ไทยป่วน ขาดแรงงาน 1 ล้าน ‘ก่อสร้าง’ ระส่ำขาด 3-4 แสนคน อัดฉีด ‘ค่าแรง-โอที’ จูงใจ

วิกฤตแรงงานขาด 1 ล้านคน ธุรกิจเปิดศึกช่วงชิงข้ามอุตสาหกรรม ‘อสังหา’ อัดฉีด ‘ค่าแรง-โอที’ จูงใจ

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการบริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงทุกภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ยังมีประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนในหลายอุตสาหกรรม คาดว่าจะถึง 1 ล้านคน เป็นปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ในช่วงนั้นเศรษฐกิจยังซบเซา ประกอบกับประเทศไทยจะใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลักทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา เพราะคนไทยไม่ทำงานหนัก ดังนั้น เมื่อแรงงานต่างด้าวกลับประเทศในช่วงโควิด ถึงขณะนี้ยังไม่กลับเข้ามาในระบบมากนัก แม้รัฐบาลจะมีการผ่อนปรนเป็นระยะก็ตาม ทำให้ปัจจุบันเกิดการช่วงชิงแรงงานข้ามอุตสาหกรรม

“ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้างก็ขาดแคลนแรงงานเยอะร่วม 3-4 แสนคน เพราะคนไทยไม่ชอบทำงานหนัก จึงต้องใช้แรงงานต่างด้าวเป็นหลัก และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามอุตสาหกรรมกันมาก เช่น เคยทำงานก่อสร้าง จะไปทำงานโรงงานเพราะสบายและได้เงินดีกว่า หรือเคยทำงานประมงจะย้ายมาทำงานก่อสร้างแทน ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มอีก 20-30% หรือจ่ายเพิ่ม 50-100 บาท/คน/วัน หรือจ่ายโอทีเพิ่มเพื่อให้สร้างเสร็จทันเวลา และโครงการมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น 5-7% นอกจากราคาวัสดุก่อสร้างแล้ว” นายอิสระกล่าว

ส่งแรงงานไปซาอุฯ ยิ่งซ้ำเติมภาคอสังหาฯ

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอย่างหนัก ทำให้ขณะนี้การก่อสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมล่าช้าไป 3.6-4.6 เดือน และเริ่มมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของลูกค้าที่ซื้อคอนโดมิเนียมแล้ว มี 2 แบบ คือ ถ้าซื้อต่อจะขอให้บริษัทจ่ายค่าปรับ และถ้าไม่ซื้อแล้วจะขอเงินคืน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการเจออยู่ในขณะนี้

“แรงงานก่อสร้างวิกฤตมาก เราปรับค่าแรงให้แล้วก็ยังหาแรงงานไม่ได้ ฉะนั้น การที่รัฐบอกว่าส่งแรงงานมีฝีมือไปประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นข่าวร้ายมาซ้ำเติมภาคออสังหาฯ เพราะช่วงโควิดก็ขาดแคลนอยู่แล้ว เพราะแรงงานต่างด้าวกลับประเทศไปยังกลับเข้ามาไม่ได้ เมื่อแรงงานขาด เราก็ต้องขึ้นค่าแรงให้ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ปรับขึ้นให้งานละเฉลี่ย 6-8% เช่น ช่างปูกระเบื้องเพิ่มขึ้นอีกตารางเมตรละ 15 บาท ก็ยังหาช่างไม่ได้เลย เพราะถึงแม้เราจะใช้ระบบพรีคาสท์มาก่อสร้าง แต่ก็ยังต้องการช่างฝีมือขั้นสูงมาเก็บงาน เช่น ช่างทาสี ปูกระเบื้อง เดินสายไฟฟ้า ท่อน้ำประปา ติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์” นางอาภากล่าว

Advertisement

ค่าบ้านจ่อปรับขึ้น ส.ค.นี้ พิษต้นทุนเพิ่มสูง

นางอาภากล่าวว่า ขณะนี้บริษัทมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ทั้งค่าแรงและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งส่งให้ราคาบ้านปรับขึ้นตาม โดยในเดือนสิงหาคมนี้บริษัทจะปรับราคาบ้านและคอนโดมิเนียมทั้งโครงการสร้างเสร็จแล้ว และโครงการสร้างใหม่อีก 2% และหากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกในเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึงรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกภายในปลายปีนี้ จะกระทบต่อต้นทุนและราคาบ้านเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันต้นทุนปรับขึ้นแล้ว 5-10%

น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนทำให้หลายโครงการก่อสร้างล่าช้าก็ต้องง้อผู้รับเหมาให้เร่งงานก่อสร้าง ซึ่งปัญหาแรงงานขาด เป็นผลพวงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปิดแคมป์ช่วงโควิด-19 ระบาด ที่แรงงานกลับบ้านต่างจังหวัดและแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ จนถึงขณะนี้ยังกลับมาในระบบไม่ได้เต็มที่ ทำให้เป็นความยากลำบากของธุรกิจในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image