สบน.รับต้นทุนเงินกู้เพิ่ม หลังดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมปรับแผน คาดหนี้สาธารณะเหลือ 61.3%

สบน.รับต้นทุนเงินกู้เพิ่ม หลังดอกเบี้ยขาขึ้น พร้อมปรับแผนกู้ระยะยาว คาดสัดส่วนหนี้สาธารณะสิ้นปีงบ 65 เหลือ 61.3% จากจีดีพีขยาย-ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สำหรับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ รอบพิเศษ 2.1 หมื่นล้านนั้น ถือเป็นงวดสุดท้ายของปีงบประมาณ 2565 แล้ว ซึ่งที่จริง สบน.ได้ออกงวดสุดท้ายไปแล้วในเดือนมิถุนายน แต่ที่ออกพิเศษในรอบนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่สามารถซื้อพันธบัตรออมทรัพย์จากรอบที่ผ่านมาได้ซื้ออีกครั้ง และการออกพันธบัตรออมทรัพย์รอบพิเศษนี้ ก็เป็นการกู้เงินตามงบประมาณขาดดุลตามปกติ และเงินที่ได้มาก็จะส่งให้กรมบัญชีกลางจัดสรร ตามความต้องการใช้เงินในแผนงบประมาณขาดดุล

นางแพตริเซียกล่าวว่า ส่วนแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในอนาคต ที่เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น สบน.ก็คงดูอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในช่วงเวลานั้นๆ ที่จะออกตามเกณฑ์มาตรฐานเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลระยะยาวอยู่แล้ว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ก็จะไปสะท้อนที่การฝากเงินในระยะสั้น แต่พันธบัตรของรัฐบาลส่วนใหญ่จะเป็นระยะยาว

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกู้เงินโดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ก็ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน แต่สำหรับพันธบัตรระยะยาวจะกระทบมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งการกู้เงินในอนาคตก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนต้องการสูงขึ้น และถ้าถามว่าจะกระทบไหม ก็ต้องกระทบ แต่จะมีผลกระทบในปีงบประมาณหน้า” นางแพตริเซียกล่าว

นางแพตริเซียกล่าวว่า ขณะที่แผนการบริหารหนี้ในปีงบประมาณ 2566 สบน.ก็ยังคงแผนงานที่จะเปลี่ยนจากการกู้เงินแบบระยะสั้นที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ให้เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่เยอะขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องของดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยง เรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย เพราะในช่วงที่กู้เงินระยะสั้นไปใน 4-5 ปีข้างหน้า ก็คงต้องทยอยปรับทั้งหมด ส่วนเครื่องมือที่จะใช้ คือ เปลี่ยนหนี้สั้นให้เป็นหนี้ยาว แลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) โดยเปลี่ยนให้เป็นรุ่นใหม่ที่อายุยาวขึ้น โดยปีที่ผ่านมา ก็ได้ปรับเปลี่ยนหนี้ไปประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในพอร์ตหนี้สาธารณะปัจจุบัน มีเงินกู้ที่เป็นอัตราดอกเบี้ย คงที่ 82% ส่วนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 18%

Advertisement

นางแพตริเซียกล่าวว่า สำหรับแผนการกู้เงินในปีงบประมาณ 2566 แบ่งเป็น พันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล แบบระยะยาว สัดส่วน 48% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่อยู่ในสัดส่วน 45% ตั๋วเงินคลัง 25% และลดสัดส่วน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ การกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ซึ่งเป็นการกู้แบบระยะสั้นลง เหลือสัดส่วน 14% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 18% ทั้งนี้ วงเงินกู้ในปีงบประมาณ 2566 จะลดลง เนื่องจากไม่มีวงเงินของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินแล้ว ทำให้เหลือแค่การกู้เงินตามงบประมาณขาดดุล

นางแพตริเซียกล่าวว่า นอกจากนี้ สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 61.06% ต่อจีดีพี ส่วนการคาดการณ์สัดส่วนของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 (กันยายน 2565) อยู่ที่ 61.30% ลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อต้นปี 2565 ที่คาดว่าอยู่ 62.69% เนื่องจากขณะนี้จีดีพีไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการกรองและปรับปรุงแผนหนี้ของ สบน.

“ขอเน้นย้ำว่า การก่อหนี้สาธารณะนั้น สบน.ได้ทำอย่างรอบคอบ และระมัดระวังต่อทุกเหตุการณ์ และยืนยันว่าไม่มีการกู้เงินมากองไว้ เพราะการกู้ทุกครั้ง จะทำตามความจำเป็นของการใช้เงินของรัฐบาล และคำนึงถึงต้นทุนที่เหมาะสม ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเป็นแบบค่อยๆ เพิ่มขึ้น และหวังว่าจีดีพีจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” นางแพตริเซียกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image