‘สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ’ มอเตอร์เวย์กรุงเทพ-โคราช จะเป็นบทเรียนแสนแพง (หลายแสนล้าน)

ปัญหารถติดดูจะเป็นเรื่องปกติอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน สะท้อนวิธีคิดและการแก้ปัญหาของไทย เกี่ยวกับการพัฒนาและขยายเมืองอย่างไม่เป็นระบบ เป็นปัญหาต่อเนื่องมาอย่างช้านาน จนเราเห็นตรงกันแล้วทั้งสังคมว่าเราต้องเร่งพัฒนาการขนส่งระบบรางโดยเร็วที่สุด

ปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องใหญ่ ล่าสุดภาครัฐกำลังเร่งผลักดันสร้างการขนส่งระบบรางอย่างรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมลงทุนกับจีน ทั้งยังมีรถไฟทางคู่ และถนนมอเตอร์เวย์ มุ่งสู่โคราช

ดูเหมือนทิศทางการพัฒนากำลังแจ่มใส “มติชนออนไลน์” เข้าไปพูดคุยกับ ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เพื่อให้ วิเคราะห์และประเมินทิศทางการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ว่ามีปัญหาตรงไหน จุดดี-จุดด้อย และข้อที่ควรปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้การใช้งบประมาณทุกบาท เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประชาชน

-การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำมอเตอร์เวย์เส้นกรุงเทพ-โคราชมีปัญหาตรงไหน

Advertisement

คือประเด็นนี้ผมมองว่าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเราอย่าไปมองแค่มอเตอร์เวย์อย่างเดียว เราต้องมองระบบถนนและระบบรางไปพร้อม ๆ กันให้มันเสริมกัน อย่าให้มันไปแข่งขันกัน ในส่วนของเส้นทางกรุงเทพ-โคราช มันมีปัญหาคือรัฐบาลจะทำทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตอบโจทย์เดียวกัน คือการขนคนหรือขนของระหว่างกรุงเทพ-โคราช ปัญหามันเลยอยู่ตรงนี้แหละ ว่า 3 อย่างนี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หากถามว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงกรุงเทพ-โคราช สำคัญมั้ย? ผมตอบเลยว่าสำคัญมาก แต่หากถามว่าเห็นด้วยกับโครงการที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่มั้ย? ผมตอบเลยว่าไม่ อะไรคือตรรกะว่าจะต้องทำทั้ง 3 อย่างพร้อม ๆ กัน ให้มันแข่งขันแย่งลูกค้ากันเอง หากประเทศไทยร่ำรวยขนาดนั้น แบ่งเงินไปทำเส้นทางอื่นหรืออย่างอื่นเลย จะดีกว่ามาก

ภาพใหญ่ของสภาพปัญหาด้านการคมนาคมของไทยซึ่งกำลังเป็นปัญหามากในขณะนี้ คือมีผู้ใช้รถบนถนนเป็นจำนวนมาก มากเกินไปมาก ๆ อย่างที่ทุกคนเห็นปัญหารถติดทำให้เราเสียต้นทุนทางโอกาสนั่นก็คือเวลาที่เราต้องตกอยู่ในสภาพการจราจรติดขัด อย่างเช่นคนกรุงเทพฯ มีค่าความสูญเสียอยู่ที่ประมาณ 120 บาทต่อคน ต่อชั่วโมง ผลประโชน์หลักของโครงการมอเตอร์เวย์คือการย่นระยะเวลาการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดโอกาสจากการสูญเสียในเรื่องอุบัติเหตุ เมื่อเทียบกับถนนธรรมดา แต่ระบบรางก็ทำในสิ่งเดียวกัน แถมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ามาก แต่ไม่ใช่ระบบรางอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้นะ ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ว่าทิศทางการพัฒนาของประเทศ จะมุ่งหน้าไปอย่างไร? อยากให้คนใช้ถนนหรือรางมากขึ้น? มีทั้งสองอย่างได้แต่ต้องเสริมกัน ไม่ใช่แข่งขันกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเดียวกัน

การที่รัฐบาลกำลังจะลงทุนโครงสร้างเพื่อเชื่อมต่อกรุงเทพ-โคราชแบบที่ทำกันอยู่นี้ คือมีทั้ง 3 โครงการเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ผมว่ามันกำลังจะกลายเป็นบทเรียนที่แสนแพง แพงเกินไปหลายแสนล้านบาท

-จากการศึกษาอะไรคุ้มค่าที่สุดที่ควรจะสร้างก่อน

Advertisement

แน่นอนครับว่าโครงการระดับนี้ต้องมีการศึกษามาก่อน แต่คำถามคือศึกษามาดีแล้วจริง ๆ เหรอ? หรือว่าต่างหน่วยงาน ต่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อผลักดันโครงการของตัวเอง สำหรับผม ผมคิดว่าเราควรพิจารณาระบบถนนและระบบรางไปพร้อม ๆ กันอย่างบูรณาการจริง ๆ ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ดูอย่างโครงการกรุงเทพ-โคราชเนี่ย มันแข่งขันกันเองชัด ๆ

กลับมาที่คำถามว่าอะไรควรจะสร้างก่อน? สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าทางคู่ครับ ไม่ใช่มอเตอร์เวย์ และยิ่งไม่ใช่หากจะทำทั้ง 3 อย่างพร้อม ๆ กัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเดียวกัน ประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพ-โคราชนะครับมันมีที่อื่นด้วยหรือหากจะมองนอกกรอบด้านการคมนาคมออกไป มันก็มีปัญหาสำคัญด้านอื่น ๆ อีกมากที่ต้องการงบประมาณ

68

หากถามว่า ทำไมผมมองว่าทางคู่ควรทำก่อน? ผมขอให้เราย้อนไปมองดูภาพใหญ่ของประเทศครับว่าประเทศเราจะมุ่งเน้นไปทางไหน? ประเทศเราใช้ถนนมากเกินไปหรือไม่? ไหนเราบอกว่าเราจะส่งเสริมระบบราง? คำตอบนี้ผมไม่ได้คิดของผมคนเดียวนะครับไปเปิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดู อันที่จริงแล้วผมก็เห็นว่าทุกรัฐบาลหรือนักวิชาการส่วนมากก็เห็นด้วยกับโครงการรถไฟทางคู่ แต่สิ่งที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงก็คือ มันแข่งขันกันเองกับมอเตอร์เวย์ครับ ตอบโจทย์เดียวกันเลยคือการขนคนหรือขนของระหว่างกรุงเทพ-โคราช แต่นี่ยังไม่พอ ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง รัฐบาลดันจะเติมรถไฟความเร็วสูงเข้าไปอีก

