เริ่มแล้ว! ดีพร้อมตะลุย 22 จว. ฝึกอาชีพเสริม ชาวบ้าน 1.64 หมื่นคน เข้าร่วมคึกคัก

เริ่มแล้ว! ดีพร้อมตะลุย 22 จว. ฝึกอาชีพเสริม ชาวบ้าน 1.64 หมื่นคน เข้าร่วมคึกคัก

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ดีพร้อม พร้อมคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ช่วยประชาชน เสริมทักษะ สร้างอาชีพดีพร้อมด้านการผลิต ผ่านโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรืออาชีพดีพร้อม โดยนำร่องในพื้นที่ทั่วประเทศ 22 จังหวัด 82 จุด ตัวเลขผลการฝึกอบรมสูงถึง 16,400 คน หรือ 200 คนต่อจุด

โดยการลงพื้นที่ช่วยประชาชนดังกล่าว เป็นการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต ประกอบด้วย 2 หลักสูตร ดังนี้ 1 หลักสูตรลดรายจ่าย ได้แก่ การทำน้ำยาล้างจานและการทำสบู่เหลว และ 2 หลักสูตรเพิ่มรายได้ ได้แก่ การทำเหรียญโปรยทาน และการสกรีนกระเป๋าผ้า ซึ่งจะเป็นการลดค่าครองชีพให้กับครอบครัว รวมถึงสามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับชุมชน โดยกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้น ภายใต้ โครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรืออาชีพดีพร้อม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มทักษะการประกอบการธุรกิจให้กับชุมชน ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับศักยภาพชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และอาชีพในชุมชน อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตและมีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

Advertisement

ทั้งนี้ ดีพร้อมได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต ทั้งหมด 82 จุด 22 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ 2 จุด จ.พิจิตร 6 จุด จ.สุโขทัย 5 จุด จ.นครสวรรค์ 2 จุด จ.ลพบุรี 2 จุด กรุงเทพมหานคร 5 จุด จ.สมุทรปราการ 2 จุด จ.สมุทรสาคร 5 จุด จ.ชัยภูมิ 3 จุด จ.อุดรธานี 6 จุด จ.บึงกาฬ 2 จุด จ.ศรีสะเกษ 2 จุด จ.ฉะเชิงเทรา 1 จุด จ.ระยอง  4 จุด จ.ชลบุรี 1 จุด จ.ราชบุรี 2 จุด จ.เพชรบุรี 7 จุด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2 จุด จ.ตรัง 7 จุด จ.ระนอง 2 จุด จ.ภูเก็ต 1 จุด จ.พัทลุง 13 จุด และหลังจากนี้จะขยายการฝึกอบรมไปพื้นที่อื่นจนครบทั้งประเทศต่อไป

สำหรับโครงการพัฒนาอาชีพเสริมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง กรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเพิ่มทักษะและรายได้ให้ชุมชนกว่า 400 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าในการพัฒนาประชาชนกว่า 700,000 ราย และคาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท โดยดำเนินการผ่านรูปแบบหลักสูตรการพัฒนา 4 หลักสูตรหลักๆ ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต หลักสูตรที่ 2 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ หลักสูตรที่ 3 กิจกรรมพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และหลักสูตรที่ 4 กิจกรรมพัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image