คิดเห็นแชร์ : อนาคตคริปโตเคอร์เรนซีการล่มสลายหรือโอกาสตุนของดีราคาถูก?

ช่วงเวลาสองเดือนที่ผ่านมาตลาดคริปโตได้มีการยุบตัวลงมากกว่าสามเท่านับจากจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดคริปโตในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (เน้นนะครับ ล้านล้าน) ลงมาอยู่ที่เพียง 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปลายมิถุนายนและต้นกรกฎาคมของปีนี้ ทำให้นักลงทุนเจเนอเรชั่นใหม่ที่มองการเก็งกำไรจากตลาดคริปโตเป็นความหวังอันสดใสและสร้างความมั่นคง และมั่งคั่งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ต่างบาดเจ็บและสูญเสียเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ตามมาด้วยคดีความและมีการเรียกร้องการเข้ามากำกับดูแลจากภาครัฐเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นนี้อีกในอนาคต แต่เมื่อมองในมุมวิวัฒนาการของตลาดคริปโตที่เริ่มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ตอนนั้นตลาดมีขนาดอยู่เพียง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่านั้น อาจเข้าตำราเจ็ดปีอาถรรพ์ที่จะไม่รอดก็ตาย ไม่ตายก็รอด และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาตลาดคริปโตก็ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านการขึ้นๆ ลงๆ ผ่านการถูกสกัดกั้นจากการกำกับดูแลและกีดกันอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานธนาคารกลางของชาติต่างๆ จากวันเหล่านั้นจนเข้าสู่เหตุการณ์วิกฤตในวันนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์ไปในทิศทางต่างๆ ทั้งที่เห็นว่าเป็นการอวสานของตลาดคริปโตที่ถูกสร้างขึ้นมาในความเชื่อที่ไม่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจใดๆ หรืออาจมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะเข้าไปเก็บของดีราคาถูก เพราะวิกฤตครั้งนี้ก็เหมือนวิกฤตหลายๆ ครั้งในตลาดคริปโต เพียงแต่ครั้งนี้รุนแรงกว่าและรวดเร็วกว่า พร้อมความเชื่อมั่นว่าตกแรงตกเร็ว ก็จะพุ่งกลับมาด้วยความแรงและเร็วเป็นทวีคูณ ในบทความนี้ก็จะขอให้มุมมองและการคาดการณ์ในมุมของ
ผู้เขียนต่อตลาด

⦁แนวทางการกำกับดูแลตลาดคริปโต
ปัจจุบันนี้ทั้ง ก.ล.ต. และธนาคารชาติ กำลังการสร้างกฎ กติกา และแนวทางต่อ “การกำกับและการดูแล” สอดคล้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐและประเทศอื่นๆ เพื่อทำให้ตลาดมีความปลอดภัยมากขึ้นต่อนักลงทุน และลดความดึงดูดอาชญากรไซเบอร์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรม ทั้งนี้ การพูดคุยการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลก็ยังคงทำงานต่อไปถึงแม้ว่าจะมีภาวะวิกฤตตลาดคริปโตเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทางการสหรัฐให้ความสนใจปรากฏการณ์การล่มสลายของ Terra-Luna ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่เหรียญ Stablecoin ที่ชื่อว่า TerraUSD (UST) ได้มีการอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐนำมาสู่การร่วมลงของเหรียญ LUNA สร้างความสูญเสียนักลงทุนในเหรียญทั้งสอง และนำไปสู่การตกต่ำของตลาดคริปโตในช่วงสองสามอาทิตย์ต่อมา บริษัทที่เกี่ยวข้องกับคริปโตที่เฟื่องฟูในช่วงปลายปีที่แล้วต่างชะงักงันรวมทั้งการปลดพนักงาน และจำกัดการถอนเงินออกจากบัญชีนักลงทนุน หรือบริษัทบางแห่งเช่น Three Arrows Capital และ Celsius ต่างเข้าสู่กฎเกณฑ์กระบวนการล้มละลาย แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ากำกับดูแลตลาดคริปโตก็ประสบกับปัญหาและอุปสรรคอยู่พอสมควร ด้วยอำนาจที่มีอยู่ในหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต่างยังมีประเด็นข้อสงสัยถึงสิทธิการกำกับดูแล ทำให้การกำกับดูแลที่ยังไม่มีเสถียรภาพพอสมควรในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าในอนาคตก็จะมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องและวิวัฒนาการที่เป็นไปของตลาดคริปโต นอกเหนือจากนี้ถ้ามีการกำกับดูแลที่ดีและยืดหยุ่นเพียงพอจะทำให้การยอมรับเหรียญคริปโตสำหรับเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมต่างๆ ในองค์กรธุรกิจจะมีมากขึ้น เช่น AMC, Paypal และ Square ยอมรับการชำระด้วยเหรียญคริปโต
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่าบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เช่น Amazon ให้ความสนใจในเรื่องนี้โดยมีข่าวลือว่าทางบริษัทกำลังมองหาบุคลากรเขามาดำรงตำแหน่ง “digital currency and blockchain product lead” ดังนั้น การกำกับดูแลที่ดีสร้างความมั่นใจและองค์กรต่างๆ ยอมรับ คริปโต อย่างกว้างขวาง มากกว่าการเป็นการลงทุนเพื่อสร้างการเก็งกำไรอย่างไม่สมเหตุสมผลเพียงอย่างเดียว ย่อมส่งผลถึงความน่าสนใจที่จะดึงดูดนักลงทุนให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

