มุมมองวิชาการยุติดีล “SCBX-Bitkub”
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 เกิดข่าวใหญ่ เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ที่เป็นบริษัทย่อยของบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ทำข้อเสนอขอครอบครองหุ้นใน Bitkub หรือบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด คิดเป็นจำนวน 51% รวมเป็นเงินดีลก้อนใหญ่ 17,850 ล้านบาท
นำมาซึ่งความคึกคักในกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทันที ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของราคาเหรียญดิจิทัลคริปโทเคอร์เรนซีชนิดต่างๆ ขณะนั้น ที่อยู่ในช่วง “ขาขึ้น” แบบยกแผง
Bitkub แปรสถานะเป็น “ยูนิคอร์น” ไม่มีใครคิดว่าดีลนี้จะเกิดปัญหาใดๆ กลับเชื่อมั่นว่า Bitkub กระดานเทรดคริปโทฯเบอร์ 1 ของประเทศไทย จะทรงพลังมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
วันที่ 25 สิงหาคม 2565 ดีลล่มโดย SCBX กับ Bitkub ตกลงร่วมกันยกเลิกการเข้าลงทุนในบิทคับ ออนไลน์
ตอนหนึ่งของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ครั้งที่ 15/2565 ระบุว่า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา SCBX และ SCBS ได้ร่วมกันดำเนินการสอบทานธุรกิจ (due diligence) ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง
และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ขายและ Bitkub โดยในระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจ บริษัท และ SCBS ได้เห็นศักยภาพและความสามารถในหลากหลายด้านของกลุ่ม Bitkub และเห็นโอกาสในการร่วมมือพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของ Bitkub ในอีกหลายด้าน
และระบุอีกว่า “การสอบทานธุรกิจจะไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เนื่องจาก Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขายจึงได้ตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้”
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นผ่านรายการวิทยุคลื่น 96.5 ไว้อย่างน่าสนใจว่า ธุรกิจการเงินรวมทั้งธนาคารมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลของเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการเงิน
โดยเฉพาะบล็อกเชน นำมาซึ่งคริปโทฯและดิจิทัลแอสเซตส์ (Digital Assets) เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารแบบดั้งเดิม การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่
“ส่วนหนึ่งเข้าไปลงทุนใน Digital Assets ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่เนื่องจากตลาดคริปโทฯ ช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีสภาวะฟองสบู่แตก เท่าที่ดูในแง่ของคริปโทฯในหลายสกุล มีลักษณะเป็นสินทรัพย์เพื่อการเก็งกำไร ไม่มีปัจจัยพื้นฐานอะไรมารองรับ และมีความเสี่ยง การตัดสินใของ SCBX ในตอนที่เข้าไปซื้อ Bitkub เป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมาก บริษัทใหญ่ก็ต้องรอบคอบ ตอนแรกกะว่าการตรวจสอบจะเสร็จสิ้นช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่การดำเนินการเกิดความล่าช้าออกไป”
รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า “ความล่าช้าก็เป็นการส่งสัญญาณออกมา ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในแวดวงการเงินเริ่มสังหรณ์ใจ มีสัญญาณเกิดขึ้น SCBX จะปิดดีลหรือไม่ ในที่สุดออกมาอย่างที่เห็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หุ้น SCBX ดีดขึ้นแรง ประมาณ 6 บาท ทำให้เห็นว่า นักลงทุนส่วนใหญ่รู้สึกไม่ค่อยบวกมากนักกับการที่ SCBX เข้าไปซื้อหุ้น Bitkub”
“แม้ดีลจะไม่เกิดขึ้น ผมก็ยังคิดว่า Bitkub ยังไปต่อได้ แต่อาจไม่ง่าย เท่ากับที่มีการดีลของกลุ่มทุนธนาคารขนาดใหญ่ จะขยับตัวง่ายกว่า แต่เมื่อไม่มี ก็ต้องเอาใจช่วย Bitkub ต่อไป ก็ต้องดูคุณจิรายุส (จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์) จะดำเนินการอย่างไรต่อไปให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่เคยวางไว้”
รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า การดำเนินการใดที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมทางการเงิน ต้องรอบคอบและรัดกุม ต้องประเมินมูลค่าที่แท้จริงและปัจจัยพื้นฐานให้ดีก่อน
แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะโลกการเงินเปลี่ยนแปลงไปเยอะ การที่ธนาคารไม่ปรับก็มีปัญหาไม่สามารถแข่งขันได้ ธุรกิจดั้งเดิมของธนาคารหลายอย่าง ต่อไปเทคโนโลยีทางการเงินสามารถที่จะมีคู่แข่งเกิดขึ้น ผู้ที่ทำธุรกิจอื่นๆ รวมทั้งกลุ่มโซเชียลมีเดียที่มีฐานสมาชิกมากพอและระบบที่ดีพอสามารถให้บริการทางการเงินได้เช่นกัน
แต่ในหลายประเทศยังมีกฎระเบียบ ไม่อนุญาตให้ทำได้ แต่ถ้าบริการการเงินที่เป็นพื้นฐาน หลายธุรกิจก็ทำกันอยู่แล้ว ทางธนาคารก็ต้องปรับตัว
“ในโลกยุคใหม่ บางธุรกิจเข้ามาให้บริการ บางอย่างหลอมรวมกัน ก็เหมือนธุรกิจโฆษณาสื่อ และโซเชียลที่มาแย่งเม็ดเงินธุรกิจสื่อไปเกือบหมด ต่อไปคนดูทีวีน้อยลง ฟังวิทยุออนแอร์น้อยลง มาเลือกฟังย้อนหลังตามหัวข้อที่สนใจ พฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง แต่ภายใต้การปรับตัว บางทีสำเร็จ บางทีเจออุปสรรค ถือเป็นเรื่องปกติ”
“เรกูเลเตอร์ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ต้องไล่ตามเทคโนโลยีให้ทัน ขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองนักลงทุน กำกับดูแลไม่ให้เกิดปัญหา และไม่สร้างกฎระเบียบที่จะไปขวางพัฒนาการ เราต้องเตรียมความพร้อม มีระบบกฎระเบียบที่มันพร้อม”
“กรณี Zipmex (ซิปเม็กซ์) เห็นอยู่ถึงความหละหลวมของการกำกับดูแลนำไปสู่ปัญหาได้ แล้วธุรกรรมบางอย่างที่ Zipmex ทำ ถ้าไปอยู่สิงคโปร์ ไม่ถึงกับยอมให้ทำได้ในบางธุรกรรม”
“นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมการกำกับดูแลต้องให้ทันนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น อย่าง โจเซฟ ชุมปีเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังมองว่า นวัตกรรมในภาคธุรกิจการเงิน เป็นการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) จะมีคนได้รับผลกระทบถูกทำลายล้างไปจากการเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่”
“หน้าที่ของเรกูเลเตอร์ต้องทำให้ขบวนการเปลี่ยนผ่านเกิดการปรับตัว มีผลกระทบให้น้อยที่สุด ต้องส่งเสริมให้เกิดสิ่งใหม่กับผลการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องให้สิ่งเก่าที่คนยังตั้งตัวไม่ได้ให้ปรับตัว ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
“หลายหน่วยงานต้องทำงานร่วมกัน เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถมีมากสาขาได้ ต้องยุบรวมและเอาคนออก คนที่ออกจะไปไหนก็ต้องดูแล มันเกี่ยวพันกันหมด ในขณะเดียวกันถ้าเอาไปรีสกิล เกี่ยวข้องการจัดทำหลักสูตรการศึกษา ต้องมองทั้งระบบ” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้าย