อคส.เล็งลงสนามพัฒนา-ต่อยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ ‘กระท่อม’ หวังแข่งอินโดฯ ผลิตป้อนสหรัฐ

แฟ้มภาพ

อคส.เล็งลงสนามพัฒนาและต่อยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ ‘กระท่อม’ หวังแข่งอินโดฯ ผลิตป้อนสหรัฐ

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง นายไรอัน สตีเฟน และ นายดัลลัส วาสเกซ ผู้ก่อตั้งบริษัท มิตรา-นายน์ จำกัด ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กระท่อมจากสหรัฐเข้าพบและหารือถึงความร่วมมือว่า ทางบริษัทได้ขอทราบข้อมูลและทิศทางการพัฒนากระท่อมพืชเศรษฐกิจแห่งโลกอนาคต โดยนายไรอันให้ข้อมูล 4 ด้าน คือการเติบโตของธุรกิจ ประโยชน์ ปัญหาอุปสรรค และโอกาสของตลาดกระท่อม พืชเศรษฐกิจเปลี่ยนโลกในสหรัฐที่ตลาดเครื่องดื่มกระท่อมเติบโตมากกว่า 3 หลักต่อปี ทำให้บริษัทมีการเพิ่มจำนวนผู้แทนจำหน่ายและขยายช่องทางขายต่อเนื่อง

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า กระท่อมสกัดมีประโยชน์ให้ความสดชื่นและอื่นๆ จากประโยชน์จากสาร Mitragynine ที่มีอยู่ในกระท่อม แต่ไม่มีผลข้างเคียงในการเสพติด ซึ่งทางบริษัทระบุต้องชะลอการลงทุนและขยายตลาด เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบคุณภาพ จึงมองว่าไทยมีโอกาสส่งออกแข่งขันกับอินโดนีเซีย ซึ่งส่งออกไปยังตลาดสหรัฐกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี

นายเกรียงศักดิ์กล่าวต่อว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่ อคส.มีอยู่ พบว่า การเพาะปลูกพืชกระท่อมในไทยมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 5 ล้านต้น หากไม่เตรียมตลาดส่งออกไว้รองรับจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งตอนนี้ราคาขายต้นกล้าราคา 90-100 บาทต่อต้น และที่มีการทำสัญญาซื้อ 200-300 บาทต่อกิโลกรัมจากเกษตรกร ซึ่งเป็นราคาที่สามารถขายได้ในประเทศ แต่เป็นราคาไม่สามารถแข่งขันกับอินโดนีเซียได้

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ขณะที่ต้นน้ำคือเกษตรกรพร้อมในการจัดการเพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP และปลายน้ำได้รับการยืนยันจากตลาดสหรัฐ แต่ปัญหาอยู่กลางน้ำที่ต้องมีโรงงานสกัดสารที่ได้มาตรฐาน GMP มีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน และมีงานวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากกระท่อมสามารถสกัดได้ยารักษาเบาหวานและยาลดความดันโลหิต รวมถึงสกัดเป็นมอร์ฟีน ทดแทนการนำเข้า ลดภาระงบประมาณ สร้างศักยภาพการส่งออก และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

Advertisement

“ปัญหาการส่งออกในรูปแบบผงกระท่อมไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากกระท่อมของไทยยังได้ค่าสาร Mitragynine ไม่ถึง 3% ตามความต้องการของตลาด และตรวจสอบรับรองคุณภาพเป็นไปได้ยาก เพื่อแก้ปัญหาส่งออกจึงควรเป็นในรูปแบบของสารสกัด ซึ่งยังมีปัญหาทางเทคนิคเนื่องจากได้สารสกัดเพียง 4% แต่ทางสหรัฐต้องการ 65% ดังนั้น อคส.จึงประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยภาครัฐ เพื่อหาทางออกและส่งเสริมการส่งออก

“จากนั้นก็จะหารือกับบริษัทดังกล่าวต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การส่งออกกระท่อมไปตลาดสหรัฐเป็นในรูปแบบในแง่สารสกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีการสกัดให้ได้ค่าสารมากกว่า 65% รวมถึงงานวิจัยซึ่งได้รับการยอมรับ และยืนยันว่าสารสกัดกระท่อมไม่มีผลอันตรายใดๆ กับสุขภาพของผู้ดื่ม” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวด้วยว่า พร้อมกันนี้ อคส.ประสานความร่วมมือพัฒนางานวิจัยสกัดกระท่อมเชิงการแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และ สวทช. รวมถึงการแก้ปัญหากลางน้ำ พร้อมกับประสานทูตพาณิชย์ เพื่อมอบงานวิจัยดังกล่าวของบริษัท เพื่อเปิดตลาดผ่านบัญชีพิธีสารในกลุ่มประเทศยุโรปและเอเชีย โดยความสนับสนุนจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image