ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กางแผน ‘บินไทย’เทกออฟ

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กางแผน ‘บินไทย’เทกออฟ

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

กางแผน ‘บินไทย’เทกออฟ

หมายเหตุนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเครือมติชน ถึงความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สถานะทางการเงินของบริษัท แผนทำการบินและธุรกิจต่างๆ ที่ทำให้เกิดรายได้แก่บริษัท

ปักธงอีก 3 ปีเข้าหุ้นเทรด ตลท.

Advertisement

สำหรับผลประกอบการรายได้สุทธิของบริษัทช่วงไตรมาส 2/2565 ที่ผ่านมา ค่อนข้างดูยาก เพราะมีรายการพิเศษเยอะ แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว กำไรสุทธิเป็นบวก หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท ส่วนปี 2565 กำไรสุทธิติดลบ เพราะตัวเลขกำไรสุทธิ มีรายการพิเศษเข้ามาในบัญชี อาทิ เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ จึงทำให้กำไรสุทธิกลับมาเป็นบวก แต่เมื่อมาถึงปี 2565 ได้ปรับโครงสร้างหนี้ไปเยอะแล้ว จึงไม่มีรายได้ในส่วนนี้ รวมถึงยังมีการขาดทุนกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่ว่าไม่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเงิน กล่าวคือไม่มีเงินไหลเข้าหรือไหลออก แต่มาจากหนี้ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าสินค้าที่สูงขึ้น และมีค่าเช่าเครื่องบินที่ต้องจ่ายในอนาคต ซึ่งตามหลักการบัญชีตอนนี้ ต้องมีตีค่า เป็นค่าเงินปัจจุบัน จึงเป็นเหตุผลทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิในปี 2565 ติดลบ

แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่นักวิเคราะห์ใช้ในการวัด คือ ผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (อีบิทด้า) ซึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดว่าตัวชี้วัดของการเงินที่สำคัญคือ อีบิทด้า โดยแผนที่ยื่นขอแก้ไข ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 กำหนดไว้ว่า การที่บริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ หนึ่งในเงื่อนไขคือ อีบิทด้าต้องเกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 2/2565 บริษัทมีอีบิทด้า หลังจากหักค่าเช่าเครื่องบินแล้วยังเป็นบวก หรือประมาณ 168 ล้านบาท ในขณะที่ ไตรมาส 2/2564 อีบิทด้าติดลบ 9,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และคาดว่าตัวเลขในช่วงไตรมาสที่ 3/2565 เชื่อมั่นว่าตัวเลขอีบิทด้าจะยิ่งดี แม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้น

ส่วนในเรื่องของการปรับเพิ่มราคาตั๋วโดยสาร จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าในการขอปรับค่าธรรมเนียมราคาน้ำมัน จะปรับขึ้นไม่ค่อยทันราคาน้ำมันจริง เนื่องจากต้องใช้เวลาในการยื่นเรื่องไปที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พอได้รับอนุญาตแล้ว เราก็สามารถปรับราคาได้เฉพาะตั๋วโดยสารที่ยังไม่ได้ออก ล่าสุดบริษัทได้มีการปรับราคาขึ้นไป เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ปรับได้กับตั๋วที่ยังไม่ได้ออก ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าก็ได้ราคาที่ถูกกว่าเพราะไม่สามารถไปปรับราคาตามหลังได้ เพราะฉะนั้น ค่าธรรมเนียมราคาน้ำมันใหม่จะส่งผลให้รายได้ในเดือนกรกฎาคม 2565 น้อยมาก จึงเป็นเหตุผลที่มั่นใจว่าอีบิทด้า ในไตรมาส 3/2565 ต้องดีกว่าไตรมาส 2/2565 แน่นอน ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนและการดำเนินงาน ที่ยื่นแผนฟื้นฟูใหม่ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

Advertisement

ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าหลังบริษัทได้ยื่นแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เสียงของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะเราไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ความจริงแล้วเจ้าหนี้ที่เรากำหนดให้แปลงหนี้เป็นทุน 24.5% เป็นเจ้าหนี้สถาบันทางการงิน และเจ้าหนี้หุ้นกู้ ซึ่งเป็นผลดีกับเจ้าหนี้ด้วยซ้ำในระยะยาว และเราได้มีการชี้แจงกับเจ้าหนี้มาโดยตลอด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ก็ได้มีการชี้แจงไป และในวันที่ 25 สิงหาคม จะมีการชี้แจ้งครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการลงคะแนนโหวตแผน ในวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยเราหวังว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศาลล้มละลาย มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้ ที่ประกอบด้วย ผู้แทนเจ้าหนี้ที่สำคัญ อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคาร 2 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ และบริษัทประกันภัย ซึ่งในการแก้ไขแผนฟื้นฟูเราก็ได้มีการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการเจ้าหนี้มาโดยตลอด