ประเด็นกรุงเทพ-โคราชนี้ จริง ๆ แล้วมีหลาย options มาก ๆ ทั้งสามโครงการใหญ่ที่เรากำลังพูดถึงมันสร้างทางเลือกให้เรา 8 ทางเลือกครับ คือ (1) ไม่ทำอะไรเลย (2) ทำมอเตอร์เวย์อย่างเดียว (3) ทำทางคู่อย่างเดียว (4) ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงอย่างเดียว หรือจะเลือกทำสองในสาม ได้แก่ (5) ทำมอเตอร์เวย์ + ทางคู่ (6) ทำทางคู่ + รถไฟความเร็วสูง (7) ทำมอเตอร์เวย์ + รถไฟความเร็วสูง หรือจะ (8) ทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน เรากำลังพูดถึงแปดทางเลือกนะครับ แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลังฟันธงมาแล้วว่าจะทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน มอเตอร์เวย์เดินหน้าไปแล้ว รถไฟความเร็วสูงและทางคู่ก็กำลังจะเริ่ม

คำถามที่ผมขอถามคือ อะไรคือตรรกะที่รัฐจะต้องทำทั้งสามอย่างพร้อม ๆ กัน? หากเป็นไปตามแผนงานปัจจุบัน ผมขออนุญาตฟันธงอนาคตไว้เลยว่า รถไฟความเร็วสูงจะไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะคนที่จะไปใช้รถไฟความเร็วสูงมีไม่มาก ไม่มากพอแม้แต่ต้นทุนค่าดำเนินการวิ่งรถ จะเกิดกรณีการขาดทุนหนักเป็นภาระกับลูกหลาน ถามว่าเพราะอะไร? เรื่องนี้ตอบได้ยาว แต่หากจะให้สรุปความก็คือ ถ้าเราทำมอเตอร์เวย์ไปแข่ง คนก็จะใช้มอเตอร์เวย์ ไม่ได้บอกว่ามอเตอร์เวย์มันดีกว่านะ แต่มันเป็นเพราะการอุดหนุนที่ไม่ถูกทางจากภาครัฐ หากจะสร้างมอเตอร์เวย์ ก็ไม่ควรใช้เงินภาษีไปสนับสนุนค่าก่อสร้างอย่างที่จะทำกันอยู่นี้ ควรเก็บค่าผ่านทางให้สูงพอ พอที่จะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนทางด้านการเงินคุ้มค่าเพราะคนที่ไม่อยากจ่ายค่าผ่านทางก็มีถนนมิตรภาพอยู่แล้ว หากรัฐจะสนับสนุนการเดินทางก็ควรทำให้สอดคล้องกับนโยบายในภาพใหญ่ คือทำให้คนบางส่วนหันไปใช้ระบบรางแทน พูดง่าย ๆ คือ เงินภาษีควรจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการเดินทางของคนจน คนจนไม่ได้มีรถส่วนตัวนะครับและรัฐก็ไม่ควรทำให้เค้าต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อซื้อรถด้วย แต่ควรจะลงเงินไปกับระบบรางหรือระบบขนส่งสาธารณะเพื่อให้คนจนเดินทางได้และคนชั้นกลางที่มีรถบางส่วนหันไปใช้ทางเลือกที่รัฐสนับสนุนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในภาพรวม

เอาเป็นว่าด้วยสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ หากเปิดใช้มอเตอร์เวย์เมื่อไหร่ โคราชก็จะรถติดมากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ก็ติดจะแย่ละ เราอยากให้โคราชใช้รถส่วนตัวเป็นหลักแบบในกรุงเทพหรือ? มันจะนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ อีกมากนะ

-ตอนนี้เริ่มไปเริ่มแล้ว?

ใช่ครับ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชเริ่มไปแล้ว นั่นก็คือการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพ-โคราชด้วยมอเตอร์เวย์ โดยจะเก็บค่าผ่านทางต่ำ ไม่คุ้มค่าทางการเงิน เป็นการสนันสนุนจากภาครัฐในส่วนของค่าก่อสร้างและนั่นก็จะทำให้คนใช้ถนนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตอนนี้ ในขณะที่หลาย ๆ คนกำลังดีใจว่าจะได้มอเตอร์เวย์ใหม่ เพราะเพิ่งเซ็นต์สัญญากันไปหลายตอน (โครงการมอเตอร์เวย์แบ่งออกเป็นหลายโครงการย่อย เซ็นต์สัญญาแยก) ผมกำลังมองว่าเรากำลังจะได้บทเรียนที่แสนแพง เพราะรัฐบาลก็กำลังเร่งผลักดันโครงการทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนอยู่ การวางแผนอย่างบูรณาการมันไม่มี ไม่เคยมี เรากำลังจะเจอเผชิญปัญหาการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผล และเรากำลังพูดถึงเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทที่จะละลายไปกับโครงการทั้งสาม อย่างที่กล่าวมา

-หากจะคิดกันตอนนี้ยังทันไหม

ยังพอทันอยู่นะครับ แต่คงไม่ได้ดำตอบที่ดีที่สุดเพราะรัฐบาลนี้ได้เซ็นต์สัญญาสร้างมอเตอร์เวย์ไปแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ ผมก็คงไม่สนับสนุนรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางนี้ เพราะ “มอเตอร์เวย์ + ทางคู่” ดีกว่า “มอเตอร์เวย์ + รถไฟความเร็วสูง” และดีกว่า ทำทั้ง 3 อย่างพร้อม ๆ กันแน่นอน

หากรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะทำทั้ง 3 โครงการไปพร้อม ๆ กัน ผมก็คงได้แต่ทำใจเพราะผมไม่ได้มีอำนาจอะไรที่จะไปขวางเค้าได้ แต่ผมจะชี้ให้เห็นว่ามันกำลังจะกลายเป็นบทเรียนที่แสนแพง
ประเด็นสำคัญที่อยากให้คิดกันตอนนี้คือ อย่าไปทำแบบนี้อีกในเส้นทางอื่น ๆ

-มอเตอร์เวย์ที่อาจารย์กำลังพูดเดินหน้าไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว

เห็นข่าวว่าเพิ่งเซ็นต์สัญญาเริ่มก่อสร้าง ผมเป็นแค่นักวิชาการไม่ได้มีอำนาจไปสั่งเบรกหรืออนุมัติโครงการ ทำได้ดีที่สุดก็คือออกมาให้สัมภาษณ์แบบนี้นี่แหละ และสอนนักเรียนในห้องว่า โตขึ้นอย่าทำแบบนี้นะ ผมหวังว่าการอนุมัติโครงการในลักษณะซ้ำซ้อนกันแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก หากยังมีออกมาอีก ก็มาช่วยกันเบรกหน่อยนะครับ

ผมขอให้บทเรียนง่าย ๆ ว่า: หากมีถนนและรางเชื่อมต่อจุดต้นทางปลางทางเดียวกัน มันคือการแข่งขัน ไม่ใช่เสริมกัน แบ่งไปทำที่อื่นหรือเรื่องอื่นบ้างจะดีกว่ามาก
บทเรียนสั้น ๆ แต่แพงมากนะ หลายแสนล้านบาทเชียว คือหากมีแค่ถนนมิตรภาพกับรถไฟทางคู่ ผมว่ามันก็เป็นการแข่งขันแบบสมเหตุสมผลนะ แต่ในกรณีกรุงเทพ-โคราชมันไม่ใช่ มันเป็นการแข่งขันแบบไม่สมเหตุสมผลเลย ผมขออนุญาตขยายความบทเรียนสำคัญตรงนี้นะ

เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-โคราชมีถนนสายหลักอยู่แล้วคือถนนมิตรภาพ ซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่ ประมาณ 6-10 เลน นับเป็นถนนที่มีความจุมากที่สุดสายหนึ่งของประเทศก็ว่าได้ ฟรีอีกต่างหากไม่ต้องเสียค่าผ่านทาง นอกจากเส้นทางการคมนาคมทางถนนแล้ว เส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-โคราชยังมีเส้นทางการคมนาคมทางราง แต่ในบางช่วงยังเป็น “ทางเดี่ยว” (ขนาด 1 เมตร) อยู่ ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าจากการรอสับหลีกรถไฟ ซึ่งในประเด็นของทางเดี่ยวนั้น ถือได้ว่าเป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่งของระบบการคมนาคมทางรางของไทย ทำให้จำนวนผู้ใช้ระบบรางมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ระบบถนน แต่ในประเด็นนี้ ก็เป็นที่น่าดีใจว่า ทุกขั้วอำนาจที่ถือหรือเคยถืออำนาจรัฐอยู่ในมือ (ทั้งรัฐบาลประชาธิปัตย์ รัฐบาลเพื่อไทย และรัฐบาลปัจจุบัน) ต่างเห็นตรงกันว่า ควรสนับสนุนให้ทำ “ทางคู่” ทั่วประเทศและส่งเสริมให้เกิดการคมนาคมขนส่งทางรางมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ด้วยสิ่งที่เป็นอยู่ ผลการแข่งขันระหว่างระบบถนนที่มีขนาดใหญ่แถมเปิดให้ใช้ฟรีกับระบบรางที่เป็นเพียงทางเดี่ยว ก็เห็น ๆ สิ คนส่วนใหญ่ก็เลือกใช้ระบบถนน ปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวและรถบรรทุกมาก ทำให้มีปัญหาการจราจรติดขัดเกิดขึ้นในบางวันหรือในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดที่สำคัญ

69

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ก็อยากแก้ไข คิดอย่างนี้ไม่ผิด แต่สิ่งที่ผิดคือแนวทางที่ใช้ในการแก้ไข รัฐบาลนี้เล่นจะผลักดัน 3 โครงการยักษ์ที่ซ้ำซ้อนกันให้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน คือ: (ก) ขยายความจุของระบบถนน โดยทำการก่อสร้างมอเตอร์เวย์คู่ขนานกันไปกับถนนมิตรภาพ แถมยังเก็บค่าผ่านทางต่ำ ๆ ไม่คุ้มค่าทางการเงิน ในขณะเดียวกัน ก็ประกาศว่าจะสนับสนุนระบบราง (ข) ทำทางเดี่ยว (ขนาด 1 เมตร) ให้เป็นทางคู่ และ (ค) ทำทางรถไฟเพิ่มอีกหนึ่งคู่สำหรับรถไฟความเร็วสูง (ขนาด 1.435 เมตร) พูดง่าย ๆ ก็คือถนนก็จะขยาย (สร้างมอเตอร์เวย์คู่ขนานกันไปกับถนนเดิม) รางก็จะทำเพิ่ม (แถมทำทีเดียวจาก 1 เป็น 4 ไม่ใช่แค่จาก 1 เป็น 2) แต่ผลของการทำแบบนี้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะไม่พูดถึงก็คือ การทำแบบนี้ถนนและรางจะ “แข่งขัน” แย่งลูกค้ากันเอง เพราะให้บริการในเส้นทางเดียวกัน (เพื่อตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของการขนคนและขนของระหว่างจุดต้นทาง-ปลายทางเดียวกัน นั่นก็คือระหว่างกรุงเทพฯ-โคราช) ผมขอเน้นนะครับว่าการเดินทางระหว่างจุดต้นทาง-ปลายทางเดียวกัน แต่ผู้เดินทางหรือผู้ส่งสินค้ามีสิทธิเลือกรูปแบบการเดินทางมันคือการแข่งขัน ตามทฤษฎี “Mode Choices” แน่นอนว่า การเพิ่มทางเลือกเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้ใช้ทางระหว่าง กรุงเทพฯ-โคราช แต่หากจะเพิ่มทางเลือกให้มากมายขนาดนั้นในครั้งเดียว (ทำทั้งมอเตอร์เวย์ ทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงพร้อม ๆ กัน) ผมว่าแบ่งบางสิ่งไปเพิ่มให้เส้นทางอื่นบ้างจะดีกว่ามากครับ

