต์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ธุรกิจจะแปลงค่าใช้จ่ายเป็นทุนหรือรายได้ขึ้นมาได้

3.ลงทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน หากพอมีเงินลงทุนช่วงนี้ ธุรกิจอาจลดลงทุนความเสี่ยงสูงในตลาดหลักทรัพย์หรือคริปโทเคอร์เรนซี แล้วลงทุนเพิ่มขีดความสามารถแทน เช่น การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ ใช้ไอทีบริหารจัดการ ใช้เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติทดแทนแรงงาน เมื่อมีโอกาส เศรษฐกิจกลับมา ก็พร้อมก้าวกระโดดสู่สนามธุรกิจต่อไป เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักอ้างเสมอว่าตอนเศรษฐกิจดีไม่มีช่วงเวลาพัฒนา พอเศรษฐกิจชะลอลงมามักอ้างต่อว่าไม่มีเงิน

ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่มีธุรกิจและสนใจจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือเป็นสตาร์ตอัพในช่วงนี้ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง แต่ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ของยุคเน็กซ์ นอร์มอล ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ที่การเข้าใจเพน พอยต์ ใหม่ๆ ของลูกค้า มาสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่นำไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงที่โลกไม่มีเชื้อโควิด-19 หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะที่ธุรกิจเดิม ยังหาทางแก้ปัญหารักษาสภาพคล่องในช่วงวิกฤตอยู่ สตาร์ตอัพที่เห็นโอกาส ใช้กลยุทธ์ ปลาเร็ว กินปลาช้า จะเกิดธุรกิจที่เติบโตในอนาคต แต่อย่าลืมว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง อยากให้สตาร์ตอัพวางแผนและสร้างโมเดลธุรกิจที่เฉียบคม ศึกษาพัฒนานวัตกรรมและใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ทดลองตลาดจากเงินทุนเล็กน้อยจนมั่นใจเสียก่อน แล้วค่อยเริ่มลงทุนหรือกู้เงินจำนวนมากเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากการทำธุรกิจ สิ่งที่ได้จากการกู้เงิน คือ การเป็นหนี้ ไม่ได้มีรายได้หรือรายรับทางธุรกิจที่แน่นอนและก้าวกระโดดทันทีอย่างที่ฝันไว้ จำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไป

“สุดท้ายนี้ ถึงแม้วิกฤตเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องสะสมกำลัง สร้างความเข้มแข็งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ส่วนผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่รอคอยและค้นหาโอกาสอยู่ หวังว่าทันทีที่โอกาสหรือเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น นักธุรกิจไทยจะเป็นนักวิ่งชั้นนำที่ดีพร้อม พาเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว” อธิบดีณัฐพลทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image