รมว.คลังรับภาษีที่ดินประกาศใช้ไม่ทัน 1 ม.ค. 60 เหตุต้องหารือกฤษฎีกาเพิ่ม แต่เนื้อหา พ.ร.บ.ไม่เปลี่ยน

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ….อาจคับใช้ไม่ทันในวันที่ 1 มกราคมปี 2560 ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่มั่นใจว่าจะต้องบังคับใช้ได้ภายในปี 2561 ทั้งนี้ สาเหตุที่อาจเลื่อนออกไปเนื่องจาก กฤษฎีกายังมีความเห็นเพิ่มเติมที่ต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งประเด็นที่กลับมาหารือนั้นไม่ได้ทำให้เนื้อหาของ พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงไป

“จริงๆ แล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้เราต้องการให้มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2560 แต่เรื่องในขณะนี้อยู่ที่กฤษฎีกาต้องคุยกับกระทรวงการคลังอีก เพราะดูแล้วมีบางข้อความหลักการที่ไม่ตรงกัน เรื่องนี้ส่งไปที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครม.ก็ส่งกลับมาอีกเพื่อขอให้คุยกันให้จบ พอเสร็จแล้วต้องเข้าสภา 3 วาระก็ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกแค่ไหน แต่ผมคิดว่าถ้าปี 2560 ไม่ทัน 2561 ก็ยังดี คือไม่เป็นไร กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มบังคับใช้เมื่อไรก็ได้ ขอให้ได้เริ่มใช้ เพราะจริงๆ แล้วกฎหมายนี้คิดกันมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ก็เป็นแบบนี้เข้า ครม.เข้าสภา แล้วก็ตกออกมา หรือยุบสภาบ้าง รู้สึกมีอาถรรพ์พอสมควร สิ่งที่เห็นไม่ตรงกันคือเป็นหลักการที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เช่น การแยกที่ดินไม่ใช้ประโยชน์ซึ่งกฤษฎีกามองว่าควรรวมในที่เชิงพาณิชย์ หรือที่อยู่อาศัยแล้วทำเซอร์ชาร์จ ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้นำที่ดินเปล่าหรืออสังหาริมทรัพย์มาใช้ประโยชน์กับประเทศมากกว่าการอยากเก็บภาษีที่เปล่า ซึ่งเรายังยืนตามวัตถุประสงค์เรา” นายอภิศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีอัตราเพดานภาษีสูงสุด คิดจากราคาประเมิน แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตร เพดาน 0.2% ของราคาประเมิน 2.บ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยรวมสิ่งปลูกสร้าง เพดาน 0.5% 3.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม เพดาน 2% 4.ที่ดินรกร้างว่างเพดาน 5% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามกฎหมาย

ซึ่งก่อนหน้านี้นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าอัตราที่ประกาศใช้จริงในช่วง 3-5 ปีแรก จะต่ำมากและจัดเก็บในลักษณะขั้นบันได ตามราคาที่ดิน หากที่ดินแพงจะเสียภาษีสูงกว่าที่ดินราคาต่ำกว่า ในส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเริ่มเก็บในอัตราต่ำก่อน หลังจากนั้นปรับเพิ่มตามปี อาทิ 1-3 ปี เก็บอัตราต่ำ หากปีที่ 4-6 ยังไม่นำที่ดินไปใช้ประโยชน์ จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ ในกฎหมายยกเว้นภาษีสำหรับบ้านหลังแรก ที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และที่ดินสำหรับเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนผู้ที่ถือครองที่เกินกว่า 50 ล้านบาท จะคิดภาษีในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท อาทิ มีบ้านราคา 60 ล้านบาท จะเสียภาษีในส่วนที่เกินคือ 10 ล้านบาท อัตราภาษีเบื้องต้นจะเก็บสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยคือ 0.1% หรือคิดเป็นภาษี 1 หมื่นบาทต่อปีสำหรับบ้านราคา 60 ล้านบาท ส่วนบ้านราคา 70 ล้านบาท จะเสียในอัตราลักษณะขั้นบันได โดยอัตราภาษีที่จัดเก็บจะออกเป็นกฎหมายลูกอีกครั้ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image