‘เอสเอ็มอี’ ถามรัฐ หาทางออก 7 ประเด็นหนักอก แก้ปัญหาศก. หวังพรรคการเมือง มีเอี่ยวช่วย

‘เอสเอ็มอี’ ถามรัฐ หาทางออก 7 ประเด็นหนักอก แก้ปัญหาเศรษฐกิจ หวังพรรคการเมือง มีเอี่ยวช่วย

สืบเนื่องนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ทุกกระทรวงจัดทำของขวัญปีใหม่เพื่อมอบให้กับประชาชนคนไทยในเทศกาลปีใหม่ 2566 นั้น

อ่านข่าว : ก.อุต เปิดของขวัญปีใหม่ชิ้นแรก ผุดงานจำหน่ายสินค้าทั่วกรุง

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มไทย เปิดเผยกับ “มติชน” ว่า เชื่อว่าประชาชนและเอสเอ็มอี ไม่อยากได้ของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล เท่ากับต้องการให้รัฐบาลปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ทำจริงจังต่อเนื่องและติดตามผลลัพธ์ว่าแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ “แก้หนี้เสีย ของแพง ต้นทุนพุ่ง แรงงานทักษะต่ำ ลดเหลื่อมล้ำกฎหมาย ให้แต้มต่อดอกเบี้ยรายย่อย ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากสร้างสรรค์ ผันรายได้สู่เศรษฐกิจท้องถิ่น”

Advertisement

สำหรับ 1. แก้หนี้เสีย รหัส 21 (อดีตเคยเป็นลูกหนี้ชั้นดี ปัจจุบันเป็นหนี้เสียช่วงโควิด) ให้ลด ปรับ กลับมาเป็นปกติภายใน 3-6 เดือน ซึ่งมีกว่า 2 ล้านราย โดยนำกองทุนที่มีอยู่มาปรับใช้ชั่วคราวเพื่อฟื้นฟู อาทิ กองทุน สสว. หรือ บสย. FA Center ให้บริหารแก้ไขหนี้อย่างเป็นระบบบูรณาการบ่มเพาะ ถอดบทเรียน สร้างผู้ประกอบการที่มีธรรมาภิบาลและความสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนธุรกิจกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเร่งพัฒนาอาสาแก้หนี้เอสเอ็มอีและภาคประชาชน มีระบบส่งต่อให้ความช่วยเหลือ รวมหนี้ เจรจาประนอมหนี้ ไกล่เกลี่ย และจัดสรรด้านงบประมาณฟื้นฟูให้เข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำอย่างแท้จริง เป็นการหยุดไม่ให้หนี้เสียไหลไปหนี้นอกระบบที่นับวันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั้งกลุ่มเกษตรกร ค้าขาย อาชีพอิสระ ร้อยละ 41.2 52.4 และ 49.8 ตามลำดับ และมีหนี้ระบบ 90,818.4 33,265.9 18,713.6 บาทตามลำดับ ส่วนกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่พบปัญหาหนี้เสียร้อยละ 29.4 และ 31.9 ตามลำดับ โดยค่าเฉลี่ยหนี้นอกระบบ 117,932 บาทและ 158,181.8 บาทตามลำดับ (ที่มา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์)

2 .ของแพง ค่าครองชีพและต้นทุนพุ่ง มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนและเอสเอ็มอีต้องการทราบว่าตั้งแต่แต่งตั้งมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 และประชุมครั้งที่ 1/2565 ไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 มีแผนโครงการจะแก้เฉพาะหน้าอะไรบ้าง และแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องใดบ้าง ? อย่างไร กำหนดบรรลุผลเมื่อไหร่ เพื่อประชาชนจะได้สร้างการรับรู้ และติดตามผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต้นทุนทางการเกษตร ต้นทุนเอสเอ็มอี ต้นทุนการครองชีพประชาชน อาทิ ปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ น้ำมัน ก๊าซ NGV LPG LNG และไฟฟ้า เป็นต้น

