‘บิ๊กตู่’ เซ็นตั้ง กก.เฉพาะกิจ รับมือวิกฤต ศก. แบงก์ห่วงวิกฤตหนี้ 2 ล้านราย อยู่บนปากเหว

‘บิ๊กตู่’ เซ็นตั้งกก.เฉพาะกิจ รับมือวิกฤตศก. เร่งแก้ปัญหาน้ำมัน สินค้าแพง แบงก์ห่วงวิกฤตหนี้ 2 ล้านราย อยู่บนปากเหว

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์วันที่ 19 กรกฎาคมถึงการแก้ไขปัญหาและการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการประชุมสภา ความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อบริหารสถานการณ์และกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า บูรณาการการทำงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งภาคเอกชนและทุกภาคส่วน ให้สามารถแก้ไขและบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถกำกับติดตามและเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้เห็นชอบมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนแผนเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานและอาหาร ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ จะจัดตั้งขึ้นไปพิจารณาเพิ่มเติมให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และเป็นไปตามข้อสังเกตที่ได้จากที่ประชุมโดยเร่งด่วน

แจงทำหน้าที่คล้ายครม.ศก.

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ และคณะอนุกรรมการ เรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นรองประธาน รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ ส่วนคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นอนุกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

Advertisement

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการ ดังกล่าว จะมีลักษณะเดียวกันกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำหน่วยงานทางเศรษฐกิจเข้ามาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผล

กระทบที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การกำหนดแนวทางการบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการและกลไกต่างๆ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งให้มีการกำกับติดตามและประเมินผลด้วย นอกจากนี้ จะจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้กำหนดรายละเอียดและวิธีปฏิบัติตามห้วงเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้ จะมีการเชิญภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการดำเนินการด้วย

เรื่องด่วนราคาพลังงาน-สินค้า

Advertisement

พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า การจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็วและทันเวลา สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลที่คณะอนุกรรมการ จะต้องใช้ฐานข้อมูลเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรวบรวมไว้ และพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประเมิน วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือเรื่องราคาพลังงาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว และคาดว่านายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทางหนึ่งที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้คือการประหยัดพลังงาน ที่จะมีส่วนช่วยได้ทั้งภาพรวมของประเทศและตัวเราเองด้วย

ส.ธนาคารไทยตั้งรับพายุศก.

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการเงินภายใต้ภาวะเศรษฐกิจเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง เงินเฟ้อขยายตัววงกว้าง มองว่าเป็นความท้าทายตั้งแต่วิกฤตโควิดและต่อเนื่องในวิกฤตแทรกซ้อน แบงก์เองก็คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบลูกหนี้ธนาคารกับกิจกรรมของธนาคารในอนาคต ระยะเวลานี้ยังอยู่ในช่วงประคองและสร้างความมั่นคง ยังเป็นความท้าทายต่อเนื่องเหมือนกับพายุลูกแล้วลูกเล่ายังมีอยู่ อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารก็ยังดีอยู่ แต่ก็ต้องประคองลูกหนี้ให้ดี เพราะเมื่อไหร่เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นแบงก์จะติดตามและเฝ้าระวัง แต่ในกระบวนการ ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านจะเกิดการสั่นสะเทือนกับตัวผู้ประกอบการที่อยู่ในระะบบธนาคารพอสมควร สำหรับเงินเฟ้อสูงขึ้นอาจส่งผลให้ลูกหนี้มีความสามารถชำระหนี้น้อยลง เนื่องจากต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นภาวะต้องประคองต่อเนื่อง ต้องเข้าใจว่าบางคนประคองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด ลูกหนี้เขามีความหวังว่าจะฟื้น ก็มีพายุลูกใหม่เข้ามาอีกระลอก ดังนั้น การประคองต้องยาวขึ้น ต้องต่อเนื่องขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารตระหนักเป็นสิ่งที่ระมัดระวัง

ลูกหนี้2ล้านรายยังเสี่ยง

นายผยงกล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ 2 ล้านรายที่อยู่ตรงหน้าผาหนี้เสียก็มีทั้งดีขึ้นและยังอยู่ในช่วงลำบาก เพราะพายุลูกใหม่เข้ามาก็ต้องประคองกันไป แต่ภาพรวมลูกหนี้ที่ยังเสี่ยงก็มีประมาณตัวเลขดังกล่าว เมื่อมองตัวเลขลูกหนี้ในระบบทั้งสเตจ 1 และสเตจ 2 รวมกันในระบบประมาณ 10% ก็เป็นตัวเลขตามไตรมาส 1/2565 ที่มีจำนวนเยอะ จึงเป็นตัวที่ต้องเฝ้าระวังและทำมาตรการต่อเนื่องในสภาวะเปราะบาง ยังมีโอกาสฟื้นตัว ขณะเดียวกันความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ นอกจากนี้จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต สำหรับระบบธนาคารหรือการเงินยังคงมีตัวป้องกัน หรือตัวรองรับเพียงพอ เพราะไทยได้มีสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งมาจนถึงระมัดระวัง และการเพิ่มเรื่องของตราสารทางการเงิน นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Additional Tier 1 (AT1) ในหลายๆ ธนาคาร และ corporate decho ของระบบธนาคารยังอยู่ระดับสูง และสภาพคล่องก็ยังไม่เป็นประเด็นสำคัญ จึงไม่มีข้อกังวลเพียงแต่ประคองระบบในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

บาทอ่อนจ่อแนวต้าน36.80

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทผันผวนและมีความเสี่ยงอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อเหรียญสหรัฐได้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐจะมาจากทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแย่กว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ นอกจากนี้ ปัจจัยต้องระมัดระวังในระยะสั้นคือ ความเสี่ยงทางการจีนอาจใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดและมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อสถานการณ์การระบาดโควิดในไทย อาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติได้ในช่วงนี้
รายงานข่าวจากกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สกุลเงินยูโรอยู่ในทิศทางอ่อนค่าจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว และมีปัจจัยกดดันจากบริษัทก๊าซของรัสเซียเกิดเหตุสุดวิสัยในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติสู่ยุโรป ขณะเดียวกันราคาทองคำปรับตัวขึ้นหลังจากตลาดปรับคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ อีกทั้งราคาเหล็กกับทองแดงปรับตัวสูงขึ้น หลังจากทางจีนส่งสัญญาณว่าจะให้การสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์

‘อาคม’ยันธปท.ดูแลค่าเงินใกล้ชิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทอ่อนค่าใกล้แตะ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังติดตามเรื่องดังกล่าวอยู่อย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีธนาคารกลางเมียนมา ประกาศให้ภาคธุรกิจและผู้กู้รายย่อยระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ ต้องขอประเมินสถานการณ์ก่อนว่าจะมีผบกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร อย่างไรก็ดียืนยันว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแกร่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ธนาคารกลางเมียนมาออกคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศไว้ก่อน เพื่อเป็นมาตรการปกป้องทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลง ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง มีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงมากที่ 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ อันดับที่ 12 ของโลก ถ้าเทียบเงินสำรองต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) มีสัดส่วนสูงถึง 52% คิดเป็นอันดับ 6 ของโลก และหากเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เงินสำรองอยู่ที่ 335% หรือคิดเป็น 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image