คิดเห็นแชร์ : เริ่มเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในชาติตะวันตกมากขึ้น

คิดเห็นแชร์ : เริ่มเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในชาติตะวันตกมากขึ้น

คิดเห็นแชร์ : เริ่มเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในชาติตะวันตกมากขึ้น

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย ต่อเนื่องจากวิกฤตเงินเฟ้อในขณะนี้ โดยผมประเมินว่าในปี 2566 มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็น “ภาวะเงินฝืด” หลังจากที่เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สูงผิดปกติในปีนี้ และมีความเสี่ยงที่อาจจะตามมาด้วยสถานการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” หรือ “Recession”

ในบทความ “คิด เห็น แชร์” เดือน พ.ค.2565 ผมเคยเขียนเรื่องความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตามที่นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการนิยามไว้คือ มีอัตราการเติบโตของ GDP ติดลบต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งถือเป็น “การถดถอยเชิงเทคนิค” (Technical Recession) ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นจริงตามที่คาดไว้ โดยในขณะที่ผมเขียนบทความฉบับนี้โมเดลจำลอง GDP Tracker ของเฟด คาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐใน 2Q65 จะชะลอตัวลง -1.2% QoQ เทียบรายปี (ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ก.ค. เฟดจะทำการปรับปรุงโมเดลจำลอง GDP Tracker อีกครั้ง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากตัวเลขข้างต้น แต่คาดว่าจะยังคงชะลอตัวลงเช่นเดิม) อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเต็มตัว แต่เป็นการเริ่มส่งสัญญาณการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ หากเราพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศหลักประเทศอื่นๆ จะพบว่ามีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ยุโรป ซึ่งตัวแปรที่สำคัญคือ อุปทานพลังงานในยุโรป ที่รัสเซียอาจลดการส่งก๊าซให้กับทางยุโรป เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการของทางยุโรปที่มีต่อรัสเซีย โดยฝ่ายวิจัยประเมินหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นจริง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเองก็มีความเสี่ยงที่การกลับมาเปิดประเทศของจีน อาจจะล่าช้าไปกว่าที่คาดการณ์กัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid-19) ของจีนเอง เป็นต้น

Advertisement

ผมประเมินว่า ภาวะเงินเฟ้อ ที่สูงผิดปกติในขณะนี้จะเริ่มชะลอตัวลงในครึ่งปีหลังของปี 2565 และจะชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2566 จนอาจถึงขั้นเกิดภาวะเงินฝืดได้ เนื่องจากราคาพลังงานที่เริ่มชะลอตัวลงในขณะนี้ จะเริ่มส่งผลต่อราคาสินค้าทั้งห่วงโซ่อุปทานทั้งในด้านของต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีผลของฐานราคาในการคำนวณที่ปรับขึ้นมาสูงมากผิดปกติในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 และผลจากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มทยอยลดลง จนถึงขั้นอาจเห็นภาวะเงินฝืด หรือราคาสินค้าทั่วไปปรับลดลงได้ในช่วงกลางๆ ปี 2566 หากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นไปตามที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์

จากสถานการณ์ข้างต้น ผมเชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแท้จริง จะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีข้างหน้าเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากเราอ้างอิงจากโมเดลการพยากรณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่างๆ ในขณะนี้ เริ่มมีการส่งสัญญาณเตือนที่ต้องจับตาดูมากขึ้น อาทิ Yield curve ของสหรัฐ เริ่มมีลักษณะ Inverted yield curve ให้เห็น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond yield) อายุ 2 ปี เริ่มต่ำกว่า Bond yield อายุ 10 ปี อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากโมเดลพยากรณ์ของเฟดสาขานิวยอร์กที่จะใช้ส่วนต่างระหว่างตั๋วเงินคลัง (T-bill) อายุ 3 เดือน เทียบกับ Bond yield อายุ 10 ปี ยังสะท้อนโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าไม่สูงมาก เพียงราว 5.9% อย่างไรก็ดี ผมอยากจะเสนอโมเดลพยากรณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอีกท่านคือ Lawrence Summers ที่ล่าสุดได้เขียนบทความวิชาการร่วมกับ Alex Domash ชื่อ “History Suggests a High Chance of Recession over the Next 24 Months” โดยเป็นการนำข้อมูลตัวแปรต่างๆ ในอดีตมาพยากรณ์โอกาสในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต ซึ่งในบทความนี้พบว่า จากข้อมูลในอดีต บนเงื่อนไขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงราว 8% และอัตราว่างงานที่ต่ำกว่า 4% มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12-24 เดือนข้างหน้า

Advertisement

กลับมาที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสพักฐานในช่วง 1-3 เดือนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้จุดสูงสุดของวัฏจักร และธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะใช้มาตรการทางการเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อ อย่างไรก็ดีหากพักฐานของตลาดหุ้น ถือเป็นโอกาสเข้าซื้อสะสมของนักลงทุนระยะกลาง (3-6 เดือน) แต่สำหรับการลงทุนระยะยาวมากกว่า 6 เดือน นักลงทุนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะในชาติตะวันตกอาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image