3. แผนพัฒนาแพลตฟอร์ม Up Skills สู่ Future Skills ผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชนและแรงงานไทย โดยประเทศไทยมีแรงงานไทย 37.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 56.65 ของประชากรไทย แต่พื้นฐานทางการศึกษาแรงงานไทยมีในระดับประถมศึกษา จำนวน 8.3 ล้านคน ร้อยละ 22 ของประชากรแรงงานไทย และแรงงานไม่มีการศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษาถึง 7.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของประชากรแรงงานไทย (ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ซึ่งการยกระดับขีดความสามารถ สมรรถนะ ทักษะของทั้งผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน และแรงงานไทยให้พัฒนาเป็นระบบนิเวศน์แรงงานคุณภาพสูงและรองรับการขยายตัว การแข่งขันด้านเศรษฐกิจในอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง

Advertisement

4. ลดเหลื่อมล้ำกฎหมาย ศึกษา วิจัย รายงานมากมาย แต่ไม่เกิดความคืบหน้า เจ้าภาพในการแก้ไขปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อวิสาหกิจชุมชน Start up เอสเอ็มอี อาทิ TDRI 175/2564 กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจที่จากการศึกษาพบว่าต้องปรับปรุงแก้ไขรวม 1,094 กระบวนงาน และสามารถประหยัดต้นทุนทุ้งภาครัฐและประชาชนได้กว่า 142,790 ล้านบาทต่อปี เหตุใดไม่เร่งแบ่งภารกิจทำ แก้ไข

5. แต้มต่อดอกเบี้ยรายย่อย “ใหญ่ดอกถูก ย่อยดอกแพง” ซึ่งต้องใช้กลไกกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกิดการขยายผล ทบทวนรูปแบบทั้งวัตถุประสงค์ เกณฑ์ ขั้นตอน วงเงินงบประมาณ และกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอาจนำกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ สถาบันการเงินชุมชนมาร่วมช่วยขับเคลื่อนการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำให้กับเศรษฐกิจฐานรากอีกทางหนึ่งได้ด้วย

6. เศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียนสร้างสรรค์ พึ่งพาตน มุ่งเป้าให้วิสาหกิจชุมชน SME ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เน้นผลิตเอง ใช้เอง และหาตลาดนอกประเทศขยายต่อยอด ทั้งการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละภูมิภาคควบคู่กับการส่งเสริมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park) เป็น “เขตเศรษฐกิจนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ให้เป็น “ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก” ปรับเปลี่ยนช่วยเหลือเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน Start up และ SME ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และส่งเสริมการตลาด Supply chain จับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาคต่างๆ

7. ส่งเสริมการกระจายรายได้ท้องถิ่น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน Start up และ SME ด้วยนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ SME (SME-GP) โดยกำหนดให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของงบประมาณแต่ละหน่วยงาน อาทิ ส่งเสริมการจัดแสดงสินค้า ประชุม อบรม สัมมนา ที่พัก ท่องเที่ยวประจำปี กับผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต SME หรือท้องถิ่น การส่งเสริมเวทีการแสดงสินค้า จำหน่ายสินค้าผู้ประกอบการ SME ที่มีความพร้อมในตลาดต่างประเทศ และมีแพลตฟอร์มบ่มเพาะรายคลัสเตอร์เพื่อพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน นวัตกรรมยกระดับอย่างเป็นระบบเพื่อก้าวสู่ตลาดสากล เป็นต้น

“ภาคประชาชน และเอสเอ็มอีต้องการให้ประเทศมีรัฐบาลที่ขับเคลื่อนสร้างความปรองดอง รู้รักสามัคคีด้วยความจริงใจ ทุ่มเทเวลาไปพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ปากท้องพี่น้องประชาชน เศรษฐกิจฐานรากให้แข่งขันในเวทีการค้าโลกจะเกิดมูลค่าเพิ่มยั่งยืนต่อประเทศมากกว่า ทั้ง 7 เรื่องนี้ อยากรัฐเร่งรัด และส่งสัญญาณถึงพรรคการเมือง ที่จะนำไปประกอบนโยบายช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ ที่เข้าถึงปัญหาได้จริง” นายแสงชัย กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image