‘พริ้นซิเพิล’ เผยผู้ป่วยใหม่พุ่ง 30% ชดเชยรายได้กลุ่มป่วยโควิดคลายตัวลง

‘พริ้นซิเพิล’ เผยผู้ป่วยใหม่พุ่ง 30% ชดเชยรายได้กลุ่มป่วยโควิดคลายตัวลง

นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในนามโรงพยาบาล ‘เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์’ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขยายโรงพยาบาล 20 แห่งภายในปี 2567 ยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ขณะเดียวกันผลจากการเร่งขยายศูนย์การเเพทย์และคลินิกเฉพาะทางกว่า 20 แห่ง ด้วยงบลงทุน 700 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนของผู้รับบริการใน    โรคอื่นๆ กลุ่มที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 ขึ้นมาชดเชยรายได้จากกลุ่มโควิด อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในไตรมาสที่ 3/2565 ทิศทางการเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้รับบริการรายวัน สูงขึ้นประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้ป่วยใหม่ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันพุ่งเกือบ 30% จากหลายปัจจัย ขณะที่โควิดแม้มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนบ้าง แต่ยังถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ไม่เกิน 20-25 % ของจำนวนเตียงที่ให้บริการทั้งหมด

นายธานี กล่าวว่า การดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2565 เป็นช่วงหลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมีกลยุทธ์ที่สำคัญในการเปิดรับผู้ป่วยต่างชาติ โดยจัดทัพโรงพยาบาลขับเคลื่อนเชื่อมโยงศักยภาพเครือข่ายของโรงพยาบาลตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำเลที่ตั้งและความต้องการการรับบริการในพื้นที่ อาทิ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (บางนา กม.7) ตั้งแผนกดูแลผู้ป่วยต่างชาติ เน้นให้บริการผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้าน (Fly-in) ตั้งเป้าเป็นด่านหน้ารองรับผู้ป่วยต่างชาติที่เดินทางจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุด ห่างเพียง 20 กิโลเมตร

นายธานี กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็เร่งขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง อาทิ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด และเตรียมตั้งศูนย์ Cath lab (ศูนย์ปฏิบัติการเครื่องฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ) พร้อมให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2565 รวมถึงเตรียมเปิด Elite Ward ยกระดับการให้บริการรักษาพยาบาลและอำนวยความสะดวก รองรับกลุ่มพรีเมี่ยมในย่านบางนา และกรุงเทพฝั่งตะวันออกด้วย โดยได้ตั้งแผนกดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ทั้งที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี ที่มีอัตราการเติบโตของผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางมารักษาในประเทศในรูปแบบ Drive-in ทะลุ 2,000 ราย ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา พร้อมประเมินหลังเปิดประเทศจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจากสปป.ลาว และกัมพูชาในภาพรวมฟื้นตัวราว 15% สะท้อนถึงความโดดเด่นทางการแพทย์ของไทยในฐานะ Medical Hub ระดับภูมิภาค

นายธานี กล่าวว่า การขยายบริการทางการแพทย์ขั้นสูงไปยังโรงพยาบาลในเครือ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่เมืองรองภายใต้ค่าบริการที่สามารถเข้าถึงได้ ย่อมเกิดประโยชน์และเพิ่มทางเลือกในการรับบริการสาธารณสุขให้กับคนในพื้นที่ ส่งผลต่อสัดส่วนของผู้รับบริการในโรคอื่นๆ ในกลุ่มไม่ใช่โควิดขึ้นมาชดเชยรายได้จากกลุ่มโควิดอย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานภาพรวมทั้งธุรกิจโรงพยาบาลและคลินิกในเครือไตรมาสที่ 3/2565 ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image