‘ศุภชัย’ ลุยปิดดีลควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ย้ำ ทำได้ไม่ขัดกม. ผู้บริโภค-อุตสาหกรรม ได้ประโยชน์

‘ศุภชัย’ ลุยปิดดีลควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ย้ำ ทำได้ไม่ขัดกม. ผู้บริโภค-อุตสาหกรรม ได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าวร่วมกับ นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่า

จากศักยภาพการแข่งขันของทั้ง 2 บริษัทลดน้อยลง และมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น รวมทั้งแลนด์สเคปที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้แข่งขันแค่ในไทยเท่านั้น แต่เป็นการแข่งขันระดับโลก ขณะที่ภาพรวมรายได้ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลดลงทุกราย แต่มีการลงทุนสูงขึ้นจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีจาก 4G เป็น 5G และจาก 5G เป็น 6G ในอนาคต ดังนั้นการควบรวบฯ จะทำให้มีบริการ เทคโนโลยีสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับ OTT ที่ดิสรัปตลาด และอุตสาหกรรม จึงเป็นจุดสำคัญให้พิจารณาเรื่องนี้

สำหรับความคืบหน้าในขั้นตอนของการควบรวมกิจการนั้น ปัจจุบันในส่วนของผู้ถือหุ้นยังคงดำเนินไปตามขั้นตอน ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัทได้ยื่นไฟลิ่งไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะต้องมีการอนุมัติภายใน 90 วัน หรือในเดือนพฤษาคม 2565 แต่ขณะนี้ยังไม่มีได้รับการอนุมัติเงื่อนไขจะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวก

“ตามประกาศประกาศควบรวมปี 2561 การควบรวมสามารถทำได้เลย กสทช.ไม่มีอำนาจในการอนุมัติ มีเพียงอำนาจอนุมัติสร้างเงื่อนไขที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวก ซึ่งหากบริษัทไม่รับเงื่อนไข กสทช.สามารถเอาไปฟ้องร้องศาลปกครอง เพื่อขัดขวางการควบรวบได้ แต่ไม่มีใครอยากไปสู่กระบวนการฟ้องร้อง ดังนั้นเราพร้อมทำงานร่วมกับ กสทช.เพื่อผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุด” นายศุภชัย กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาได้เลื่อนมาระดับหนึ่ง ซึ่งมีการตั้ง กสทช.ใหม่ ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แต่เราอยากจะเห็นว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งในกระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ในเดือนสิงหาคม 2565 เพราะหากล่าช้ามากจะมีผลกระทบต่อตลาดทุนและความมั่นใจของตลาดทุน ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท มีทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงกองทุนระดับโลก ที่รอติดตามอยู่

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าหากเกิดการควบรวบ จะทำให้ค่าบริการปรับตัวสูงขึ้น ทางบริษัทเชื่อว่าตามกลไกตลาด จะไม่ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น เนื่องจากการแข่งขันที่จะสูงขึ้น รวมทั้งมี กสทช. เป็นผู้ควบคุมค่าบริการด้วย ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของจำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้นสูงเกิน 50% ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากแต่ละปีมีลูกค้าข้ามค่ายเกือบ 30% เมื่อรวมแล้วการทับซ้อนจะหายไป ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของจำนวนลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 47-48% ใกล้เคียงกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

“การแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ให้บริการ แต่ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและอ่อนแอของผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการ 1 ราย แข็งแรง แต่อีก 2 ราย อ่อนแอ ไม่ได้แปลว่าการแข่งขันจะดี เชื่อว่าถ้ามีผู้ให้บริการ 2 ราย แข็งแรง จะดีกว่าการมีผู้ให้บริการ 1 ราย แข็งแรง แต่ 2 รายอ่อนแอ” นายศุภชัย กล่าว

Advertisement

นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า บริษัทมีคความพร้อม ไม่ได้เป็นการกดดัน กสทช.แต่อย่างใด ทั้งนี้ อินโดนีเซียและสิงคโปร์ ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสตาร์ตอัพสุขภาพที่ดี แต่ประเทศไทยกลับตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอันดับที่ 11 ของภูมิภาค

ขณะเดียวกัน มีการลงทุนสูงสุดในสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีประมาณ 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2564 แต่ส่วนแบ่งของประเทศไทยอยู่ที่ 3% ในปี 2564 ซึ่งต้องให้ความสำคัญในการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งการควบรวมกิจการ จะช่วยปิดช่องโหว่ในส่วนนี้ได้

โดยบริษัทใหม่จะมีการลงทุนกว่า 7,300 ล้านบาท เพื่อสร้างธุรกิจเงินร่วมลงทุน ที่จะเน้นด้านศูนย์กลางนวัตกรรมที่จะสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการเดินทางสู่การสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับภูมิภาค ด้วยศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image