ลูกหนี้เฮ! มหกรรมไกล่เกลี่ย คัมแบ๊ก หลังหนี้ครัวเรือนพุ่ง 14.6 ล้านล้าน

แฟ้มภาพ

ลูกหนี้เฮ! มหกรรมไกล่เกลี่ย คัมแบ๊ก หลังหนี้ครัวเรือนพุ่ง 14.6 ล้านล้าน ‘แบงก์ชาติ-คลัง’ ติวเข้ม เพิ่มทักษะ-วินัยการเงิน

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวจัดงานมหกรรมรวมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลัง ที่เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ข้อมูลในไตรมาส 1/2565 อยู่ระดับ 89% ต่อจีดีพี และมีจำนวนหนี้ครัวเรือน 14.6 ล้านล้านบาท

เมื่อย้อนกลับไปช่วงไตรมาส 4/2562 อยู่ระดับ 80% ต่อจีดีพี ไตรมาส 4/2563 อยู่ระดับ 90% ต่อจีดีพี ปัจจุบันยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ เศรษฐกิจไทยกลับมาทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึงประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุด จึงจำเป็นต้องดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ทันเวลา โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่

อย่างไรก็ตาม สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่จำแนกตามประเภทหนี้ โดยหนี้ที่น่าเป็นห่วง อาทิ หนี้บัตรเครดิต 3% และหนี้ส่วนบุคคล 20% เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และมีดอกเบี้ยสูง ขณะที่หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 35% หนี้เพื่อธุรกิจ 18% หนี้รถยนต์/จักรยานยนต์ 12% และหนี้ส่วนบุคคลใต้การกำกับ 5% ยังเป็นหนี้ที่ไม่สร้างความกังวลมากนัก เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องใช้เวลา และต้องพิจารณาแนวทางที่คำนึงถึงผลข้างเคียงต่อลูกหนี้อย่างรอบด้าน

Advertisement

นายรณดล กล่าวว่า การจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์ กระทรวงการคลัง กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงสมาคมสถาบันการเงินต่างๆ และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4 สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ มีสถาบันการเงินตอบรับเข้าร่วมแล้ว 56 ราย และอาจมีมากกว่าจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดงานไกลเกลี่ยหนี้ 3 ครั้งที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 222,164 ราย คิดเป็น 80%

สำหรับการจัดงานแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก จะเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้และยังไม่ได้ความช่วยเหลือกับเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน – 30 พฤศจิกายน จะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 26 กันยายนเป็นต้นไป และระยะที่ 2 เพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ และจะจัดงานมหกรรมสัญจร ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566

นอกจากนี้ ธปท. จะออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อาทิ สร้างหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) ครอบคลุมการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้อย่างถูกจังหวะเพื่อกระตุกพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและประสานการทำงานของทุกภาคส่วนในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้เช่าซื้อลิสซิ่งได้รับความคุ้มครองทางการเงินมากขึ้น ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจนี้เพิ่มเติมอีกด้วย

Advertisement

นายรณดล กล่าวว่า สำหรับช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง ประกอบด้วย 3 ส่วน 1.การแก้หนี้เดิม ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของลูกหนี้แต่ละราย ข้อมูลในโครงการมีการเข้าร่วมโครงการจำนวน 3.89 ล้านบัญชี จำนวนเงิน 2.98 ล้านล้านบาท

2.การเติมเงินใหม่ ผ่านโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 133,245 ราย จำนวนวงเงิน 324,989 ล้านบาท โดยปัจจุบัน ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2565 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 133,245 ราย เป็นวงเงิน 324,989 ล้านบาท

3.การให้คำปรึกษา และการให้ความรู้เพื่อเสริมทักษะทางการเงิน ทั้งผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ของ ธปท. และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีลูกหนี้ขอรับคำปรึกษากว่า 4,500 ราย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยตระหนักรู้ มีทักษะในการบริหารจัดการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image