จับตาดูกรุงเทพ-ระยองและกรุงเทพ-หัวหินไว้นะครับ อย่าให้เกิดแบบนี้ขึ้นอีกเลย

กลับมามองที่ภาพใหญ่ของประเทศ ทุกคนรู้ว่าปัญหาของประเทศไทยคือต้นทุนการเดินทางที่สูงมาก เพราะคนใช้รถส่วนตัวกันมาก พูดง่าย ๆ คือ ทำไมต้องเคลื่อนย้ายก้อนเหล็ก 1.5 ตันไปกับเรา แทนที่เราจะย้ายแค่ตัวเรา ต้นทุนมันเลยสูงมาก จริง ๆ แล้วคนจำนวนมากก็เห็นด้วยกับระบบรางนะครับ มันสมเหตุสมผลอยู่แล้ว แต่ก็ยังจะสร้างถนนเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่ระบบรางโตช้ากว่ามาก

เอางี้ ช่วงนี้คุณเห็นข่าวเรื่องปัญหารถติดอยู่บ่อย ๆ ใช่มั้ย? สังคมกำลังเข้าใจว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นจะต้องแก้ไข คุณคิดว่าทางแก้คืออะไร? และหากทำมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-โคราช จะช่วยบรรเทาปัญหามั้ย? หรือจะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น? แล้วเมื่อรถจำนวนมากจากมอเตอร์เวย์ไปลงที่เมืองโคราช เมืองโคราชจะรถติดเพิ่มขึ้นมั้ย?

-ก็ต้องไปขยายทางย่อย ไม่ขยายทางย่อยก็ติดอีกหรือเปล่าครับ?

ถึงมีเงินมากพอและสามารถเวนคืนที่มาสร้างถนนเพิ่มได้ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาในภาพรวมนะครับ อาจบรรเทาปัญหาในจุดนี้ แต่ก็ทำให้จุดอื่นแย่ลงไปอีก ลองนึกภาพของการขยายตัวของกรุงเทพดู บ้านผมอยู่แจ้งวัฒนะ ผมอยู่มาตั้งแต่ปี 2522 เดิมมันถือว่าไกลเมืองมากเลยนะ ชนชั้นกลางที่พอจะซื้อรถได้ไปอยู่กันเยอะ ต่อมาเมืองก็ขยายเพิ่ม กว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยสูงนะแต่กว้าง เพราะเราเน้นขยายโครงข่ายถนน เดี๋ยวนี้นะหรือ ชนชั้นกลางที่อยากจะมีบ้านต้องไปอยู่แถวลำลูกกาโน่น กว่าจะฝ่าวงล้อมเข้าเมืองมาได้เป็นยังงัยบ้าง? คุณภาพชีวิตดีมั้ย? อย่าลืมนะครับ ค่าเฉลี่ยของมูลค่าเวลาของคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 120 บาทต่อคนต่อชั่วโมง หน่วยงานราชการเวลาเค้าประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของโครงการสร้างถนน ทางด่วน หรือมอเตอร์เวย์ ก็ใช้ตัวเลขประมาณนี้แหละ ในการหาเหตุผลมาสร้างถนนใหม่ ว่าถนนใหม่จะก่อให้เกิดการประหยัดเวลามากน้อยเพียงใด รวมถึงจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถและลดอุบัติเหตุได้มากน้อยเพียงใด แต่ผมขอถามหน่อยว่าสร้างถนนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มันดีแล้วจริงเหรอ? มันแก้ปัญหาได้เหรอ? เอาไปสร้างรางจะทำให้เกิดการประหยัดมากกว่ามั้ย? แน่นอน ผลมันก็เห็น ๆ กันอยู่แล้ว นอกจากการสร้างถนนเพิ่มจะไม่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรในภาพใหญ่ มันยังนำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล

เราควรคิดใหม่ อย่าคิดสั้น ๆ แค่ รถติดก็ไปเพิ่มถนน มันไม่ได้ช่วย ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง แก้ได้ในจุดหนึ่ง ก็ทำให้จุดอื่นแย่ลงไปอีก

-อาจารย์กำลังบอกว่าระบบรางดีกว่า

แน่นอนครับ แต่ต้องมีคนมาใช้มากพอนะ ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ที่ถนนแย่งลูกค้าไปหมด จะมีจะจนอย่างไรก็ต้องพยายามเป็นเจ้าของรถ ผมสงสารคนจนที่ต้องไปก่อหนี้ยืมสินเพราะรัฐทำให้รถเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตและเลือกสนับสนุนถนนมากกว่ารางมาก ๆ ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรจะทำก็คือ หากเป็นเส้นทางที่มีความต้องการในการเดินทางสูง ก็ควรทำระบบรางซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าและดีต่อสังคมโดยรวม จริง ๆ แล้วคนที่ใช้รถก็จะได้ประโยชน์ด้วยนะ เช่น ในกรณีของ กรุงเทพฯ-โคราช หากมีทางคู่เกิดขึ้น คนส่วนหนึ่งจะหันมาใช้ระบบราง ทำให้ผู้ที่ขับรถอยู่ก็ได้ประโยชน์ไปด้วย คราวนี้รัฐก็สามารถใช้กลไกทางราคาเพื่อเอื้อให้คนหันมาใช้ระบบรางหรือระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น รถก็จะติดน้อยลง ได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายและดีต่อสังคมโดยรวม
ตอนนี้ระบบรางส่วนมากทั่วประเทศยังเป็นทางเดี่ยวอยู่ รัฐควรจะเร่งพัฒนาระบบทางคู่ให้เป็นแกนหลักของประเทศ โดยไม่สร้างมอเตอร์เวย์ไปแย่งลูกค้ากัน แน่นอนจะต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อการเดินทางและการปฏิรูปองค์กรเพื่อให้การบริการกับประชาชนและการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

-ควรจะรีบทำไหม?