ส่วนจะออกจากแผนฟื้นฟูได้เมื่อใดนั้น ตามแผนที่ขอปรับปรุงใหม่ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เงื่อนไขการออกจากแผนที่สำคัญ มี 2 เงื่อนไข คือ 1.ทุนกลับมาเป็นบวก ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2567 และ 2.อีบิทด้า ในรอบ 2 เดือน เกิน 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น คาดว่าบริษัทน่าจะออกจากแผนได้ในปี 2568 พร้อมกับนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

เปิดแผนบินรับไฮซีซั่นเที่ยวไทย

สำหรับการคาดการณ์การเดินทางในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 นั้น โดยปกติในช่วงไฮซีซั่นภาพรวมก็ดีอยู่แล้ว โดยตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป สถานการณ์ก็จะดีขึ้นอยู่แล้ว และคิดว่าไฮซีซั่นปี 2565 ก็ไม่น่าจะแตกต่างกับปีก่อน แต่ข้อจำกัดจริงๆ มาจากประเทศปลายทาง ซึ่งยุโรป อินเดีย ปากีสถาน ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ศรีลังกา เราเคยเปิดเที่ยวบินแล้ว แต่ต้องหยุดบินเนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศดังกล่าว เช่นเดียวกับรัสเซีย ที่เราหยุดบินไปเนื่องจากขาดทุน การแข่งขันสูงมาก จึงไม่อยู่ในแผนที่จะกลับไปทำการบิน และหวังว่าญี่ปุ่นจะทยอยผ่อนคลาย ส่วนไต้หวัน เป็นที่น่าเสียดายที่ยังคุมเข้มงวด เช่นเดียวกับฮ่องกง ขณะที่จีน เป็นประเทศที่เปิดเมืองช้าอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งล่าสุดพึ่งกำลังจะยอมให้สายการบินไทยเดินทางเข้าจีน ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ เป็นต้นไป รวมทุกสายการบินสัปดาห์ละ 15 เที่ยวบิน จากเดิมที่ให้แค่ 3 เที่ยวต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ แม้ประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ยังมีการจำกัดจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวบินอยู่ โดยกำหนดให้วันจันทร์ถึงศุกร์ ผู้โดยสารเดินทางได้ไม่เกิน 190 คนต่อลำ และช่วงวันเสาร์ถึงอาทิตย์ ไม่เกิน 160 คนต่อลำ เพราะฉะนั้นขาไปจำนวนผู้โดยสารจะค่อนข้างเต็ม ในแง่ที่สามารถตั้งราคาได้ แต่ขากลับก็จะว่างเยอะเพราะยังไม่ค่อยมีคนกลับออกมา ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าทางญี่ปุ่นจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารต่อลำให้มากขึ้นก็เดิม ก็ได้แต่หวังว่าข่าวเหล่านั้นจะเป็นจริง และปัจจุบันการไปญี่ปุ่นยังสามารถไปได้แต่ต้องขอวีซ่าและไปเป็นกรุ๊ปทัวร์ ข้อจำกัดเรื่องกรุ๊ปทัวร์ก็ยังไม่ได้มีประกาศว่าจะยกเลิก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการเดินทางสูงขึ้นเยอะ

ส่วนการเปิดเส้นทางบินในตะวันออกกลางนั้น ตอนนี้การบินไทยมีเที่ยวบินไปเจดดาห์ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพียงเส้นทางเดียว ส่วนดูไบ ที่เราเคยบินการแข่งขันสูงมากก็ไม่คุ้มที่จะบิน เฉพาะฉะนั้น จึงเปิดเส้นทางการบินในตะวันอกกลางแค่
เจดดาห์ สัปดาห์ละ 4 เที่ยว และมีแผนที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยว ในช่วงปลายปี 2565 นี้ และในช่วงปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566 จะมีการเปิดเส้นทางบินไปยัง ออสโล เพิ่มอีกด้วย

ขณะที่จำนวนผู้โดยสารต่างประเทศ เฉพาะที่เดินทางมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็กลับมาใกล้เคียง และบางเดือนก็สูงกว่าช่วงที่เกิดโควิด-19 แล้ว ส่วนกรณีที่สายการบินต่างชาติยังไม่กลับมาทำการบินมากนัก แต่เราก็ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบิน หรือขนาดเครื่องบินที่จะสามารถบินไปลอนดอนได้ เพราะว่าสนามบินลอนดอนยังจำกัดผู้โดยสาร เนื่องจากตอนนี้เต็มที่แล้ว แม้เราอยากจะขยับเอาเครื่องบินใหญ่ อาทิ โบอิ้ง 916 หรือโบอิ้ง 917 บินไปลอนดอนเที่ยวที่สอง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะได้จำนวนผู้โดยสารบินไปและบินกลับ ในจำนวนเท่าเดิม จึงหวังว่าข้อจำกัดเหล่านี้จะหมดไปในช่วงปลายปี 2565

