อมรเทพ เปรียบศก.ไทยขี่หลังเสือ เผชิญทั้งโอกาสและความไม่แน่นอน

อมรเทพ เปรียบศก.ไทยขี่หลังเสือ เผชิญทั้งโอกาสและความไม่แน่นอน

 

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในงานสัมมนาพิเศษถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ในหัวข้อ Perfect Storm เศรษฐกิจโลก…เศรษฐกิจไทย ว่า ประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจไตรมาส 3/2565 เริ่มเห็นแสงรำไร หลังภาคการท่องเที่ยวกลับมากระเตื้องมากขึ้นหลังรัฐผ่อนคลายมาตรการและกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม กลางพายุที่ยังไม่สงบลงไทยต้องเตรียมตั้งรับ 6 ความเสี่ยง อาทิ เงินเฟ้อสูง เงินบาทอ่อน การเมืองไทย ความขัดแย้งในยุโรป สหรัฐถดถอย และจีนล็อกดาวน์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจไทยเผชิญตั้งแต่ช่วงที่ผ่านมา และอาจเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 3/2565 แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนมีผลต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 และช่วงครึ่งหลังปี 2565 ต่อไป

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกโดยได้ปรับมุมมองเศรษฐกิจลงหลังจากเงินเฟ้อสูงรุนแรง หากมองเศรษฐกิจสหรัฐ จากต้นปี 2565 ที่คาดว่าจะเติบโต 4% ถัดไปเมื่อเดือนเมษายนปรับลดลงที่ 3.7% และล่าสุดเดือนกรกฎาคมได้ปรับลดการขยายตัวที่ระดับ 2.3% เป็นการคาดการณ์การขยายตัวทั้งปี 2565 ซึ่งเป็นการประเมินที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะขยายตัวช้าลง แต่การโตช้าอาจเป็นพายุลูกใหม่กำลังก่อตัว แต่ในอีกแง่หนึ่งภาวะดังกล่าวอาจไม่รุนแรงจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐไม่สามารถคุมเงินเฟ้อได้และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอาจจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่คาดว่าสหรัฐจะดำเนินเศรษฐกิจต่อไปได้ท่ามกลางความเสี่ยง

Advertisement

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ประเมินเศรษฐกิจเมื่อต้นปี 2565 ว่าทั้งปีจะสามารถขยายตัวได้ระดับ 4.1% ถัดไปเมื่อเดือนเมษายนปรับลดลงที่ 3.3% และล่าสุดเดือนกรกฎาคมได้ปรับลดการขยายตัวที่ระดับ 2.8% เป็นการคาดการณ์การขยายตัวทั้งปี 2565 อาจเป็นกราฟที่หักหัวลงและอาจเติบโตไม่ถึง 3% แต่มองภาพปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 4% เป็นการประเมินที่เห็นสัญญาณที่มีแสงสว่างในการเติบโต

 

นอกจากนี้ มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานหลังจากขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.75% คงดอกเบี้ยทั้งปี 2565 จากมุมมองที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตขึ้นจากช่วงระบาดโควิด อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน และเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด และกำลังจะฟื้นตัวต่อไป

 

นายอมรเทพกล่าวว่า มองเศรษฐกิจไทยกำลังขี่หลังเสือถึงกลางปีแล้ว และอยู่กลางทางแล้ว มองไปข้างหน้ามีทั้งโอกาสและความไม่แน่นอน ซึ่งต้องมองทั้ง 2 อย่าง โดยโอกาสและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 2565 ผ่าน 5 มุมมองจากตัวอักษร “TIGER” โดยเริ่มจาก TOURISM หรือการท่องเที่ยว เป็นหัวใจสำคัญในการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ หลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวก็เข้ามาท่องเที่ยวในจำนวนที่สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มถึง 10 ล้านคน และปี 2566 มีโอกาสคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20 ล้านคน อย่างไรก็ตาม แม้นักท่องเที่ยวชาวจีนจะหายไป แต่จะมีนักท่องเที่ยวจากฝั่งอาเซียน เอเชียตะวันออก และยุโรปเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมระดับบนขยายตัว เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวมีกำลังใช้จ่าย ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 3 ดาวลงมา หรือการท่องเที่ยวแบบประหยัดมีการฟื้นตัวช้ายังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อเนื่องถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกับผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก

 

สำหรับ I-Inflation เงินเฟ้อเป็นตัวกดดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง หากมองที่ราคาสินค้าที่เป็นผลมาจากปัญหาด้านอุปทานที่ขาดแคลนวัตถุดิบบ้างประเภททำให้การผลิตชะงักลงส่งผลให้ราคาสินค้าแพง อีกทั้งต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น 40% และผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ทั้งหมด จึงต้องอั้นราคาสินค้าไว้และแบกรับต้นทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตัวเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมองปี 2566 อยู่ระดับ 2% แต่ความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่ระดับสูงยังคงมีอยู่ เนื่องจากยังเห็นการส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะมองเรื่องการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่อาจขึ้นช่วงปลายปี 2565 อาจกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยจะมีค่าใช้จ่ายต้นทุนมากขึ้น

 

ทั้งนี้ คาดว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จากระดับ 0.75% ส่งผลให้ปลายปีดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกในปี 2566 อีก 0.25% สู่ระดับ 1.75% มองว่าจะไม่ขึ้นแรงมาก เพราะต้องการประคองเศรษฐกิจไทยในภาวะที่เงินเฟ้อกำลังลดความร้อนแรงลง