แน่นอนที่สุดครับ ควรจะรีบพัฒนาระบบราง ตอนนี้ นอกจากจะช้าแล้วยังจะทำมอเตอร์เวย์มาแย่งลูกค้ากันเองอีก แล้วเราก็มานั่งบ่นกันว่ารถติด ต้นทุนการเดินทางสูง นำเข้าน้ำมันมาก โลกร้อน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมาก และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่เป็นผลมาจากการที่รัฐสนับสนุนระบบถนนมากเกินไปเมื่อเทียบกับระบบราง
ก็อยากฝากถึงผู้มีอำนาจนะครับ ฝากให้เร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ มากกว่ามอเตอร์เวย์และรถไฟความเร็วสูง

-แล้วรถไฟความเร็วสูงไม่สำคัญหรอ

ถามว่าสำคัญไหม มันก็สำคัญนะ แต่ต้องถามว่าอันไหนสำคัญกว่า คำตอบคือทางคู่ ต้องทำทางคู่ให้ใช้งานได้ดีก่อน เมื่อมีคนมาใช้ระบบรางมากขึ้น ค่อยคิดจะทำรถไฟความเร็วสูง หากกระโดดข้ามขั้นไปทำรถไฟความเร็วสูงเลย มันมีความเสี่ยงสูงมากที่คนจะมาใช้น้อย โดยเฉพาะในเส้นทางที่ไม่ไกลมากอย่างกรณีกรุงเทพฯ-โคราช แถมยังมีมอเตอร์เวย์มาแข่งอีกด้วย ผมบอกได้เลยว่าคนจะมาใช้รถไฟความเร็วสูงน้อยมากหากทำแบบนี้ ไม่คุ้มค่าแน่นอน ไม่ใช่แค่ทางการเงินนะ ทางเศรษฐกิจก็ด้วย หากมีคนมาใช้ต่ำกว่าที่คาดการณ์มาก ๆ

-แต่รถไฟความเร็วสูงจะเริ่มสร้างเต็มที่เร็วๆนี้แล้ว

น่าเศร้ามั้ยหล่ะ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร!

จริง ๆ แล้วผมก็อยากเห็นรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยนะ แต่ผมขวางหากจะทำมอเตอร์เวย์มาแข่งอย่างในกรณีกรุงเทพฯ-โคราชเนี่ย หากเราไม่สร้างมอเตอร์เวย์ แล้ววางภาพโครงการและการเชื่อมต่อให้ชัดว่าเราจะทำทางคู่เพื่อขนของและทำรถไฟความเร็วสูงเพื่อขนคน อันนี้ก็จะเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่ยังมีตรรกะอยู่ (คุ้มไม่คุ้มหรือเร็วไปมั้ยเป็นอีกเรื่องนะต้องว่ากันในรายละเอียด แต่อย่างน้อยมันมีตรรกะในการวางแผนอย่างบูรณาการอยู่) แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ มันไม่มีตรรกะเลย จะทำทั้งมอเตอร์เวย์ ทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไปพร้อม ๆ กัน ในเส้นทางเดียวกัน ผมก็สงสัยนะ ว่าอนุมัติกันมาได้อย่างไร? เรากำลังพูดถึงเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทที่จะต้องลงไปกับ 3 โครงการที่มันซ้ำซ้อนกันนี้นะ และหากคนใช้จริงน้อยกว่าที่ประมาณการเอาไว้มาก ๆ เหมือนอย่างในกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผมถามว่าใครจะรับผิดชอบ?

IMG_2358

-ข้ออ้างที่ว่าต้องรีบสร้างเพื่อให้มันเป็นฐาน แม้จะขาดทุนก็ตาม เพราะจะต้องมีการขยายไปทางพื้นที่อื่นๆเช่นขอนแก่น -หนองคาย จีน ลาว

ถูกครับ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้หวังกำไรทางการเงินไม่ได้แน่ ๆ แต่จะให้ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากกว่า แต่อย่างน้อยก็ควรเลือกทำในเส้นทางที่จะมีคนมาใช้มากพอ
สมมติว่าเส้นทางที่คุณบอกนั้นเหมาะสมแล้ว อะไรคือเหตุผลที่จะไม่เลือกระบบ? ทำไมจะต้องทำทั้งระบบรางและมอเตอร์เวย์ไปพร้อม ๆ กัน ให้มันแย่งลูกค้ากันเอง? ทำอย่างนี้ จะทำให้คนหันมาใช้ระบบรางน้อยมาก อาจไม่พอกับค่าดำเนินการรายปีด้วยซ้ำไป ไม่ต้องพูดถึงค่าก่อสร้างเลย

ขอย้ำนะครับ มันคือการแข่งขันกันเอง เราต้องเลือกว่าเราจะทำให้ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงมันไปทางไหน ทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่มีถนนไปที่เหล่านั้นนะครับ เรามีแล้ว มีเยอะกว่ารางมากด้วย แต่ก็มีคนบางกลุ่มอยากได้มอเตอร์เวย์เพิ่ม ส่วนคนอีกกลุ่มก็อยากได้รางเพิ่ม สำคัญคือผู้มีอำนาจต้องเลือก เราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางมั้ย? หรืออยากให้ใช้ถนนกันเยอะ ๆ แบบนี้ต่อไป? ผู้มีอำนาจต้องตัดสินใจ ไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ด้านดีมาพูด ทุกอย่างมันมีต้นทุนของมัน

คนบางกลุ่มเชื่อว่ารถไฟความเร็วสูงจะนำมาซึ่งการพัฒนาเมืองอย่างยิ่งใหญ่ จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน สมมุติผมเชื่อในตรรกะที่ว่านี้ ผมก็คงอยากให้มีรถไฟความเร็วสูงเอาไว้ขนคนและทำทางคู่เอาไว้ขนของ คำถามคือผมจะทำมอเตอร์เวย์ไปแข่งกันเองทำไม?

