“อาคม” ส่งสัญญาณ ขอความร่วมมือ แบงก์พาณิชย์ ชะลอขึ้นดอกเบี้ย หวั่นกระทบ ศก.ที่กำลังฟื้นตัว

แฟ้มภาพ

“อาคม” ส่งสัญญาณ ขอความร่วมมือ แบงก์พาณิชย์ ชะลอขึ้นดอกเบี้ย หวั่นกระทบ ศก.ที่กำลังฟื้นตัว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า เมื่อนโยบายทางการเงิน โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยนโยบายมีการเคลื่อนไหว ก็ขอให้สื่อสารกับทางธนาคารพาณิชย์ ในส่วนของ สถานบันการเงินของรัฐนั้น กระทรวงการคลัง ก็จะสื่อสารไปถงด้วยเช่นกัน

“ก่อนหน้านี้ก็พูดคุยมาบ้างแล้ว ว่าหากดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ทางสถาบันการเงินของรัฐก็ จะตรึงไว้ให้ได้มาก และนานที่สุด ส่วนธนาคารพาณิชย์ ก็ฝากทางธปท. สื่อสารกับธนาคารพาณิชย์ด้วย” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ระยะเวลาที่ส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไปที่สถาบันการเงินนั้น อาจใช้เวลา 3-6 เดือน ในการปรับตัว ซึ่งสถานบันการเงินต่างๆก็ต้องดูเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจด้วย เพราะถ้าขึ้นเร็วก็อาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว หรือส่งผลให้การขยายสินเชื่อชะลอลง ซึ่งปกติในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

ส่วนเรื่องลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เหลือ 0.125% ต่อปี จากเดิม 0.25% ต่อปีไปจนถึงสิ้นปี 2565 ขณะนี้ยังไม่ถึงกำหนดและมีเวลา เป็นคนละส่วนกับการบริหารเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยเนื่องจากกรณีการนำส่งเงินเข้ากองทุนนั้นยังมีความจำเป็น และกระทรวงการคลังได้ลดการนำส่งเงินลงให้ถึง 2 ปี ส่วนการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าเป็นของเอกชนอาจจะดูเรื่องของกำไรขาดทุน แต่ส่วนของสถานบันการเงินของรัฐ ก็ต้องดูเรื่องตอบรับนโยบายของรัฐบาล และดูแลภาคประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด

Advertisement

นายอาคม กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเท่าไหร่นั้น ยังต้องรอติดตามการแถลงหลังการประชุม กนง. ว่าจะให้น้ำหนักไปที่ปัจจัยใดมากกว่ากัน ระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายของเงินทุน เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐมีความต่างกันมากขึ้น อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกได้ ดังนั้นจึงต้องลดช่องว่างของดอกเบี้ยบ้าง เพื่อรักษาไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน แม้ขณะนี้ ธทป. จะชี้แจงว่าขณะนี้เงินทุนยังไม่ได้ไหลออกมาก และยังมีเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาอยู่ ก็สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงโควิด ไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจ แต่เมื่อโควิดคลี่คลายลง ธุรกิจเริ่มเดินได้ เศรษฐกิจเริ่มเดินได้ เครื่องมือการเงินและการคลัง ก็ต้องกลับมาใช้เครื่องมือในภาวะปกติ เช่น การจัดหารายได้ภาครัฐในการขยายฐานรายได้ การส่งเสริมการส่งออก ส่วนภาคการเงินเครื่องมือที่สำคัญ คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ เครื่องมือก็ต้องทำงาน”นายอาคม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image