รฟม.ส่อปรับแผน สร้างรถไฟฟ้าเชียงใหม่ จาก ‘ราง’ เป็น ‘ล้อยาง’ วงเงิน 9.2 พันล้าน

รฟม. เปิดเวทีรับฟังความเห็นแทรมเชียงใหม่ วงเงิน 9.2 พันล้าน ชี้แทรมล้อยางคุ้มค่า-เหมาะสมสุด

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) โดยได้รับเกียรติจาก นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม โดยมีผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 230 คน ณ ห้องแกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯ ที่มีแนวเส้นทางรูปแบบผสมระหว่างใต้ดินและระดับดินนั้น มีมูลค่าการลงทุนสูง ส่งผลให้รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ รฟม.ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค รฟม.จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา CMTR ให้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมสำหรับโครงการ และนำมาสู่การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้

นายสาโรจน์กล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษารูปแบบการดำเนินงาน โครงการที่เหมาะสมจำนวน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) แนวเส้นทางผสมใต้ดินและระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย 2.รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง และ 3.รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทางโดยเปรียบเทียบทั้ง 3 รูปแบบอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านการลงทุนและผลตอบแทน และด้านสิ่งแวดล้อม

Advertisement

ด้าน นายวุฒิชัย พรรณเชษฐ์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับผลการศึกษาของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ในรูปแบบของรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง มีมูลค่าการลงทุนรวม 9,255 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,508 ล้านบาท ค่างานโยธาและระบบราง 2,724 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,223 ล้านบาท ค่าขบวนรถ 2,217 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง 227 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 356 ล้านบาท

นายวุฒิชัยกล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้ว เบื้องต้นทางบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อมูลและสรุปรายงานการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากการศึกษาความเหมาะสมออกแบบของโครงการ รวมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายในเดือนธันวาคม 2565 โดยจะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถภายในเดือนมกราคม 2566-มกราคม 2567 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ภายในเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) ในรูปแบบ Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ภายในเดือนสิงหาคม 2567-สิงหาคม 2568 รวมทั้งจะดำเนินการสำรวจและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568-มีนาคม 2571 และเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือนกันยายน 2568 ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี เปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2571

นายวุฒิชัยกล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่ารูปแบบในรูปแบบของรถไฟฟ้าล้อยาง ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง เป็นแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนค่างานก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาและค่าดำเนินการ รวมทั้งค่าเวนคืนที่ดินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการก่อสร้างในรูปแบบอื่นๆ

Advertisement

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก โครงการมีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ว่างใกล้สถานีแยกหนองฮ่อ

นายวุฒิชัยกล่าวอีกว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image