เข้มผู้ทำและผู้นำเข้า ‘คาร์ซีท’ ต้องได้มอก. คุ้มครองเด็กเล็ก บังคับใช้ปี 66

Father fasten his little baby in the car seat

ก.อุต เข้มผู้ทำและผู้นำเข้า ‘คาร์ซีท’ ต้องได้มอก. คุ้มครองเด็กเล็ก เร่ง สมอ. ทำประชาพิจารณ์ทั้งผู้ทำและผู้นำเข้า บังคับใช้ปี 66

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) มีมติเห็นชอบให้คาร์ซีท หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมใช้สำหรับให้เด็กนั่งโดยสารบนรถยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เป็นสินค้าควบคุม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งสอดคล้องตามภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมด้านการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยเตรียมออกกฎหมายเพื่อควบคุมให้ผู้ทำและผู้นำเข้าคาร์ซีททุกราย ต้องทำและนำเข้าเฉพาะคาร์ซีทที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. เท่านั้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของประชาชนผู้บริโภค

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ประกาศใช้มาตรฐานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท มอก.3418-2565 เป็นมาตรฐานทั่วไปตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยอ้างอิงมาจากมาตรฐานสากล UN R 44 ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยบนท้องถนนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ผู้ประกอบการจะสมัครใจขอการรับรองหรือไม่ก็ได้ และเพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนทุกระดับ ในการประชุมบอร์ด กมอ. เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา จึงได้เห็นชอบให้ สมอ. กำหนดให้คาร์ซีทเป็นสินค้าควบคุม พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการบังคับใช้ให้ทันภายในปี 2566 เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กเล็ก ได้รับความปลอดภัยในการใช้งานคาร์ซีทที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการแจ้งให้ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวในการขออนุญาตทำหรือนำเข้า เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน คาร์ซีทดังกล่าว ครอบคลุมคาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX หรือ ระบบเข็ดขัดนิรภัยของรถยนต์ โดยแบ่งตามน้ำหนักของเด็กเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม 2) น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม 3) น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม 4) น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม และ 5) น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม ซึ่งต้องผ่านการทดสอบด้วยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ โดยการชนด้านหน้าด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. และด้านหลังด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. โดยติดเซ็นเซอร์ไว้ที่หุ่นเด็กจำลอง เพื่ออ่านค่าความรุนแรงจากการกระแทก โดยจะรายงานผลออกมาเป็นความเสียหายหรืออาการบาดเจ็บตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้

Advertisement

ซึ่งผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าคาร์ซีทที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน มอก. 3418-2565 จะช่วยคุ้มครองลูกหลานของท่านให้ได้รับความปลอดภัยในการเดินทางอย่างแน่นอน สำหรับการบังคับใช้มาตรฐาน สมอ. จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากนี้ จะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 2566

นอกจากนี้กมอ.ยังได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกจำนวน 125 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานหลอดยาฉีด ขวดยาฉีด เป็นต้น

Advertisement

อ่านข่าวอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image