‘รถไฟ’ หน้ามืดจ่าย ‘ภาษีที่ดิน’ เพิ่ม 10 เท่า อ้อนคลัง-มหาดไทย-กทม.ขอยกเว้น

‘รถไฟ’ หน้ามืดจ่าย ‘ภาษีที่ดิน’ เพิ่ม 10 เท่า อ้อนคลัง-มหาดไทย-กทม.ขอยกเว้น

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกับมติชนว่า จากการที่ในปี 2565 มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 100% ทำให้ รฟท.มีภาระค่าภาษีเพิ่มขึ้นมากถึง 10 เท่า จากเมื่อ 2 ปีก่อนจ่ายเพียง 10% เนื่องจาก รฟท.มีที่ดินทั่วประเทศ จำนวน 234,976 ไร่ แยกการใช้งานเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่เขตทาง พื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ พื้นที่ย่านสถานี พื้นที่บ้านพักและที่ทำการ และพื้นที่ในเชิงพาณิชย์

ซึ่งตามกฎหมายจะยกเว้นภาษีให้เฉพาะส่วนที่เป็นทางรถไฟที่หมายถึงถนนหรือทาง ซึ่งได้วางรางเพื่อการเดินรถไฟ รวมถึงอุโมงค์ สะพาน ทางยกระดับ ห้องระบบอาณัติสัญญาณประจำสถานี ซุ้มเครื่องกั้นถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ ที่ทำการหอสัญญาณ และชานชาลาสถานีเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ผู้โดยสารรอเพื่อขึ้นหรือลงจากรถไฟ ส่วนที่เหลือ อาทิ ที่ทำการสำนักงาน ที่ขายบัตรโดยสาร อาคารซ่อมบำรุง ต้องจ่ายภาษีตามประเภทต่างๆ เช่น ที่ดินอื่นๆและรกร้างว่างเปล่า ในอัตราตั้งแต่ 0.3-0.7%

“ทำหนังสืออุทธรณ์ และหารือกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลกรุงเทพมหานคร (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อขอยกเว้นภาษี เพราะรถไฟเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล ส่วนที่จ่ายไปก่อนหน้านี้จะขอคืนภายหลัง แต่ได้รับการยืนยันว่ายังไงก็ต้องจ่าย เราไม่ได้จะไม่จ่าย เห็นด้วยในส่วนเป็นเชิงพาณิชย์ที่ต้องจ่าย แต่สิ่งปลูกสร้างหรืออื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์น่าจะได้รับการยกเว้น ตอนนี้ที่ดินที่หมดสัญญาเช่าแล้วเราก็ต้องเร่งนำออกมาประมูลหาเอกชนพัฒนา เพื่อบรรเทาภาระ เช่น ที่ดินตลาดคลองสาน 5 ไร่ เพราะอาจจะถูกประเมินเข้าเกณฑ์เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ตามกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมทาง รฟท.จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ตามกฎหมายใหม่ คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องจ่าย ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งในปี 2565 เก็บเต็ม 100% ทาง รฟท.จึงยังไม่มีการมาชำระ โดยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา รฟท.ทำหนังสือถึง กทม.ขอทุเลาและอุทธรณ์ภาษีที่ดินของปี 2565 หลัง กทม.ส่งผลประเมินภาษีเฉพาะพื้นที่ส่วนกลาง เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับหลายเขต ซึ่งมีการประเมินหลายส่วน เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ดินที่ใช้จัดหาประโยชน์ เป็นต้น โดยมียอดรวมที่ต้องชำระ 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ชำระอยู่ที่ 18 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดดังกล่าวยังไม่รวมการประเมินของแต่ละสำนักงานเขต และ กทม.ก็ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติให้ได้เพราะ รฟท.ทำหนังสือมาถึงแบบกระชั้นชิด ใกล้ครบกำหนดเวลาให้ชำระภาษีวันสุดท้าย คือ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ดังนั้น รฟท.จะต้องเสียเบี้ยปรับเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

“รถไฟขอทุเลาการจ่ายภาษี ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯกทม.เป็นคนพิจารณา และขออุทธรณ์ว่ารถไฟเป็นรัฐบาลควรจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินทั้งหมด เนื่องจากเป็นกิจการของรัฐ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังตอบชัดเจนแล้วว่ารถไฟไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้มีแนวโน้มที่ปี 2565 รถไฟจะมีภาระภาษีที่ดินเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นหน่วยงานที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ กทม.มูลค่าราคาที่ดินค่อนข้างสูง เช่น มักกะสัน สถานีแม่น้ำ ตลาดนัดจตุจักร” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image