ดีพร้อม เซ็น โยโกฮามะ ยกระดับอุตฯไทย ต่อยอดเอสเอ็มอี บูมลงทุน 2 ประเทศ

ดีพร้อม เซ็น โยโกฮามะ ยกระดับอุตฯไทย ต่อยอดเอสเอ็มอี บูมลงทุน 2 ประเทศ

ที่ประเทศญี่ปุ่น ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายยามานากะ ทาเคฮารุ นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามะ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และ เมืองโยโกฮามะ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัคราชทูตประจำกรุงโตเกียว นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาญ ตุลยะเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโสภณ ตันประสิทธิกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ณ ศาลากลางโยโกฮามะ เมืองโยโกฮามะ

 

การลงนาม MOU ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการดำเนินงานผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น และต่อยอดสู่การขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการเสริมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งให้กับหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ

Advertisement

 

สำหรับเมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น (City of Yokohama : COY, Japan) ถือเป็นเมืองท่าที่สำคัญในจังหวัดคานากาวะ และมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทชั้นนำมากมาย จึงทำให้เมืองโยโกฮามะเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการของเมืองอย่างเป็นระบบโดยหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในเมืองโยโกฮามะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

Advertisement

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ในหนังสือแสดงเจตจํานง (Letter of Intent: LOI) และการลงนามบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperate: MOC) กับรัฐบาลท้องถิ่น จำนวน 21 แห่ง 22 ฉบับ รัฐบาลกลาง จำนวน 4 แห่ง 6 ฉบับ และหน่วยงานเอกชน จำนวน 4 แห่ง 4 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงผู้ประกอบการของไทยและญี่ปุ่นให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนมีรากฐานมาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น

 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นมั่นใจว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในยุค Next Normal และพร้อมดึงดูดให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นมาลงทุนขยายฐานการผลิตเพิ่มในไทยต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image