นักวิชาการชี้รัฐขาดการวางแผนแก้ปัญหาข้าว-แนะปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับแข่งขันในตลาดโลก

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนา เรื่อง “ปลดล็อคแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างยั่งยืน” ว่า นโยบายข้าวไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตมาโดยตลอดในขณะที่ไม่มีตลาดรองรับที่เพียงพอ จึงทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ราคาข้าวจึงตกต่ำ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ไทยระบายข้าวได้ไม่เกิน 2 ล้านตัน ในขณะที่มีสต็อกข้าวสะสมอยู่ถึง 8 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ปีหลังจากนี้จึงจะระบายได้หมด ดังนั้นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นวันนี้คือการขาดการวางแผน หากจะแก้ปัญหาราคาข้าวได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีการปรับโครงสร้าง เพราะข้าวเป็นสินค้าที่ทดแทนได้ หากไม่มีการปรับโครงสร้าง ไทยจะไม่สามารถยกระดับไปแข่งกับสถานการณ์ตลาดโลกที่มีการแข่งขันกันรุนแรง โดยเฉพาะเวียดนามและอินเดีย

นายอภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า สถานการณ์การแข่งขันในตลาดส่งออกอาเซียน เวียดนามยังได้เปรียบไทยโดยเฉพาะต้นทุนที่มีคาถูกกว่ามาก ดังนั้นจึงต้องมาคิดว่าทำอย่างไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้ จึงมองว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องควรจะต้องจัดให้มีการแบ่งกลุ่มมาตรฐานข้าว โดยใช้อะไมโลสและทูเอพี การวัดคุณภาพแป้ง ความนุ่มและความหอมตามความต้องการผู้บริโภค ความปลอดภัยทางอาหารและตามความต้องการของอุตสาหกรรม เพราะในปัจจุบันมีเพียงการวัดลักษณะข้าว อาทิ ข้าวหัก ข้าวไม่หัก ข้าวใส ข้าวไม่ใส เป็นต้น หากสามารถจัดกลุ่มมาตรฐานตามความต้องการตลาดได้ คาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมแปรรูปข้าวไทยเติบโตขึ้น

นายเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเสราฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาในระยะสั้นในขณะนี้ โดยการเปิดขายข้าวตรงจากชาวนา ผ่านทางช่องออนไลน์อาจจะดูว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มองว่าจะส่งผลดีในระยะยาวคือ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับชาวนามากขึ้น ในอนาคตชาวนาจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เนื่องจากสามารถขายข้าวผ่านกลไกตลาดปกติและสามารถขายตรงผ่านลูกหลานหรือคนรู้จักได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image