คลังพร้อมค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมัน ยันไม่เป็นภาระงบประมาณ ‘มติชน’ ลุยสัมมนาทางออกพลังงาน

คลังพร้อมค้ำเงินกู้กองทุนน้ำมัน ยันไม่เป็นภาระงบประมาณ ‘มติชน’ ลุยสัมมนาทางออกพลังงาน ออมสินยันพร้อมปล่อยกู้ รอกองทุนฯติดต่อ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณี ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า หลังจากนี้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องจัดทำแผนการกู้และบริหารสถานะการเงินให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ การออก พ.ร.ก.ค้ำประกันไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้เงินทั้ง 1.5 แสนล้านบาทในครั้งเดียว เพราะว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันบางส่วนลดลงแล้ว

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า กรณี พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น เบื้องต้นกำหนดวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทแรกตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ โดย สบน.ได้บรรจุในแผนบริหารหนี้แล้ว แต่ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงิน

ADVERTISMENT

นางแพตริเซียกล่าวว่า ขณะที่อีก 1.2 แสนล้านบาทนั้น สบน.จะดำเนินการบรรจุวงเงินเข้าสู่แผนบริหารหนี้อีกครั้ง หากกองทุนดำเนินการกู้เงินเต็มเพดานจะส่งผลให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 61.2% แต่หากกู้ไม่เต็มกรอบวงเงิน หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60.43% โดยการคำนวณดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมุติฐานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพีในปี 2566 ขยายตัวที่ 18.5 ล้านล้านบาท

นางแพตริเซียกล่าวว่า อย่างไรก็ดี การเข้าไปค้ำประกันให้กับกองทุนน้ำมันฯนั้น นับเป็นตัวเลขหนี้สาธารณะแต่รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้รับภาระในการชำระหนี้ เพราะกองทุนน้ำมันฯจะเป็นผู้ชำระหนี้เอง โดยสาเหตุที่มี พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ออกมา เพราะกองทุนน้ำมันฯกู้ไม่ได้ ทางกระทรวงพลังงานมองว่าเป็นวิกฤตพลังงานหากกู้เงินไม่ได้ มิฉะนั้นสภาพคล่องจะไปต่อไม่ได้ เพราะกองทุนน้ำมันฯพลังงานต้องดูแลประชาชนด้วยการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงจนเกินไป และเพื่อไม่ให้เป็นต้นทุนในประเทศ

ADVERTISMENT

“ตอนนี้กองทุนน้ำมันฯยังไม่กู้เงิน จึงยังไม่มีหนี้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา แต่หาก สบน.ค้ำประกัน กองทุนน้ำมันฯเป็นผู้รับชำระหนี้ ไม่ใช่รัฐ แต่รัฐจะเข้าไปช่วยเมื่อกองทุนน้ำมันฯไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น เพราะวงเงินจะกระโดดไปเป็นหนี้รัฐทันที และรัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ขอเรียนว่าใน พ.ร.ก.เขียนไว้ชัดว่า มีระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเป็นวิกฤตพลังงาน และหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น กองทุนน้ำมันฯต้องชดใช้กระทรวงการคลัง ด้วยการทยอยชำระหนี้ เช่นเดียวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือเอฟไอดีเอฟ” นางแพตริเซียกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า หลังจากที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้กระทรวงการคลังเข้าค้ำประกันเงินกู้ให้แก่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้แล้ว สบน.พร้อมดำเนินการค้ำประกันเงินกู้ให้ เข้าใจว่า ทางกระทรวงพลังงาน โดยกองทุนน้ำมันฯอยู่ระหว่างการหารือกับสถาบันการเงินเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ในราชกิจจาฯกำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้แก่สำนักงานกองทุนน้ำมันฯในวงเงินไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาทในระยะเวลา 1 ปีหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หรือนับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงการคลังสามารถค้ำประกันได้ตามวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ คือ จำนวนไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท หากจะค้ำในวงเงินที่มากกว่านี้ ทางกระทรวงพลังงานจะต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม.อีกครั้ง

ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันวงเงินกู้ดังกล่าวแล้ว แนวทางการกู้เงินของหน่วยงานรัฐ จะเป็นไปในลักษณะการเปิดประมูล ซึ่งธนาคารออมสินในฐานะแบงก์ของรัฐก็พร้อมที่จะเข้าไปร่วมประมูลสินเชื่อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางกองทุนน้ำมันฯยังไม่ได้ส่งสัญญาณหรือติดต่อเกี่ยวกับการกู้เงินดังกล่าว

“เราจะเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีใครมาประมูลเลย ทางกองทุนก็จะลำบาก อย่างไรก็ตาม เราในฐานะแบงก์รัฐก็จะเป็นแบ็คอัพหรือผู้ประมูลให้”นายวิทัย กว่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์พลังงานที่มีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม ส่งให้คนไทยต้องบริโภคราคาพลังงานราคาแพงทั้งน้ำมัน ก๊าซ จนถึงราคาค่าไฟที่แพงเป็นประวัติการณ์ “มติชน” ซึ่งกำลังก้าวเข้าปีที่ 46 เล็งเห็น กองบรรณาธิการมติชนจึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเตรียมเปิดเวทีสัมมนาให้ผู้บริหารของภาครัฐและภาคเอกชนในอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ได้ฉายภาพถึงสถานการณ์พลังงานในทุกแง่มุม ทั้งพลังงานแบบเดิม และนวัตกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้น แนวทางใหม่ๆ ในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ไม่ย้อนกลับมาทำร้ายสังคม เพื่อให้ภาคธุรกิจ และประชาชน ได้รับรู้และเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

โดยการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Energy For Tomorrow วาระโลก วาระประเทศไทย 2023” วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00-16.15 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 (ชั้น 5) ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ โดยรับเกียรติจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังงาน : วาระโลก วาระประเทศไทย 2023” พร้อมฟังการบรรยายพิเศษหัวข้อ “Road Map พลังงานไทย” จากนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน และบรรยายพิเศษหัวข้อ “ธุรกิจยั่งยืน ปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero” โดย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ส่งท้ายด้วยวงเสวนาหัวข้อ “มุมมองธุรกิจ ทิศทางพลังงานไทย 2023” จากภาคเอกชน ได้แก่ นายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ค่ายเอ็มจี (MG) และ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ประกาศข่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image