⦁อนาคตของเหรียญ NFT
NFT ที่ย่อมาจาก Non-Fungible token ที่มีการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 แตมีการตื่นตัวอย่างจริงจังก็ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของ Blockchain และ Smart Contract ได้เกิดขึ้นเป็นกระแสหลัก โดย NFT ทำหน้าที่การแสดงความเป็นเจ้าของต่อสินทรัพย์ที่ไม่สามารถทำซ้ำและไม่สามารถแตะต้องได้เช่นงานศิลปะทางดิจิทัลต่างๆ โดย NFT มีความนิยมเนื่องมาจากดารา บุคคลมีชื่อเสียง หรือบริษัทขนาดใหญ่เช่น American Express และ Gucci ให้ความสนใจ โดยตลาด NFT ภายในระยเวลาจากปี 2563 ที่มีขนาดอยู่เพียง 95 ล้านเหรียญ พุ่งขึ้นแตะ 2.5 หมื่นล้านเหรียญในปีถัดมา ซึ่งนำมาซึ่งการโต้เถียงอย่างมากว่า NFT เป็นของจริงหรือเป็นเสียงแค่สินค้าตามกระแสชั่วคราว และในปัจจุบันนี้ตลาด NFT ก็ได้ร่วงหล่นลงมาต่ำกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญแล้ว โดยในเรื่อง NFT นี้ มีหลากมุมมองทั้งการมองว่าเป็นเพียงเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวเป็นฟองสบู่ หรือมองว่าเป็นเรื่องการการนำเทคโนโลยี Blockchain และ Smart Contract มาพัฒนให้เกิดธุรกิจจริงๆ ขึ้น แต่ในส่วนของผู้รังสรรค์ผลงานและศิลปินมองเห็นว่า NFT ที่จะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับพวกเขา ในช่วงที่ผ่านมานักที่เข้าซื้อ NFT จะมีมุมมองทั้งการเก็งกำไรในการลงทุนและเพื่อความสนุกสนานโดยใช้ความชอบส่วนบุคคลเป็นหลัก ในช่วงที่ตลาดคริปโตขาลง NFT จึงโดนมองว่าเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูง และสูงมากกว่าการลงทุนในตลาดคริปโตเสียอีก นักวิเคราะห์หลายคนก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงนี้ไว้ก่อน หรืออาจไปเน้นการลงทุนในเหรียญ Bitcoin หรือ Ethereum ไว้ก่อนจะลงทุนใน NFT

⦁อนาคตของ DEFI
หลายท่านที่มีการศึกษาเรื่องคริปโต ก็จะมีโอกาสผ่านตาคำว่า “DeFi” ที่ย่อมาจาก Decentralized Finance ที่หมายถึงทางเลือกในการใช้บริการทางการเงินในโลกออนไลน์ที่มีเทคโนโลยี Blockchain และเหรียญคริปโตอยู่เป็นเบื้องหลัง โดยมีการนำ “Smart Contract” มาใช้แทนที่การทำสัญญาธุรกรรมที่สถาบันการเงินใช้กันอยู่ในปัจจุบัน การให้บริการธุรกรรมในทุกวันจะถูกกระทำโดยซอฟต์แวร์ ไม่ใช่ธนาคารหรือระบบไอทีของสถาบันการเงิน ดังนั้น DeFi จะมีไม่มีศูนย์กลางในการดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตาม DeFi เพิ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น เสมือนกับการเกิดขึ้นของ WWW ในโลกอินเตอร์เน็ตช่วงเริ่มต้นที่ยังจำเป็นต้องใช้เวลาและการเข้าร่วมผู้ใช้จำนวนมากมาสร้างการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมที่มีอยู่ DeFi ถูกมองว่าจะเป็น Amazon หรือ Google ในโลกแห่งอนาคต ถ้าท่านมีความต้องการในเรื่องที่จะบริหารและจัดการทรัพย์สินด้วยตนเอง มากกว่าที่จะให้ตัวกลางเช่นสถาบันการเงินทำให้การศึกษาและเริ่มลงทุนใน DeFi ทีละเล็กละน้อยนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

Advertisement

บทสรุปเรื่องนี้คงเป็นการยากที่จะคาดเดาอนาคตของตลาดคริปโตและอนุพันธ์ต่างๆ ได้แน่นอนในปัจจุบัน แต่ความแน่นอนที่เกิดขึ้นคือความหลากหลายของมุมมองต่างๆ การเฝ้ามองและฟังอย่างรอบด้านและมีการวิเคราะห์อย่างชาญฉลาด จะทำให้ท่านมีการตัดสินใจลงทุนที่เหมาะสมไม่เสี่ยงเกินไป และไม่เสียโอกาสเท่าที่ควร ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นกับตัวท่านเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image