คิดเห็นแชร์ : สถานการณ์ตลาดการเงินโลก ดีกว่าคาด ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อ

คิดเห็นแชร์ : สถานการณ์ตลาดการเงินโลก ดีกว่าคาด ค่าเงินบาทแข็งค่า

คิดเห็นแชร์ : สถานการณ์ตลาดการเงินโลก ดีกว่าคาด ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อ

จากบทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับก่อนหน้าที่ผมประเมินไว้ว่า หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ 3Q65 พลิกเป็นบวก จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐพ้นภาวะที่เรียกว่า Technical Recession และหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐทยอยออกมาดีต่อเนื่องเรื่อยๆ อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งจะกระทบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดปริวรรตเงินตราได้ อย่างไรก็ดี ผลจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงและต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์กัน ส่งผลให้ตลาดเพิ่มน้ำหนักความเชื่อว่าเฟดจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่ลดลงในการประชุมวันที่ 14-15 ธ.ค.นี้ โดยคาดว่าเฟดจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง +0.5% เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากการประชุมครั้งที่ผ่านมาในเดือน พ.ย.ที่ระดับ +0.75%

ผลจากการเปลี่ยนมุมมองดังกล่าวต่อแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมครั้งถัดไปรวมทั้งนักลงทุนเริ่มประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเมื่อต้นเดือน พ.ย.อยู่ในระดับที่สูง น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว ทำให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง สำหรับตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยเองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีแรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวเข้ามาจากนักลงทุนสถาบันและรวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ระยะยาวจะมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2566

ผลกระทบของการคาดการณ์ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุมครั้งถัดๆ ไป นอกจากจะมีผลต่อตลาดพันธบัตรทั่วโลกแล้ว ยังมีผลต่อตลาดปริวรรตเงินตราอีกด้วย โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (Dollar index) อ่อนค่าลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. ทำให้ทิศทางของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ จากระดับ +/-38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักเศรษศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่ามีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จนลงไปถึงระดับที่ต่ำกว่า 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี 2566 เพราะตัวเลขเศรษฐสหรัฐจะมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงเรื่อยๆ สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้ จากการเปิดประเทศ และรวมไปถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.นี้

Advertisement

กลับมาที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ข้อมูลประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่อหุ้น (EPS) ในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะเติบโตจากปีนี้อีก +5.2% YoY เป็น 109.4 บาท/หุ้น (ข้อมูล Bloomberg consensus) อัตราส่วน Forward PE ของตลาดหุ้นไทยปัจจุบันจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก หากเทียบกับดัชนี SET index ระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทความฉบับนี้ ที่ราว 1,615 จุดForward PE ปี 2565-2566 จะคิดเป็นเพียง 15.5 เท่าและ 14.8 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ Bond yield เริ่มปรับลดลง และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2566 ทำให้อัตราส่วน Earnings yield gap ปัจจุบัน บนประมาณการทั้ง 2 ปี สูงราว 4.1% และ 4.4% ตามลำดับ (ผมเทียบกับ Bond yield อายุ 5 ปี ที่ 2.34%) ซึ่ง Earnings yield gap ที่ระดับสูงเกินกว่า 4% ถือเป็นระดับที่เริ่มน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว (ค่าเฉลี่ย Earnings yield gap ย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ราว 4.2%) และหาก Bond yield ปรับลดลงมากไปกว่านี้อีก ตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ จะทำให้ Earnings yield gap เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งสะท้อนความน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้น(สมมุติฐานว่าไม่มีการปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน)

ดังนั้น ผมยังคงแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นไทย และคงมุมมองบวกที่มีต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องจนถึงต้นปีหน้า ว่าจะ Outperform ตลาดหุ้นโลก หนุนโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดการณ์ว่า GDP ของประเทศไทยปี 2566 จะมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงกว่าปี 2565 เนื่องจากการที่เศรษฐกิจของไทยอิงกับภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งน่าจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่จะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องได้ในปี 2566

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image