ค่าเงินบาทเช้านี้ อ่อนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ลุ้นระทึก แตะ 38.20 บาทต่อดอลลาร์

ค่าเงินบาทเช้านี้ อ่อนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์แล้ว ลุ้นระทึก แตะ 38.20 บาทต่อดอลลาร์

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทเช้านี้ทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์แล้ว อยู่ที่ระดับ 38.03 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ James Bullard ที่ยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จนกว่าเฟดจะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจชะลอตัวลงชัดเจนและเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง สอดคล้องกับมุมมองของบรรดานักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่ต่างให้ความเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและยังคงไม่แนะนำให้ผู้เล่นในตลาดเข้าซื้อหุ้นสหรัฐในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่จะปรับตัวลดลง -0.21% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคใหญ่ที่ปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Tesla +2.5%, Nvidia +1.5%, Apple +0.7%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.13% โดยปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงความกังวลปัญหาการเมืองยุโรป หลังพรรคขวาจัดของอิตาลีคว้าชัยการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลี และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปที่ออกมาแย่กว่าคาดอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยแรงขายหุ้นยุโรปนั้นกระจุกตัวในหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน อาทิ Intesa Sanpaolo -2.3%, Santander -1.6% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบบ้าง (Equinor +2.4%, TotalEnergies +1.7%) ขณะเดียวกันหุ้นเทคฯ ที่เผชิญแรงขายหนักหน่วงก็รีบาวด์ขึ้นได้ (Adyen +1.6%, ASML +0.6%)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ตอกย้ำความจำเป็นของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และความผันผวนของตลาดบอนด์ในฝั่งยุโรปจากความกังวลปัญหางบประมาณของรัฐบาลอังกฤษ ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยล่าสุดบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3.95% และมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบระดับ 4.00% ได้ไม่ยาก อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะยิ่งทำให้การกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคตอาจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง

Advertisement

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 114.15 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง และท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ต่างสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำเผชิญแรงขายหลังรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับ 1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวในโซนแนวรับ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นและอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เนื่องจากเราคาดว่า กนง.อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป +0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทว่า อาจมีกรรมการ 1-2 ท่านที่อาจสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า +0.50% ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินบาทจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเศรษฐกิจก็มีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติ รวมถึงนักวิเคราะห์บางส่วนต่างคาดหวังให้ กนง.เร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หาก กนง. ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง หรือ กนง.ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงโอกาสที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

นอกเหนือจากผลการประชุม กนง. ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell (รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Bostic, Bowman และ Daly) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ อาทิ Bullard ได้ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในวันก่อนหน้า (ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผันผวนต่อเนื่อง)

Advertisement

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์ยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเราประเมินว่า มีโอกาสที่ในวันนี้เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 38.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ หาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่เราคาด ในขณะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

นอกจากนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท จากการขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจยังดำเนินต่อไปในช่วงนี้ หลังจากที่ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงหลุดแนวรับสำคัญลงมา (จับตาโซนแนวรับที่ 1,600 จุด ว่าดัชนี SET จะสามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้หรือไม่) ขณะเดียวกัน บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายบอนด์ระยะยาวต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 กว่า 8.4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงมาพอสมควร เมื่อพิจารณาจากดัชนีเงินบาทที่แท้จริง (REER) โดยปัจจุบัน Z-score ของดัชนีเงินบาท REER อยู่ที่ระดับ -1.77 จากข้อมูลในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งปกติเงินบาทมักจะเริ่มแกว่งตัว sideways และพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง เมื่อ Z-Score ใกล้ระดับ -2.0 ทำให้เราประเมินว่า หากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 38.50-38.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าขายทำกำไรของผู้เล่นต่างชาติ (เป้าขายทำกำไร 4%-5% จากจุด break out ที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์)

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.20 บาท/ดอลลาร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image