เตรียมพร้อมทั้งเครื่องบิน-บุคลากร

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในการเช่าเครื่องเพิ่ม เนื่องจากเครื่องที่มีอยู่และกำลังจะขายเป็นเครื่องที่เก่ามาก ตอนนี้ขายโบอิ้ง 777 ไปแล้ว 10 ลำ ส่วนโบอิ้ง 340 ขายไปแล้ว 5 ลำ อีก 4 ลำอยู่ระหว่างการซื้อขาย และได้มีการนำเครื่องบินโบอิ้ง 777 มาบินเพิ่ม 2 ลำ และโบอิ้ง 330 อีก 3 ลำ ที่จะเข้ามาในสนามบินในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 ซึ่งทั้ง 5 ลำที่จะนำกลับเข้ามาบินเป็นเครื่องบินของเราเอง หลังจากนั้น ก็จะมีการเช่าเครื่องบินเพิ่ม เพราะเครื่องบินที่จะขายไม่มีประสิทธิภาพ ใช้น้ำมันมาก ค่าซ่อมแพง จึงได้มีการลงนามสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิ้ง 350 จำนวน 2 ลำ ที่จะนำเข้ามาในเดือนมกราคม 2566 ซึ่งตามแผนฟื้นฟูได้กำหนดไว้ว่าการบินไทยจะมีเครื่องบินลำตัวกว้างเข้ามาในปี 2566 จำนวน 10 ลำ ในจำนวนนี้ เป็นเครื่องบินของการบินไทย 5 ลำ ที่อยู่ระหว่างซ่อมบำรุง หลังไม่ได้ใช้งานยาว 2-3 ปี ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการซ่อมบำรุง 3-4 เดือน โบอิ้ง 350 จำนวน 2 ลำ และอีก 3 ลำ อยากได้เครื่องบินที่เป็นนิวเจเนอเรชั่นที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหาเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูต่อไป

ปัจจุบันฝูงบินของการบินไทยมีจำนวนอยู่ที่ 61 ลำ ที่ทำการบินอยู่แล้ว และอีก 5 ลำ ที่จะกลับเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 และโบอิ้ง 350 อีก 2 ลำ ซึ่งรวมกับสายการบินไทยสมายล์ จะมีฝูงบินรวมกันทั้งหมด 68 ลำ ส่วนเรื่องการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน ปัจจุบันศูนย์ซ่อมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ยังใช้งานอยู่ แต่ที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ไม่มีแล้ว ซึ่งในส่วนของพื้นที่ที่ดอนเมืองเราไม่ได้ต้องการพื้นที่มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะจำนวนเครื่องบินที่จอดดอนเมืองมีจำนวนลดลง จึงหันมาใช้พื้นที่ที่สุวรรณภูมิให้มากขึ้น ส่วนแผนในระยะต่อไป เป็นเรื่องที่จะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เกี่ยวกับเรื่องกิจการซ่อมบำรุง (เอ็มอาร์โอ) ที่สนามบินอู่ตะเภา เพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ดี ในเรื่องของจำนวนบุคลากรในองค์กร ปัจจุบันมีจำนวนอยู่ที่ 14,400 คน จาก 25,900 คน ซึ่งในแผนฟื้นฟูระบุไว้ว่าบริษัทสามารถจ้างพนักงานในทุกแผนกทั้งในไทยและต่างประเทศได้ไม่เกิน 15,000 คน ในสิ้นปี 2565 โดยทุกอย่างก็ยังเป็นไปตามนั้น เพราะฉะนั้น ตำแหน่งที่ว่างอยู่เป็นพวกเอาต์ซอร์สที่ทำงานประจำอยู่ที่สนามบิน เพราะปัจจุบันเริ่มประสบปัญหาคนไม่พอ แต่ความจริงแล้วเราก็ยังสามารถรับพนักงานเพื่อไม่ให้ตัวเลขเกิน 15,000 คน ได้อยู่ หลังจากนี้ต้องเร่งเพิ่มจำนวนพนักงาน เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มากขึ้นในจุดที่ขาดคน โดยเฉพาะการให้บริการภาคพื้นดิน

ส่วนไทยสมายล์ มีการประกาศรับลูกเรือเพิ่มเติมแล้ว เนื่องจากตอนนี้ผู้โดยสารของสายการบินไทยสมายล์ กลับมาอยู่ที่ประมาณ 80% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว แต่ในปีหน้าสายการบินการบินไทย อาจจะต้องรับพนักงานเพิ่ม เพราะในแผนฟื้นฟูไม่ได้ระบุว่าพนักงานจะต้องมีจำนวนแค่ 15,000 คน แต่สามารถเพิ่มจำนวนพนักงานได้ตามความจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเอาต์ซอร์ส อาทิ พนักงานครัว พนักงานคาร์โก้ และพนักงานภาคพื้นดิน ตามความจำเป็นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image