74

-มอเตอร์เวย์ลงทุนถูกกว่าได้อรรถประโยชน์สูงกว่าหรือเปล่า รถไฟความเร็วสูงอีกหลายปีกว่าจะได้ใช้

ถ้าจะคิดอย่างนั้นมันก็เหตุผลเดิม ว่าทำไมต้องสร้างมาแข่งกันเอง? ก็ทำมอเตอร์เวย์เส้นนี้ไป พอใกล้เต็มความจุ ก็เลือกว่าจะขยายหรือเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง
แทนที่จะทำรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้เลย เอาไปทำเส้นอื่นก่อน ไม่ดีกว่าเหรอ? ประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพ-โคราชนะ อย่างที่ผมบอกมันไม่ใช่แค่ไม่ทำ กับทำสามอย่างพร้อมกัน มันมีทั้งทำหนึ่งกับสอง หรือว่าสองกับสาม ทำหนึ่งอย่างเดียว สองอย่างเดียว สามอย่างเดียว มันมีตั้งหลาย options แต่นี่รัฐบาลเลือกว่าจะทำทั้งสามอย่างพร้อม ๆ กัน ผมคิดว่ามันไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

-กังวลเรื่องงบประมาณขนาดไหนการที่ทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน

หลายแสนล้านบาทเลยนะครับ แต่พอมันเป็นการใช้เงินภาษีซึ่งเป็นกองกลาง คนก็ไม่ค่อยได้สนใจอะไร มองแต่ด้านประโยชน์ ไม่ได้คิดมากเรื่องต้นทุน
ที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือ ผมได้ยินว่าท่านผู้มีอำนาจจะนำโมเดลลักษณะนี้ไปทำกับเมืองอื่น ๆ ด้วย เช่น กรุงเทพ-ระยอง กรุงเทพ-หัวหิน ผมจึงอยากให้สังคมช่วยกันตั้งคำถามว่าทำแบบนี้มันจะคุ้มค่าได้อย่างไร มันมีวิธีการใช้เงินที่คุ้มค่าได้มากกว่านี้อีกมาก

หากรัฐบาลจะทำมอเตอร์เวย์เชื่อมจากจุด A ไปจุด B ก็ควรจะเก็บเงินให้คุ้มค่าก่อสร้างไม่ใช่แค่ค่าบำรุงรักษาเพราะถนนที่ฟรีก็มีให้อยู่แล้ว ที่สำคัญอย่าเอารางไปแข่ง ขอให้จับตาดูเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง กับกรุงเทพ-หัวหินซึ่งตอนนี้ยังเป็นแค่แผน ขออย่าให้เกิดขึ้นจริงเลย ช่วยกันเหยียบเบรกหน่อยนะครับ

-มองว่าปัญหาในระดับหน่วยงานที่ผลักดันโมเดลการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้เป็นอย่างไร

ประเทศไทยมีปัญหาคือ ต่างหน่วย ต่างคิด ต่างทำ การวางแผนที่ดีมันไม่ควรเป็นแบบนี้ ทุกวันนี้กรมทางหลวงจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและจัดทำแผนแม่บทมอเตอร์เวย์เพราะกรมทางหลวงมีหน้าที่ผลักดันถนน รางก็เช่นกันมันถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาก็มีนโยบายจะทำรถไฟไทยจีนเพิ่มเข้ามาอีก แต่ทั้งสามอย่างดันจะมาปักธงพร้อม ๆ กันในเส้นทางระหว่างกรุงเทพ-โคราช แล้วก็อนุมัติผ่านขั้นตอนต่าง ๆ กันมาด้วยนะ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ตรรกะมันอยู่ตรงไหน?

เรื่องความคุ้มค่ามันเถียงกันได้อีกเยอะนะ แต่ที่ผมบอกได้เลยคือถ้าคุณจะทำระบบราง คุณไม่ควรทำถนนไปแข่ง แบ่งไปทำที่อื่นบ้างหรือทำเรื่องอื่นไปเลย จะดีกว่ามาก

คุณลองเอาแผนแม่บทมอเตอร์เวย์มากางเทียบกับแผนแม่บทระบบรางดูสิ แล้วคุณจะรู้ว่าการบูรณาการมันไม่มีอยู่จริง หากคิดใหม่ ทำแกนหลักเป็นระบบราง แล้วนำมอเตอร์เวย์ไปเสริมในเส้นทางอื่นเพื่อป้อนเข้ามาที่แกนหลักจะดีกว่านะ ดีกว่าทำมาแข่งกันเองแบบนี้

75

-เราควรหันหัวไประบบรางอย่างเต็มสูบตั้งแต่ตอนนี้เลยไหม

ควรสิ แต่หากคนส่วนมากอยากใช้ถนน อยากจ่ายแพง อยากทำลายสิ่งแวดล้อม อยากพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืน หรืออยากให้รถติดอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็ควรหยุดระบบราง อย่าไปลงทุนทำอะไรที่มันซ้ำซ้อนหรือแข่งขันกันเองเลย มันแย่ยิ่งกว่า

จริง ๆ เรื่องการพัฒนาระบบรางนี้มันอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลยนะ ผมไม่ได้คิดเองคนเดียวหรอก แต่ปัญหามันอยู่ที่คน ในทางปฏิบัติมันเป็นอีกเรื่องจากแผน คนที่รับผิดชอบถนนมองแต่ถนน อยากได้งบมาสร้างถนนเพิ่ม มันขาดการบูรณาการ

ในความเห็นผม โจทย์ใหญ่เกี่ยวกับการคมนาคมในประเทศไทยคือ เราจะต้องมุ่งมั่นพัฒนาระบบราง ซึ่งรวมถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย ในส่วนของระบบถนนนั้น แทนที่จะตัดใหม่โดยเฉพาะในเส้นทางที่จะมาแข่งขันกับระบบราง ควรจะเน้นไปที่การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนที่มีอยู่เดิมและการซ่อมแซมบูรณะถนนที่ชำรุดเสียหาย แบบนี้จะมีประโยชน์กว่าแผนงานปัจจุบันมาก

-มอเตอร์เวย์เส้นทางกรุงเทพ-โคราชเริ่มดำเนินการแล้วในความเห็นของอาจารย์มีเส้นทางไหนสำคัญมากกว่าหรือเปล่า

ความเห็นของผมคือ ไม่ว่าเส้นทางไหนก็ไม่ควรหากเราจะปักธงการพัฒนาประเทศด้วยระบบราง ภาพใหญ่ต้องเอาให้ชัดก่อนว่าเราจะเน้นระบบรางกับระบบขนส่งสาธารณะหรือไม่? หากคำตอบคือใช่ อย่างที่เขียนไว้ในแผนหรือนโยบายต่าง ๆ อย่างที่เป็นอยู่นี้ ในทางปฏิบัติก็ควรจะสอดคล้องกับแผน เราก็ไม่ควรทำมอเตอร์เวย์ไปแข่ง หรือหากอยากจะทำนัก ก็ควรเก็บค่าผ่านทางให้คุ้มค่าทางการเงิน รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนค่าก่อสร้างแบบที่เป็นอยู่นี้

