‘อาคม’ ขอรัฐวิสาหกิจ เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน 3.5 แสนล้านบาท หนุนจีดีพีไทยปี’65 โต 3.5%
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจว่า ขอให้เร่งรัดการการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ให้มีการเติบโตในระดับ 3-3.5% ตามเป้าหมาย โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง มีการเบิกจ่ายงบลงทุนแล้วประมาณ 60% ของงบลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่เป้าหมายในเอกสารงบประมาณในปีนี้กำหนดไว้ที่ 95%
“ในแง่งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้น ถือว่าอยู่ในระดับสูงหรือราว 3.5 แสนล้านบาท ถือว่าไม่น้อยหากเทียบกับงบลงทุนของส่วนราชการที่มีประมาณ 6-7 แสนล้านบาท หรือราว 50% แต่ถ้ารวมกันแล้ว จะเท่ากับว่า ภาครัฐมีงบลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเกือบ 1 ล้านล้านบาท ฉะนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะงบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน” นายอาคมกล่าว
นายอาคมกล่าวว่า ทั้งนี้ หากการเบิกจ่ายงบลงทุนมีความล่าช้า เม็ดเงินที่ควรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็จะล่าช้าตามไปด้วย เมื่อเทียบกับเอกชนแล้ว เมื่อเขากู้เงิน ก็จะต้องเร่งรัดการลงทุนให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถหาเงินมาชำระหนี้เงินกู้ได้ ฉะนั้น กรณีของรัฐวิสาหกิจก็เช่นกัน ถ้ายืดเวลาการเบิกจ่ายงบลงทุน เงินที่กู้มาก็จะเป็นต้นทุน และยังเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาด้วย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเร่งรัดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่ รัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง มีสินทรัพย์รวมประมาณ 14.7 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดของจีดีพี ซึ่งในปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 17.6 ล้านล้านบาท ดังนั้น รัฐวิสาหกิจถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญกับประเทศ
สำหรับแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจระหว่างปี 2566-2570 นั้น เป็นแผนฯในภาพรวม แต่มีความชัดเจนในแง่ของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างฟื้นตัว แม้จะฟื้นตัวแบบช้าๆ แต่ต้องการความต่อเนื่อง ดังนั้น จึงฝากไปยังรัฐวิสาหกิจการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่สำคัญของประเทศ
ทั้งนี้ ความคาดหวังต่อรัฐวิสาหกิจนั้น เขากล่าวว่า ขอฝากไว้ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดค่าใช้จ่าย 2.ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โดยนำการวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วย 3.เพิ่มคุณภาพมาตรการการให้บริการแก่ประชาชน 4.สร้างความเท่าเทียมในการให้บริการแก่ประชาชน และ 5.บริหารความเสี่ยงด้านการเงิน โดยเฉพาะในองค์กรที่มีเงินกู้ ขอให้เร่งปรับโครงสร้างเพื่อลดหนี้ขององค์กร นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐวิสาหกิจที่ยังมีผลขาดทุนจำนวน 17 แห่งเร่งแก้ไขปัญหาการขาดทุนด้วย โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี