กทม.รื้อเกณฑ์ ‘ภาษีที่ดินเกษตร’ เก็บ 0.15% ดัดหลัง ‘แลนด์ลอร์ด’ แสร้งปลูกกล้วย มะนาว

กทม.รื้อเกณฑ์ ‘ภาษีที่ดินเกษตร’ เก็บ 0.15% ดัดหลัง ‘แลนด์ลอร์ด’ แสร้งปลูกกล้วย มะนาว

แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทม.จัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกเก็บอัตรา 100% โดยรวมอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ประมาณการไว้ 14,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดอีก 2 เดือนที่เหลือ คือเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2565 จะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้า ล่าสุด ได้ทำหนังสือเตือนให้ประชาชนมาชำระภาษีแล้ว หลังหนังสือแจ้งไปรอบแรกถูกตีกลับมาอยู่มากพอสมควร รวมถึงผู้ที่ยังไม่มาชำระภายในวันที่ 31 กรกฎาคมตามที่กำหนดด้วย

“กทม.จะนำปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินในปีนี้ ไปปรับปรุงสำหรับจัดเก็บในปี 2566 ซึ่งกำลังสำรวจข้อมูลให้ครอบคลุมได้ 100% อย่างเช่น คนไม่มาชำระหรือหนังสือถูกตีกลับ จะใช้แอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วย เพื่อทำการแจ้งเตือนผู้ที่ต้องจ่ายภาษีให้ทราบล่วงหน้า” แหล่งข่าวกล่าว

– หารือ “คลัง” ออกข้อบัญญัติรื้อเกณฑ์ภาษี

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในทางคู่ขนานเพื่อให้การจัดเก็บภาษีที่ดินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ล่าสุด กทม.ทำหนังสือหารือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ถึงกรณีที่ กทม.จะออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อปรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดิน ในส่วนของที่ดินประเภทเกษตรกรรมให้เท่ากับเพดานที่กฎหมายกำหนด 0.15% จากปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 0.01-0.1% จึงทำให้แลนด์ลอร์ดที่มีที่ดินเปล่ากลางเมืองมีราคาสูง ซึ่งตามผังเมืองรวมกำหนดเป็นโซนสีแดงพาณิชยกรรม และยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำออกมาพัฒนาเกษตรกรรม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรม เช่น ปลูกกล้วย มะม่วง มะนาว เพื่อลดภาระด้านภาษีที่ดิน เนื่องจากหากเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตรา 0.3-0.7% ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีที่ดินเปล่ากว่า 1.2 แสนแปลง และมีการนำมาเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นเกษตรกรรมกันมากช่วงที่ผ่านมา

Advertisement

– ดัดหลัง “แลนด์ลอร์ด” พัฒนาไม่ถูกที่ถูกทาง

“เป็นนโยบายท่านผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้นำผังเมืองมาดูว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินถูกต้องหรือไม่ เราเลยมีแนวคิดจะปรับอัตราภาษีใหม่ เพื่อให้เจ้าของที่ดินใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกที่ถูกทางจริงๆ โดยนำร่องที่ดินประเภทเกษตรกรรมก่อน ถ้าทำได้จะทำให้ กทม.จัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น หากมีความชัดเจนจากกระทรวงการคลังว่า กทม.สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว จะขอสภา กทม.ออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่ดินใหม่ต่อไป ยังไม่รู้ว่าจะทันในปี 2566 นี้หรือไม่ เพราะเหลือระยะเวลาแค่ 2 เดือนเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

– ได้เวฟภาษีให้ที่ดิน “ทำสวนสาธารณะ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับนโยบาย “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” ที่ผู้ว่าฯชัชชาติมีแนวคิดให้เอกชนหรือเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินร่วมกับ กทม.ทำเป็นสวนสาธารณะ โดยจะได้รับการงดเว้นการเก็บภาษีที่ดินนั้น ล่าสุด ให้ตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์เพื่อพิจารณา เช่น ระยะเวลาการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการใช้ที่ดินได้กี่ปี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการพัฒนา เนื่องจากหาก กทม.งดเว้นภาษีที่ดินให้เอกชนหรือเจ้าของที่ดินจะทำให้เสียรายได้ไปเช่นกัน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ

“จะเร่งสรุปหลักเกณฑ์ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ทันใช้ในปีงบประมาณ 2566 แนวทางเบื้องต้นต้องกำหนดว่าพื้นที่โซนไหนจะเป็นสวนสาธารณะ ใช้ระยะเวลากี่ปี ใช้ที่ดินกี่ไร่ และ กทม.ต้องใช้งบเท่าไหร่ เพราะที่ดินที่รับมาจะมีค่าใช้จ่าย เช่น รักษาความปลอดภัย ค่าน้ำ ค่าไฟ

โดยอาจจะไม่ต้องใช้ที่ดินทั้งหมดที่เอกชนหรือเจ้าของที่ดินที่นำมาร่วมโครงการ เช่น ที่ดิน 10 ไร่ อาจจะใช้แค่ 2 ไร่ เพื่อ กทม.จะได้เก็บภาษีที่ดินในพื้นที่เหลือ 8 ไร่ได้ เป็นต้น ล่าสุด ทราบว่ามีเอกชนนำที่ดินใจกลางเมืองและนอกเมืองมาเสนอ กทม.มากกว่า 10 แห่ง เช่น เขตวัฒนา ปทุมวัน บางรัก ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา” แหล่งข่าวกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image