อยากเตือนนิดหนึ่งว่าตอนนี้ภาพใหญ่ในเมืองไทยคือคนใช้ถนนเยอะกว่าระบบรางมาก ๆ ปริมาณถนนถ้าเทียบความยาวกับระบบรางก็มากกว่ามาก ๆ ผมไม่ได้บอกว่าถนนไม่จำเป็นเสียทีเดียว แต่โดยเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่าประเทศไทยพึ่งพาถนนมากเกินไป มีคนใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมากเกิดปัญหารถติดและปัญหาสังคมตามมาอีกมาก เอาง่าย ๆ นะ ผมถามว่าคนจนมีรถเหรอ? แล้วการที่รัฐทุ่มงบประมาณไปสร้างถนนมาก ๆ มันดีแล้วเหรอ?

ผมอยากให้คิดใหม่ คนที่ขับรถ ควรมองว่าการเร่งพัฒนาระบบรางหรือระบบขนส่งสาธาณะนั้น คุณก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเพราะคนส่วนหนึ่งจะย้ายไปใช้ระบบราง รถก็จะติดน้อยลง คนที่ไม่ขับรถก็จะได้ประโยชน์โดยตรงอยู่แล้ว เห็นมั้ยหละว่ามันดีกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะรวยหรือจน

-การพัฒนาระบบรางบ้านเราขณะนี้ ทำไมมันช้าจัง

นั่นสิ ผมก็เห็นด้วยนะว่ามันช้า แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มันต้องผ่านหลายด่าน แต่ปัญหาคือช้าก็ควรไปเร่ง ไม่ใช่ไปทำถนนมาแข่ง หรือต่อให้วางแผนจะสร้างถนนไว้ก่อน ก็ควรจะปรับปรุงแผนหากเลือกที่จะทำราง นโยบายต้องชัดและนำไปสู่การปฏิบัติ

-ประเทศที่พัฒนาแล้วเขามีวิธีคิดเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร ยกตัวอย่างประเทศที่อาจารย์ชอบที่สุด

ถ้าเราไปดูประเทศอย่างในยุโรปก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี รวมถึงสิงคโปร์ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดระบบการจราจรและขนส่ง ผมว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราจะต้องตามประเทศไหน มันอยู่ที่ว่า ปัญหาของเราคืออะไร เราอยากจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ต้องกล้าตัดสินใจที่จะเลือก ไม่ใช่ว่าจะทำทุกอย่างตามที่หน่วยงานเสนอมา

รถติด จราจร

ผมขอย้ำว่าเป้าในภาพใหญ่ต้องชัดเจนและทุกหน่วยงานควรปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่ต่างหน่วยต่างคิด ต่างหน่วยต่างทำแบบที่เห็นกันอยู่ในกรณีของกรุงเทพ-โคราชที่ผมยกมาเป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้เป้าหมายเราบอกว่าจะพัฒนาระบบรางและระบบขนส่งสาธารณะ อันนี้ผมไม่ได้คิดเองนะ ผมเห็นด้วยในสิ่งที่ทุกคนคิดขึ้นมามันอยู่ในแผนของสภาพัฒน์ และสนข. ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ แต่เราก็ยังสร้างถนนไปแข่งกันเองแบบนี้อยู่ ในส่วนของถนนเราควรจะเน้นการบำรุงรักษาและจัดการจราจรบนถนนที่มีอยู่

-การทำงานโดยต่างคนต่างทำ ไม่เกิดบูรณาการอย่างที่ว่า มันเกิดจากอะไร

ประเด็นนี้คงต้องว่ากันยาว แต่ผมว่านี่เราก็สัมภาษณ์กันมายาวพอแล้วนะ เดี๋ยวคนอ่านจะเบื่อ

เอาเป็นว่า ผมคิดว่าปัจจัยหลักมันเกิดจาก ต่างหน่วยงาน ต่างอยากได้งบประมาณ สิ่งที่ผมอยากเห็นในภาพใหญ่คือ เราควรมี Think Tank ที่มีความรู้และสั่งการได้ ต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน มีตรรกะที่ดี และทุกองคาพยพเคลื่อนที่ไปสู่จุดนั้น การลงทุนมหาศาลแบบนี้ ควรศึกษามาเป็นอย่างดีและไม่ควรให้นักการเมืองมาเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนได้ง่าย ๆ

-การที่ภาวะโครงสร้างทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลหรือไม่

คิดว่าส่งผลนะ หากข้าราชการต้องคอยทำงานตามใจนักการเมือง ประเทศไม่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็น่าเป็นห่วง จริง ๆ รัฐบาลปัจจุบันนี้เป็นความหวังมากเลย หากจะสามารถกำหนดแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เน้นว่าต้องชัดเจนนะ ไม่ใช่แบบอ่านแล้วเพลินแต่จับต้องไม่ได้ รัฐบาลปัจจุบันควรใช้อำนาจในการปฏิรูป ไม่ใช่เร่งอนุมัติโครงการแล้วได้โครงการที่ซ้ำซ้อนแบบกรณีกรุงเทพ-โคราชมา ผมยืนยันว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน

-ถ้ามันไม่คุ้มชัดเจนขนาดนี้ ทำไมเสียงวิจารณ์ หรือเสียงเตือนถึงรัฐบาลทำไมมันแทบไม่มี

