เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 15 มกราคม ที่อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศ คณะกรรมการร่วมเอกชน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกับสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย 8 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมการประมงนอกน่านไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ แถลงข่าว ชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินการของภาคเอกชนในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) และปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานการประมง
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่เจ้าหน้าที่จากสภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทย ในระหว่างวันที่ 18 -24 มกราคมที่จะถึงนี้ และคาดว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์จะประกาศผลการประเมินการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยนั้น เห็นว่าการดำเนินแก้ไขปัญหาไอยูยูของรัฐบาลและความร่วมมือของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่าน ถือว่ามีความคืบหน้าและมีความรวดเร็วอย่างมาก อาทิ การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานเด็ก และการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน การไม่รับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำจากเรือ หรือแหล่งที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ มีการปนเปื้อนการทำประมงไอยูยู การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการออกมาตรการและการจัดทำเอกสารควบคุมการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ในสินค้าประมงทุกประเภทตั้งแต่อุตสาหกรรมต้น กลางน้ำ ปลายน้ำ และการนำเข้า – ส่งออกสินค้า การร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศในการให้ความรู้กับผู้ประกอบการ และแรงงานในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แรงงาน และพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ จึงคาดว่าผลการประเมินของอียูในครั้งนี้ จะแนวโน้มที่ดีขึ้นที่ไทยอาจถูกปรับลดจากใบเหลืองมาสู่ที่ระดับปกติได้
“หากเป็นเช่นนั้นประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการแก้ไขปัญหาไอยูยูได้รวดเร็วมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่ทั้งนี้ก็มีแนวโน้มที่อียูอาจจะขอขยายเวลาการประเมินผลไปอีก 6 เดือน เพื่อที่จะติดตามความคืบหน้าของผลการแก้ไขปัญหาไอยูยูว่า เกิดผลได้จริงหรือไม่ ซึ่งก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบเสียหายอะไรต่อการทำประมงของไทย “นายพจน์กล่าว
นายพจน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทย ได้รับใบเหลืองจากอียู ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงไทย แต่อย่างใด ซึ่งจากตัวเลขการส่งออกของไทยที่ลดลงนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยที่ไทยได้ใบเหลืองจากอียู แต่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลก ระดับราคาน้ำมันที่ลดลง ซึ่งทำให้ระดับราคาสินค้าประมงลดลงเช่นกันมากกว่า อาทิ การส่งออกทูน่าในช่วงที่ผ่านมา ยังส่งออกในปริมาณเท่าเดิม แต่กลับมีมูลค่าลดลงประมาณ1 เท่า เนื่องจากราคาทูน่าลดลงกว่า 50% นอกจากนี้จากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวและการบริโภคที่ลดลง ก็ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร และอาหารแปรรูป ลดลงเช่นกัน ซึ่งในส่วนของคาดการณ์การส่งออกสินค้าประมงในปี 2559 คาดว่า จะส่งออกกุ้ง น่าขยายตัวได้ที่ 10% ส่วนการส่งออกปลาและปลาหมึก อาจมีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง เนื่องจากประเทศในทวีปอเมริกาใต้มีการส่งออกสินค้านี้เพิ่มมากขึ้น