 

นายอมรเทพกล่าวว่า สำหรับตัว G-Government การใช้จ่ายภาครัฐไม่ใช่พระเอก เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันจะครบวาระและจะมีการเลือกตั้งใหม่ในอีก 6 เดือน รัฐจึงรักษาอำนาจอย่างจำกัด อาจไม่สามารถอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเริ่มโครงการลงทุนใหม่ อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐลดลง เพราะโครงการลงทุนเดิมเดินหน้าไป ขณะที่เงินโอนให้คนจนยังเดินหน้าต่อ แต่มาตรการกระตุ้นการบริโภคอาจไม่มีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเอกชนรอลุ้นรัฐบาลใหม่ต่างชาติจะรอลุ้นนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลก่อนเข้ามาลงทุนส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงและเสียโอกาสรองรับการย้ายฐานจากจีนหากไม่เร่งเจรจาการค้าเสรีกับหลักหลายประเทศทั้ง FTA และ CPTPP

 

E-Exports คือการส่งออก ปัจจุบันมองว่าหลักที่เป็นพระเอกคือการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากการขยายตัวไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 14% และไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 10% คาดว่าครึ่งหลังปี 2565 จะขยายตัวต่อเนื่อง มองภาพการส่งออกขยายตัวทั้งปี 7% แต่ปี 2566 คาดว่าการส่งออกจะไม่เติบโตได้ดี คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2-3% เนื่องจาก ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศเรื่องของการขาดแคนวัตถุดิบ การขาดแคนชิป ความไม่แน่นอนในตลาดโลกที่ชะลอลงจากกำลังซื้อลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในด้านการส่งออกของไทย

 

ขณะเดียวกันเรื่องของค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากกลางปีนี้ตามความชัดเจนในการขึ้นดอกเบี้ยของไทย การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และโอกาสการลดดอกเบี้ยในปีหน้า ขณะที่ไทยจะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงตามรายได้การท่องเที่ยว และจะเห็นเงินไหลเข้ามาตลาดทุนไทยหลังเศรษฐกิจขยายตัวฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน และคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ระดับ 34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐในช่วงปลายปี 2565 จากปัจจัยราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพ การใช้จ่ายเงินต่างประเทศเริ่มลดลง ประกอบกับความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นและ ธปท.เริ่มขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐเริ่มลดลง เสริมความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

 

สำหรับตัว R-Reverse Globalization กระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกและท่องเที่ยว แม้โลกาภิวัตน์จะเป็นเรื่องดีของเศรษฐกิจไทยเนื่องจากไทยเป็นประเทศเล็กและเป็นประเทศที่เปิดกว้าง ดังนั้น การค้าการลงทุนต้องมีการต้อนรับที่ดีและการส่งออกจะมีโอกาสมากขึ้น หากมองสถานการณ์ปัจจุบันที่จีนมีปัญหากับไต้หวัน รัสเซียมีปัญหากับยูเครน ไทยไม่จำเป็นต้องเลือกข้างต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์โดยเน้นการลงทุนในหลายประเทศ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนอาจส่งผลให้ต้นทุนต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องของ 5G ระหว่างสหรัฐกับจีน

 

โดยประเด็นที่ชวนจับตามอง ปัจจุบันไทยอาจเสียโอกาสในเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูงในจีนที่ไทยต้องการให้บริษัทย้ายฐานการลงทุนในจีนมาไทย แต่ทิศทางการลงทุนอาจไปอยู่ที่ประเทศเวียดนามมากกว่าไทย จึงมีความหวังว่าอาจให้เกิดการย้ายฐานการลงทุน และนักลงทุนพุ่งเป้ามาที่ไทยมากขึ้น ซึ่งไทยต้องเร่งการเจรจา การค้า การลงทุนกับต่างประเทศ จึงจะช่วยให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

 

นายอมรเทพกล่าวว่า สรุปเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2565 ประวัติศาสตร์จะไม่ได้ซ้ำรอยเดิมโดยภาพเศรษฐกิจไทยปี 2560 มีลักษณะคล้ายทุเรียนมองเศรษฐกิจไทยรูปแบบกรอบนอกนุ่มใน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่กรอบข้างนอกมีตัวขับเคลื่อนหลักคือการส่งออก และการท่องเที่ยวยังแข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัว หากมองที่กำลังซื้อระดับล่างไม่ได้ฟื้นตัว รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยยังได้รับผลกระทบอยู่เป็นจำนวนมาก แม้ภาพเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวไม่ทั่วทั้งหมด ดังนั้น หากไม่อยากเห็นเศรษฐกิจซ้ำรอยไทยต้องรักษาการกระจายตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องให้ควบคู่กันไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะโตทุกภาคส่วนไม่ใช่โตแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

 

“อย่างไรก็ตาม หลังจากไทยประเชิญปัญหาที่หลากหลายแต่เชื่อว่าจะสามารถผ่านพายุทุกข์และความไม่แน่นอนต่างๆจากปีนี้ไปสู่ปีหน้าที่สดใสมากขึ้นและคาดว่าเรายังมีโอกาสยิงสายรุ้งหรืออย่างน้อยที่สุดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในช่วงปี 2566”นายอมรเทพกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image