นั่นสิ ทำไมมันแทบไม่มี คุณคิดว่าเพราะอะไรหล่ะ? คุณจำบรรยากาศ ตอนโครงการ 2 ล้านล้าน ในรัฐบาลที่แล้วได้มั้ย? คนออกมาวิจารณ์กันเต็มเลย แต่ทุกวันนี้เงียบกริบ ทั้งที่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใช้เม็ดเงินมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เอาแค่แผนแม่บทมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ ก็เกินกว่า 2 ล้านล้าน ไปแล้ว
ผมว่าการที่มีคนกล้าออกมาวิจารณ์หรือเตือนรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขตของเหตุผล ไม่ใช่ด่าไปเรื่อย การได้ฟังมุมมองจากหลายด้าน การที่คนสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นได้อย่างบริสุทธิ์ใจเป็นสิ่งที่ดีงามมากเลยนะ ควรจะสนับสนุนด้วยซ้ำ ส่วนรัฐบาลหรือผู้ที่ถืออำนาจรัฐอยู่ ก็ควรรับฟังและกลั่นกรองว่าแบบไหนน่าเชื่อถือ

-อ.หมายความว่านโยบายสาธารณะ มันควรถูกถกเถียงมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แน่นอนที่สุดครับ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสาธารณะ ผมถามง่าย ๆ ว่าเส้นทางกรุงเทพ-โคราชมันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่จะทำทั้งสามโครงการยักษ์พร้อมกัน? ทำไมไม่แบ่งโครงการไปทำที่อื่นบ้างหรือเอาไปลงกับเรื่องอื่นบ้าง? ประเทศไทยมีปัญหาตั้งเยอะเช่นเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การวิจัย-พัฒนาเป็นต้น สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมฟันธงได้เลย หากทั้งสามโครงการยักษ์เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันแบบนี้ คนจะใช้ระบบรางน้อยมาก นี่คือความสูญเสีย ทั้งเรื่องโอกาสและตัวเงิน ทุกอย่างมันไม่ฟรี แต่คนอาจไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะมันเป็นเงินภาษี แต่เรากำลังพูดถึงเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทนะ ไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องเล็ก ๆ
ผมก็เป็นอาจารย์ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีอำนาจบารมีอะไร ทำได้ก็เพียงออกมาตอบคำถามคุณแบบนี้หรือสอนอนาคตของชาติที่มาศึกษากับผมที่ AIT
หากผมหรือเราช่วยกันเบรกเรื่องนี้ไม่ทัน ทั้ง 3 โครงการยักษ์จะเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ขอให้มันเป็นบทเรียนที่แสนแพง อย่าให้เกิดขึ้นอีกในที่อื่น ๆ เลย ช่วยกันจับตาดู กรุงเทพฯ-ระยอง กับกรุงเทพฯ-หัวหินไว้นะ

-ต้องรีบสร้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้ไหม

ผมเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การที่จะลงทุนแบบฟุ้งเฟ้อ ไม่คุ้มค่า มันมีแต่จะทำร้ายเศรษฐกิจหน่ะสิ เม็ดเงินควรถูกใช้ไปกับกลุ่มโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ถลุงไปกับกลุ่มโครงการที่มาแข่งขันกันเองแบบนี้ มันมีโครงการหลายโครงการที่มันสมเหตุสมผลกว่านี้มาก

-รัฐบาลยังอยู่อีกระยะหนึ่งตามเวลาของโรดแมป หากรัฐบาลใหม่เข้ามามีสิทธิ์เปลี่ยนไหม

ช่วงนี้ไม่อยากพูดเรื่องการเมืองเลย แต่หากจะให้ตอบคำถามแบบสั้น ๆ ก็คือ หากมันไม่สมเหตุสมผลก็ควรเปลี่ยน แต่ไม่ใช่ว่านึกอยากจะเปลี่ยนหรืออยากจะทำโครงการอะไรก็ทำ เพราะมีอำนาจอยู่

-อ.เสนอทางแก้ปัญหาได้ไหม ในระยะสั้น หรือระยะกลางก็ได้ พอจะมีทางออกให้เราใช้งบให้คุ้ม ใน 4 – 5 ปีข้างหน้าได้ไหม

ผมว่าเป้าหมายไม่ว่าระยะใด เรากลั่นกันมาเยอะแล้ว จนได้แนวคำตอบที่น่าจะชัดเจนสำหรับผม คือทำให้คนหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ส่วนการส่งของก็ควรสนับสนุนให้ใช้ระบบรางมากขึ้น ในส่วนของถนน ควรเน้นไปที่การซ่อมบำรุงและการแก้ไขปัญหาจราจร ถ้าเป้าเราชัดเจนและทุกหน่วยงานและองคาพยพต่าง ๆ เดินไปตามทิศทางนี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะดีขึ้นแน่นอน

เมื่อเป้าหมายเป็นอย่างนั้น เม็ดเงินก็ควรจะลงไปกับระบบรางและระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการจะมาสร้างถนนใหม่โดยเฉพาะในเส้นทางที่จะมาแข่งขันกับระบบราง แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่!

หากมอเตอร์เวย์จะเกิดตามแผนแม่บท 2 ล้านล้านที่กำลังศึกษากันอยู่นี้ ผมว่าเราเลิกลงทุนระบบรางเถอะ แต่หากจะบอกว่าไม่เกิดหรอก ผมก็จะถามว่า งั้นวางแผนกันไปทำไมหากรู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ แผนที่ดีต้องชัดเจนและเป็นไปได้ด้วย

เปิดรถไฟสุไหง-โกลก2

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่รักถนนนะ ผมอยากให้มองว่า การเอางบประมาณที่เท่ากันไปสร้างถนนเพิ่ม เมื่อเทียบกับเอาไปซ่อมบำรุงถนนที่มีอยู่แล้วให้ใช้การได้ดี หรือเอาไปใช้ในการปรับปรุงสัญญาณไฟจราจร หรือเอาไปพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจร แบบไหนจะดีกว่ากัน? สำหรับผมแล้ว มันชัดเจนมาก อย่าไปลงกับการสร้างมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศเลย เอาไปบำรุงรักษาถนนและแก้ไขปัญหาจราจรจะดีกว่ามาก

สุดท้ายนี้ ผมฝากข้อคิดไว้ว่า การพัฒนาประเทศอย่างพอเพียงและยั่งยืน ไม่ใช่การตัดถนนเพิ่มและไม่ใช่การทำให้คนจนซื้อรถได้ แต่เป็นการทำให้คนรวยหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

 

หมายเหตุ: ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้าน Transportation Systems Engineering จาก Utah State University มีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐและที่ปรึกษาเอกชน ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเฉพาะในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจราจรและขนส่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image